‘โมโหหิว’ จนต้องซื้อของกินมาเป็นจำนวนมาก เพื่อดับความร้อนรุ่มในใจ หนึ่งตัวอย่างของการปล่อยให้ ‘อารมณ์’ ชักจูงให้เราใช้จ่าย ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งมีผลสำรวจจาก Lending Tree ออกมายืนยันว่า 70% ของชาวอเมริกันกล่าวว่าอารมณ์มีอิทธิพลต่อการใช้จ่ายเงิน ซึ่งกว่า 75% ของคนกลุ่มนี้ เป็นชาว Millenials และ Gen Z

ปกติแล้ว ‘ความเครียด’ นี่แหละ ที่เป็นตัวกระตุ้นให้เราใช้จ่ายอย่างสนุกสนานมากที่สุด แต่เชื่อไหมว่า ผลสำรวจกว่า 54% บอกว่าการใช้จ่ายเงินแบบ ‘มือเติบ’ เกิดขึ้นตอนที่ ‘อารมณ์ดี’ และตามมาด้วยตอนที่ตื่นเต้น (44%) กับตอนที่มีความสุข (38%) ซึ่งสะท้อนให้เราเห็นว่าไม่ว่าเราจะอยู่ในช่วงอารมณ์ไหน อาจทำให้เราใช้จ่ายแบบไม่รู้ตัวได้

“เมื่ออารมณ์มีผลต่อการใช้จ่าย เราจึงกำลังเผชิญหน้ากับกลยุทธ์การตลาด ที่ชักจูงให้เราใช้จ่ายอย่างไม่รู้จบ โดยใช้อารมณ์ของเราเป็นเครื่องมือ” Brad Klontz นักจิตวิทยา และนักวางแผนทางการเงิน กล่าวกับ CNBC Make it

โดย Brad Klontz มีเทคนิคการ ‘ควบคุมการใช้จ่ายทางอารมณ์’ ทั้ง 5 ข้อมาฝากกัน

💰 กฎ 24 ชั่วโมง

ง่ายๆ แค่จะซื้ออะไร ให้รอ ‘1 วัน’ (24 ชั่วโมง) วิธีนี้จะช่วยให้เรามีเวลาทบทวนดูว่าสิ่งที่เรากำลังจะซื้อนั้น เราต้องการมันจริงๆ หรือเป็นแค่ความอยากได้ชั่ววูบ เพราะหลายครั้งที่เราซื้อของมาเพราะคิดว่าจำเป็นโดยไม่ทันตัดสินใจให้ดี สุดท้ายก็ไม่ได้ใช้งานจริงๆ

💰 ใช้เงินสด

การใช้เงินสดจะทำให้เราเห็นถึงจำนวนเงินที่เราจ่ายไปอย่างชัดเจน เพราะเราสามารถเห็น และรู้สึกถึงเงินที่หายไปจากกระเป๋าของเราได้ทันที ทำให้เรามีสติในการตัดสินใจใช้เงินมากขึ้น

💰 ถามคำถามตัวเองให้เยอะเข้าไว้

ก่อนจะซื้ออะไร ให้ถามตัวเองด้วยคำถามเช่น "นี่เราต้องการสิ่งนี้จริงๆ ใช่ไหม?" หรือ "แล้วจะเก็บสิ่งนี้ไว้ที่ไหน?" ซึ่งจะช่วยให้เรามีสติในการตัดสินใจซื้อ และหลีกเลี่ยงการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น โดยมองไปที่ความหมาย และความคุ้มค่าของสินค้ามากขึ้น

💰 มีเพื่อนที่รับผิดชอบ

หากเรามั่นใจแล้วว่า มันห้ามไม่อยู่จริงๆ เครียด หรือดีใจทีไร ต้องใช้เงินแน่ๆ ให้ลองปรึกษาคนรอบข้าง อย่าง เพื่อนสนิท คนรัก หรือสมาชิกในครอบครัว ให้คอยเตือนสติเมื่อถึงช่วงที่อยากจะใช้เงินมือเติบขึ้นมา

💰 คิดถึงเป้าหมายระยะยาว

สุดท้ายนี้ ในทุกการใช้จ่ายเงินออกจากกระเป๋า aomMONEY อยากให้ทุกคนคิดถึงเป้าหมายการเงินของเรากัน ไม่ว่าจะเป็น อยากเก็บเงินไปท่องเที่ยว ไว้เรียนต่อ ไปจนถึงการสร้างอนาคตในชึวิตอย่าง การวางแผนยามเกษียณ จะช่วยให้เรามีแรงจูงใจในการประหยัด และใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง แทนที่จะใช้จ่ายอย่างไม่คิดหน้าคิดหลัง

แต่ต้องบอกว่าการใช้จ่ายตามอารมณ์นั้นไม่ใช่เรื่องผิดอะไรเลย เพียงแค่เราต้องมีสติอยู่เสมอ ในทุกการใช้จ่าย เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการเงินของเราในระยะยาว การยอมรับ และเข้าใจพฤติกรรมการใช้จ่ายของตนเองจึงเรียกได้ว่าเป็นขั้นตอนแรกที่สำคัญในการบริหารเงินอย่างมีประสิทธิภาพ