ถึงเทศกาลวาเลนไทน์ทุกปี ดอกกุหลาบจะมีราคาแพงทุกที เพราะดอกกุหลาบเป็นสัญลักษณ์แห่งความรัก จนทำให้ดอกกุหลาบเป็นคำตอบสำเร็จรูปของของขวัญวาเลนไทน์

มองไปก็คล้ายๆ กับกระเช้านมกระป๋องสำหรับของขวัญเยี่ยมไข้ สะดวกสำหรับคนให้ แต่อาจจะไม่สร้างความจดจำให้กับคนรับ เพราะทุกคนก็ให้เหมือนๆ กัน

แล้วอย่างนี้ เราจะให้อะไรคนรักในวาเลนไทน์ดีที่คนรักจะจดจำ เรามาดูจิตวิทยาการให้ของขวัญกันดีกว่า เพื่อเป็นแนวทางในการเลือกของขวัญให้คนที่เรารัก

🎁 ประเภทที่ 1 The Perfect Gift

👩‍❤️‍👨 ของขวัญที่คนรับ ‘อยากได้’ แต่ ‘ไม่กล้าซื้อ’

เป็นของขวัญที่เหมาะสมที่สุดที่จะซื้อให้ ของขวัญประเภทนี้จะเป็นของขวัญที่เจ้าตัวอยากได้มาก แต่ว่าอาจจะไม่กล้าซื้อ หรือ จะรู้สึกผิดหากซื้อ หรืออาจจะรอคนรักซื้อให้อยู่ เพราะคุณค่าทางจิตใจมีมากกว่าซื้อเอง

ของขวัญประเภทนี้จะเป็นของขวัญที่ดีที่สุดที่จะมอบให้ในวันวาเลนไทน์ เพราะแสดงถึงความใส่ใจของเราต่อคนรัก ของขวัญประเภทนี้ไม่จำเป็นต้องมีราคาแพง แต่ตอบโจทย์ความต้องการของคนรักได้มากที่สุด

อย่างเช่น เพื่อนผมคนหนึ่งรู้ว่าแฟนเป็นคนชอบวิ่งออกกำลังกาย แต่ไม่กล้าซื้อรองเท้าวิ่งดีๆ เพราะราคาแพงหลายพัน เราคงเดากันได้นะว่าวันวาเลนไทน์ที่ผ่านมา เพื่อนผมคนนี้ซื้อของขวัญวาเลนไทน์อะไรให้แฟน ถูกต้องครับ คือ รองเท้าวิ่งอย่างดี

🎁ประเภทที่ 2 The Gamble Gift

👩‍❤️‍👨 ของขวัญที่คนรับ ‘อยากได้’ และ ‘จะซื้อ’

ของขวัญประเภทนี้ต้องระมัดระวัง เพราะสิ่งของเหล่านี้เป็นสิ่งที่เจ้าตัวกำลังสนใจและอยากได้ เราจะมีความเสี่ยงในการให้ของขวัญประเภทนี้ ดังนี้

⏺(1) โอกาสสูงมากที่เขาซื้อสิ่งของชิ้นนี้แล้ว

เพราะเขาอยากได้และจะซื้อ เขาอาจไม่รอเราซื้อให้ ดังนั้น หากเขามีอยู่แล้ว การที่เราซื้อให้อีก กลายเป็นเขามีซ้ำ สิ้นเปลืองไปอีก

⏺(2) กรณีเขายังไม่ซื้อ เขาอาจจะมีตัวเลือกในใจอยู่หลายยี่ห้อ

ถ้าบังเอิญของขวัญที่เรามอบให้เป็นยี่ห้อ รุ่นที่เขาอยากได้ก็จะเป็นเรื่องดี แต่หากเป็นยี่ห้อที่ด้อยกว่าหรือเป็นยี่ห้อที่เขาไม่อยากจะเลือกก็จะกลายเป็นผิดหวัง

🎁 ประเภทที่ 3 The Recycling Gift

👩‍❤️‍👨 ของขวัญที่คนรับ ‘ไม่อยากได้’ และ ‘ไม่มีวันซื้อ’

ของขวัญประเภทนี้ จะเป็นของขวัญที่เมื่อได้รับมาแล้วเขาก็ไม่รู้จะเอาไปวางไว้ที่ไหน จะเอาไปใช้อย่างไร อย่างมากก็จะทิ้งไป หรือนำไปมอบให้คนอื่นต่อในอนาคต

ผมเคยเจอเหตุการณ์ทำนองนี้ทีนึง ในงานเลี้ยงวันเกิดของเพื่อนที่สนิทกัน ปรากฎว่ามีน้องคนนึงเอาถ้วยรางวัลที่เค้าได้จากการชนะการประกวดทำอาหารมีชื่อน้องสลักบนถ้วยมามอบให้เป็นของขวัญวันเกิดให้กับเจ้าของวันเกิดบอกว่า “เป็นของที่มีค่ามากสำหรับเขา ก็เลยอยากมอบให้คนที่เค้านับถือ”

เราอยู่ในเหตุการณ์เห็นพี่เจ้าของวันเกิดปฏิเสธ พูดแบบรักษาน้ำใจ “ของนี้มีค่าสำหรับน้อง น้องควรเก็บไว้นะ” ไอ้น้องคนนั้นก็ไม่รู้อะไรเลย พยายามยัดเยียดให้ได้ สุดท้ายพี่เจ้าของวันเกิดก็ตัดบท “ขอไม่รับนะ เพราะไม่ใช่ของที่มีค่าสำหรับพี่”

เข้าใจความรู้สึกพี่เจ้าของวันเกิดดี เป็นเราก็ไม่อยากได้ มันไม่ใช่ผลงานเรา ไม่มีความภูมิใจหรือผูกพันเลย เอามาก็เกะกะบ้าน สุดท้ายไม่พ้นลงถังขยะ

คนส่วนใหญ่มักจะให้ของที่ตนเองชอบหรือมีค่าสำหรับตนเอง โดยเข้าใจผิดว่า คนรับจะชอบเหมือนกัน ความจริงมันไม่ใช่อย่างนั้นนะ คนแต่ละคนมีความชอบต่างกันเยอะ อย่าว่าอย่างนั้นเลย ตัวเราเองในแต่ละเวลาความชอบก็เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาเหมือนกัน

🎁 ประเภทที่ 4 The Grocery List Gift

👩‍❤️‍👨 ของขวัญที่คนรับอาจ ‘ไม่อยากได้’ แต่ ‘ต้องซื้อ’

ของขวัญประเภทนี้เป็นของขวัญประเภท “ของมันต้องมี” หรือเป็นของขวัญประเภทที่ใช้อยู่ประจำเป็นกิจวัตร วิธีสังเกตว่าอะไรเป็นของประเภทนี้คือเราจะเห็นสิ่งของกลุ่มนี้อยู่ในรายการช็อปปิ้งรายสัปดาห์ รายเดือน หรือของชำประจำบ้านที่ซื้อเวลาไปซุปเปอร์มาร์เก็ต

ของขวัญกลุ่มนี้ไม่ควรจะมอบให้ เพราะยังไงเขาก็ซื้ออยู่แล้ว บางทีมีอยู่แล้ว หรือใช้ยี่ห้อไม่ตรงกับที่เราซื้อ สุดท้ายต้องทิ้ง เสียของ เสียเงินซื้อของขวัญไปเปล่าๆ

ดังนั้น การจะให้ของขวัญ เราต้องสืบหาข้อมูลให้ดีว่า คนรักเราชอบอะไร มียัง ง่ายสุดก็ถามตรงๆ แต่มันจะไม่ประทับใจน่ะสิ แต่ถ้าบังเอิญ เราไม่ได้ทำการบ้าน จะให้ของขวัญอะไรดีที่กลางๆ น่าจะถูกใจคนรักมากที่สุด

สำหรับผมเห็นว่า สินทรัพย์ทางการเงิน น่าจะเหมาะที่สุด เพราะกลางๆ มีประโยชน์ มีคุณค่าเพิ่มตลอดเวลา สินทรัพย์การเงินที่เหมาะกับการเป็นของขวัญมากที่สุด คือ ทองคำ เพราะมีคุณค่าทั้งทางการเงิน และ จิตใจ เป็นที่ต้องการของคนทั่วไป ส่วนสินทรัพย์ทางการเงินอื่นๆ ที่มีคุณค่าทางการเงินเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แม้อาจไม่มีคุณค่าทางจิตใจเท่าทองคำ แต่ก็น่าสนใจ อย่างเช่น

💰 (1) สลากออมสิน

เพราะนอกจากให้ผลตอบแทนที่มั่นคง ยังให้โอกาสถูกรางวัลใหญ่เป็นกิจกรรมที่คู่รักจะได้มาลุ้นด้วยกันตลอดอายุสลากด้วย

💰 (2) ประกันชีวิตประเภทสะสมทรัพย์ก็เป็นทางเลือกที่ดี

เพราะนอกจากให้ผลตอบแทนที่มั่นคง ยังมีความคุ้มครองทั้งชีวิตและสุขภาพในเวลาเดียวกัน แถมยังสามารถเอาไปลดหย่อนภาษีอีกด้วย แต่ควรจะซื้อประกันแบบจ่ายเบี้ยทีเดียวให้คนรักนะ เพราะหากซื้อประกันแบบจ่ายเบี้ยรายงวดทุกปี จะเป็นการสร้างภาระให้คนรักในปีต่อๆไป หรือ เป็นภาระที่เราต้องจ่ายเบี้ยให้ทุกปี เพิ่มจากของขวัญวาเลนไทน์ที่ยังต้องซื้อให้ทุกปีเหมือนกัน

💰 (3) ผลิตภัณฑ์การลงทุน

อย่างเช่น RMF, ThaiESG, SSF, หุ้นกู้, กองทุนรวม ฯลฯ ก็เป็นอีกทางเลือกที่ดีเช่นกัน

แต่การพิจารณาเลือกผลิตภัณฑ์การลงทุนให้คู่รักมีรายละเอียดในการเลือกมาก ไม่ว่าจะเป็นผลตอบแทน ความเสี่ยง หากราคาผลิตภัณฑ์การลงทุนที่เราให้คนรัก ราคาตกมากๆ อาจมีความเสี่ยงส่งผลให้ความรักของคู่รักที่ให้เราลดลงได้เหมือนกัน โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์การลงทุนที่มีเงื่อนไขทางภาษีเยอะ ควรระมัดระวังในซื้อเป็นของขวัญให้คนรัก หากคนรักไม่มีความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์การลงทุนนั้นดีพอ อย่างเช่น RMF แม้จะมีคุณค่าเพิ่มเรื่อยๆ แต่อาจทำให้คนรักเราผิดเงื่อนไขทางภาษี ถูกสรรพากรปรับและเสียเงินเพิ่ม จากที่รักๆ กันอยู่ อาจโกรธกันไปเลยก็ได้

เขียนโดย: สาธิต บวรสันติสุทธิ์, นักวางแผนการเงิน CFP®