ปฏิเสธไม่ได้ว่าโลกที่เราอยู่ทุกวันนี้หันไปทางไหนก็ล้วนมีสิ่งที่คอยกระตุ้นให้เราเสียเงินอยู่ตลอดเวลา มองไปข้างทางก็เต็มไปด้วยโฆษณา หยิบมือถือขึ้นมาไถโซเชียลก็เจอโปรโมชันของที่อยากได้ เห็นสินค้าลดราคาแล้วมันอดใจไม่อยู่ ขอกดซื้อสักหน่อยละกัน

อาการแบบนี้มีชื่อเรียกว่า ‘Impulse Buying’ หรือการชอปปิงเพราะอารมณ์ชั่ววูบ ซึ่งตามสถิติแล้วพบว่าคนอเมริกัน 3/4 นั้นเคยประสบกับเหตุการณ์แบบนี้ (สถิติตรงนี้แม้จะไม่ได้มีการสำรวจในเมืองไทย แต่คาดว่าตัวเลขก็คงไม่น้อยเช่นกัน) และ Gen Z ช่วงอายุ 16-25 ปี คือกลุ่มที่หุนหันชอปปิงเยอะมากที่สุด กว่า 23% ของกลุ่มนี้พร้อมจะซื้อของแบบที่ไม่ได้มีการแพลนล่วงหน้ามาก่อนเลย

การซื้อของเพราะอารมณ์ชั่ววูบแบบนี้ไม่เพียงแต่จะมีโอกาสส่งผลเสียต่อสถานการณ์ทางการเงินในระยะยาวแล้ว ยังส่งผลทำให้เกิดความรู้สึกแย่ๆ ตามมาภายหลังอย่างเช่นความรู้สึกเสียดายที่ใช้เงินโดยไม่คิด รู้สึกผิด หรือบางทีก็ละอายใจกับตัวเองด้วย

งานวิจัยชิ้นใหม่ของ Yunheng Wang และทีมจากมหาวิทยาลัย Beijing Normal University ได้พยายามหาคำตอบเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้เราซื้อของด้วยอารมณ์ชั่ววูบและมีวิธีแก้ไขยังไงบ้าง

โดย Wang เสนอว่าให้ลองใช้เทคนิคทางจิตวิทยาที่เรียกว่า ‘Self-Compassion’ หรือการรักและเมตตากับตัวเอง (โอบรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น ตระหนักรู้ถึงประสบการณ์ในแง่ลบ ไม่หลีกเลี่ยง บิดเบือน ปฏิเสธ หรือตัดสินตีความ หากแต่เข้าใจว่าประสบการณ์เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของความเป็นมนุษย์) มาลองเป็นตัวแทรกแซงเพื่อดูว่าจะส่งผลยังไงต่อพฤติกรรมการชอปปิงด้วยอารมณ์ชั่ววูบ

นอกจากนั้นทีมวิจัยยังเสนออีก 2 ปัจจัยที่อาจจะมีอิทธิพลในเรื่องนี้คือ

1. นิสัยวัตถุนิยม ต้องมีให้เยอะ ต้องมากกว่าคนอื่น เพราะนี่คือตัวตนและคุณค่าของคนกลุ่มนี้ ซึ่งน่าจะมีโอกาสซื้อเพราะอารมณ์ชั่ววูบ
2. ความสามารถในการควบคุมตัวเองต่ำ ไม่สามารถหักห้ามใจตัวเองได้ เห็นโฆษณาแล้วถูกโน้มน้าวได้ง่าย

เพื่อทดสอบพวกเขาใช้อาสาสมัครออนไลน์ 191 คน แล้วแบ่งออกเป็นสองกลุ่มเท่าๆ กันแบบสุ่ม โดยกลุ่มแรกจะได้เข้าเรียนคอร์สพัฒนาตัวเองออนไลน์เกี่ยวกับเรื่อง “Positive Self” โดยจะได้ดูวิดีโอและฟังข้อมูลต่างๆ เพื่อช่วยสร้างความเข้าใจ ความรักในตัวเอง และเห็นคุณค่าในตัวเองมากยิ่งขึ้น เป็นระยะเวลาตลอด 14 วัน

จะมีการส่งแบบสอบถามเป็น 3 ระยะ ครั้งแรกก่อนทำการทดลอง 1 สัปดาห์ ครั้งที่สอง 3 อาทิตย์หลังจากเริ่มทดลอง และครั้งสุดท้ายคือ 1 เดือนหลังจากการทดลองจบลง

หลังจากได้รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลแล้ว งานวิจัยชิ้นนี้พบว่าคนที่ได้เรียนคอร์สออนไลน์ เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่อง ‘Self-Compassion’ นั้นแสดงออกถึงความรักที่มีต่อตัวเองมากขึ้น เห็นคุณค่าในตัวเองดีขึ้น ควบคุมตัวเองได้ดีขึ้น มีความเป็นวัตถุนิยมน้อยลง และแน่นอนรู้สึกอยากชอปปิงด้วยอารมณ์น้อยลงไปด้วย

ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยต่างๆ เหล่านี้มีความเป็นธรรมชาติอย่างน่าสนใจ เมื่อเรารักตัวเองมากขึ้น มันจะทำให้เรามีความรักในวัตถุน้อยลง เป็นรากฐานของความมั่นใจในตัวเองที่ช่วยเรื่องการควบคุมอารมณ์ความรู้สึก จนนำไปสู่การที่เราต้องชอปปิงด้วยอารมณ์น้อยลงไปด้วย

กลุ่มนักวิจัยอธิบายถึงความสัมพันธ์ตรงนี้ว่า

“มันมีความเป็นไปได้ว่าเมื่อเรารักตัวเองมากขึ้น จึงไม่จำเป็นต้องไปหาความหมายหรือตัวตนจากการเป็นเจ้าของสิ่งต่างๆ จึงมีความเป็นวัตถุนิยมน้อยลง เพราะคนที่มีความเป็นวัตถุนิยมนั้นมักจะไม่พอใจกับมาตรฐานการใช้ชีวิตของตัวเอง กลายเป็นการโทษตัวเองและรู้สึกว่าไม่เพียงพอ เพื่อจะจัดการและรับมือกับอารมณ์ที่แย่ๆ ตรงนี้ พวกเขาเลยต้องใช้พลังงานในการควบคุมตัวเอง พอพลังงานตรงนั้นหมด ความสามารถในการควบคุมพฤติกรรมตัวเองก็แย่ลงไปด้วย ส่งผลให้กลายเป็นนิสัยแย่ๆอย่างการซื้อของด้วยอารมณ์ชั่ววูบนั่นเอง”

แต่ทีมนักวิจัยก็บอกนะครับว่าข้อมูลตรงนี้ต้องนับว่าเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้นและที่สำคัญคือข้อมูลนั้นมาจากการที่ผู้เข้าร่วมการทดลองรายงานกลับมาให้ตามแบบสอบถาม เพราะฉะนั้นผลการทดลองอาจจะเกิดจากความคาดหวังที่เกิดขึ้นของผู้เข้าร่วมการทดลองด้วยก็ได้ อีกประเด็นหนึ่งคือเรื่องภูมิศาสตร์ของการทดลองที่ทำในประเทศจีนซึ่งยังถือว่าใหม่ต่อความเป็นทุนนิยม ถ้าไปทดลองในประเทศอื่นๆ ทางยุโรปหรืออเมริกาผลอาจจะแตกต่างออกไปได้เช่นกันครับ