ปกติแล้วการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ประเทศส่วนใหญ่รวมถึงประเทศไทยด้วย ใช้หลัก ‘ถิ่นที่อยู่’ (Residence Rule) และหลักแหล่งเงินได้ (Source Rule) ในการเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยไม่คำนึงถึงสัญชาติของบุคคลนั้น

หลักถิ่นที่อยู่เป็นหลักที่ใช้เก็บภาษีจากผู้มีถิ่นที่อยู่ (Resident) ในประเทศนั้น เป็นการเก็บภาษีจากเงินได้ที่ได้รับทั้งใน และนอกประเทศของผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศนั้น หลักนี้จึงมีชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า ‘หลักเงินได้ทั่วโลก’ (Worldwide income basis) เพราะการที่เราอาศัยอยู่ในประเทศไหน เราก็ต้องใช้สาธารณูปโภคของประเทศนั้นๆ เช่น ถนน ไฟฟ้า ประปา การศึกษา โรงพยาบาล ตำรวจ ทหาร ข้าราชการ ฯลฯ ซึ่งล้วนแต่ได้รับเงินสนับสนุนจากภาษีด้วยกันทั้งสิ้น ดังนั้นเมื่อเราใช้ประโยชน์ ก็ควรต้องร่วมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้วยการเสียภาษีเช่นกัน

สำหรับในไทย สรรพากรจะพิจารณาจากที่ว่าคนๆ นั้นอยู่ในประเทศไทยถึง 180 วันหรือไม่ (ไม่จำเป็นต้องอยู่ต่อเนื่องกัน) โดยสรรพากรจะพิจารณาจากข้อมูลใน Passport ว่าบุคคลนั้นอยู่ในประเทศไทยกี่วัน

ส่วนหลักแหล่งเงินได้นั้น เป็นหลักที่ใช้เก็บภาษีจากผู้ไม่มีถิ่นที่อยู่ (Nonresident) ในส่วนประเทศนั้น แต่มีเงินได้ที่ได้รับในประเทศนั้น หลักนี้จึงมีชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า หลักอาณาเขต (Territoriality basis)

ยกตัวอย่างเช่น นักร้องเกาหลีเข้ามาจัดคอนเสิร์ตในเมืองไทย ร้องเพลงเสร็จบินกลับเกาหลีเลย ได้ค่าตั๋วจากแฟนคลับไป ก็ควรต้องเสียภาษีให้เมืองไทยด้วยเช่นกัน ทำนองเดียวกับการที่เราไปเช่าห้องโรงแรมจัดกิจกรรมหารายได้ เราก็ต้องจ่ายค่าเช่าให้โรงแรมเช่นกัน

ประเด็นที่มีการพูดคุยกันมากในขณะนี้ ก็คือ หลักถิ่นที่อยู่ กรณีมีเงินได้จากต่างประเทศ บุคคลนั้นต้องนำเงินได้จากต่างประเทศนั้นมาเสียภาษีให้สรรพากรไทย ถ้าเข้าเงื่อนไขทั้ง 3 ข้อ ดังนี้

➡️บุคคลนั้นอยู่ในประเทศไทยถึง 180 วันในปีภาษีที่เกิดเงินได้
➡️มีเงินได้จากต่างประเทศในปีภาษีนั้น
➡️นำเงินได้จากต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทยในปีที่เกิดเงินได้

💰 ดังนั้น จึงมีการวางแผนภาษีสำหรับเงินได้จากต่างประเทศเพื่อไม่ให้ต้องเสียภาษีให้สรรพากรไทย

➡️ถ้าในปีภาษีที่เกิดเงินได้ บุคคลนั้นจะอยู่ในประเทศไทยถึง 180 วัน ก็ให้นำเงินได้จากต่างประเทศเข้าประเทศไทยคนละปีกับปีที่เกิดเงินได้
➡️ถ้าต้องการนำเงินได้จากต่างประเทศเข้าประเทศไทยในปีที่เกิดเงินได้ บุคคลนั้นก็อย่าอยู่ในประเทศไทยในปีภาษีนั้นถึง 180 วัน ออกไปเที่ยว หรือ พักผ่อนต่างประเทศให้เกิน 185 หรือ 186 วันก็พอ (ปีหนึ่งมี 365 หรือ 366 วัน)

💰แต่คําสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.161 และ ป.162 ได้ปรับปรุงการจัดเก็บภาษีเงินได้จากต่างประเทศ โดย
บุคคลจะมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากแหล่งเงินได้ต่างประเทศ เมื่อเข้าองค์ประกอบ ดังต่อไปนี้

(1) บุคคลมีเงินได้พึงประเมินจากแหล่งเงินได้ต่างประเทศตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2567 เป็นต้นไป
ในปีภาษีที่อยู่ในประเทศไทยตั้งแต่ 180 วันขึ้นไป
(2) บุคคลนั้นได้นําเงินได้พึงประเมินนั้นเข้ามาในประเทศไทยในปีภาษีดังกล่าวหรือในปีภาษีต่อมาภายหลัง

📌ยกตัวอย่าง ได้เป็น 4 กรณี

1. เงินได้พึงประเมินที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป และตัวผู้มีรายได้อยู่ในไทยมากกว่า หรือเท่ากับ 180 วัน และมีการนำเงินเข้ามาในไทยตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป >> ต้องเสียภาษีในไทย

2. เงินได้พึงประเมินที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป และตัวผู้มีรายได้อยู่ในไทยน้อยกว่า 180 วัน และมีการนำเงินเข้ามาในไทยตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป >> ไม่ต้องเสียภาษีในไทย

3. เงินได้พึงประเมินที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 1 มกราคม 2567 โดยตัวผู้มีรายได้อยู่ในไทยมากกว่า หรือเท่ากับ 180 วัน และมีการนำเงินเข้ามาในไทยตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป >> ไม่ต้องเสียภาษีในไทย

4. เงินได้พึงประเมินที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 1 มกราคม 2567 โดยตัวผู้มีรายได้อยู่ในไทยน้อยกว่า 180 วัน และมีการนำเงินเข้ามาในไทยตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป >> ไม่ต้องเสียภาษีในไทย

📌สรุปว่า!

ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป ถ้าคนๆ นั้นอยู่ในประเทศไทยถึง 180 วันในปีภาษีนั้น และมีเงินได้จากต่างประเทศ เงินได้จากต่างประเทศที่เอาเข้ามาต้องเสียภาษีให้สรรพากรไทย ไม่สนใจว่าเงินได้จากต่างประเทศก้อนนั้นเกิดในปีไหน

ตัวอย่างเพิ่มเติม…ในปีภาษี 2567 นาย ก. อยู่ในประเทศไทยรวมทั้งสิ้น 300 วัน และในปี 2567 นาย ก. มีเงินได้จากต่างประเทศ 10 ล้านบาท ไม่ว่านาย ก. จะเอาเงินเข้าในประเทศไทยปีไหน ก็ต้องนําเงินได้จากต่างประเทศนั้นมารวมคํานวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสําหรับปีภาษีที่นำเงินเข้ามา ส่วนเงินได้จากต่างประเทศที่เกิดในปี 2566 หรือ ก่อนหน้านี้ ยังใช้เงื่อนไข 3 ที่กล่าวไปเหมือนเดิม

แล้วอย่างนี้ตามกฎหมายใหม่จะบริหารภาษีเงินได้จากต่างประเทศอย่างไรดี ตอนนี้ก็เหลือแค่ช่องทางเดียวในการบริหารภาษี คือ ในปีภาษีที่เกิดเงินได้จากต่างประเทศ เราก็อย่าอยู่ในประเทศไทยถึง 180 วัน ซึ่งคงเป็นไปไม่ได้สำหรับคนที่ทำมาหารายได้ในประเทศไทยเป็นหลัก แต่สำหรับคนที่ทำมาหากินอยู่ต่างประเทศอยู่แล้ว อย่างเช่น คนที่ไปเปิดร้านอาหารที่อเมริกา หรือ รับจ้างทำงานที่ตะวันออกกลาง ฯลฯ เงินได้ที่เกิดในต่างประเทศนั้นเอาเข้ามาประเทศไทยในปีภาษีไหน ก็ไม่ต้องเอามารวมคำนวณภาษีเงินได้

คนที่โดนผลกระทบจากกฎหมายนี้มากที่สุด คือคนที่ตัวอยู่ในประเทศไทย แต่หาผลตอบแทนจากการลงทุนในต่างประเทศ เช่น ซื้อพันธบัตรรัฐบาล หุ้น หรือ หุ้นกู้ต่างประเทศ ฯลฯ ผลตอบแทนที่เคยยกเว้นภาษี เพราะเอาเข้ามาคนละปีกับที่เกิดเงินได้ ก็คงใช้กลยุทธ์นี้ไม่ได้อีกต่อไป