เรียกว่าช่วงปีที่ผ่านมาเราอยู่ในยุคดอกเบี้ยขาขึ้นก็คงไม่ผิดนัก เดี๋ยวก็ขึ้น เดี๋ยวก็ขึ้น จนรู้สึกว่ามันจะขึ้นไปจนถึงเมื่อไหร่กันนะ

แน่นอนธุรกิจกลุ่มแรกๆ ที่ได้รับประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้นก็คือ หุ้นกลุ่มธนาคาร เพราะดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น ทำให้ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น หรือ spread (ส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก) เพิ่มขึ้น จึงส่งผลให้กำไรสุทธิของหุ้นกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นด้วยนั่นเอง

เมื่อเรามาดูงบการเงินล่าสุดในไตรมาส 2 ของหุ้นกลุ่มธนาคารที่ผ่านมาพบว่าในไตรมาส 2 ส่วนใหญ่มีกำไรสุทธิที่เพิ่มมากขึ้น

สาเหตุหลักมาจาก รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นหรือ spread เพิ่มขึ้น ที่มาจากผลของดอกเบี้ยขาขึ้นมากกว่าที่มาจากสาเหตุลูกหนี้สินเชื่อเพิ่มขึ้น เพราะธนาคารส่วนใหญ่มีเงินให้สินเชื่ออยู่ที่ระดับใกล้เคียงเดิม และบางแห่งมีเงินให้สินเชื่อลดลงอีกด้วย
เช่น

- SCB มีกำไรสุทธิ 11,868 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.1% จากปีก่อน
สาเหตุหลักมาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 18.1% YoY (ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 0.53%) ในขณะที่เงินให้สินเชื่อโต 2.7%

- BBL มีกำไรสุทธิ 11,294 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 62.5% จากปีก่อน
สาเหตุหลักมาจาก รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 33.8% YoY (ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 0.67%) ในขณะที่เงินให้สินเชื่อโต 2.2%

อย่างไรก็ตาม ผลการประชุมของ กนง.เมื่อวันที่ 2 ส.ค.ที่ผ่านมา มีมติขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ 2.25% และการขึ้นครั้งนี้ถูกคาดการณ์ว่าเป็นการขึ้นครั้งสุดท้ายในปีนี้

ซึ่งถ้าดอกเบี้ยไม่ได้เป็นขาขึ้นแล้ว เราอาจจะคิดว่ามันจะส่งผลต่อกำไรของธนาคารในอนาคต ทำให้กำไรสุทธิลดลงรึเปล่า?

แต่..ก็ไม่เสมอไป เพราะอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง อาจทำให้คนอยากมากู้เงินหรือขอสินเชื่อมากขึ้น ส่งผลให้ลูกหนี้สินเชื่อเพิ่มมากขึ้น และทำให้ธนาคารมีรายได้เพิ่มขึ้นก็ได้

ดังนั้น ธนาคารที่สามารถหาลูกหนี้สินเชื่อได้มากขึ้น (Loan growth) ก็มีโอกาสที่กำไรจะเติบโตมากขึ้นนั่นเอง

เรามาดูกันต่อว่า ถ้าจะเลือกหุ้นธนาคารหลักๆ ต้องดูอะไรบ้าง

1. ศักยภาพการเติบโตของลูกหนี้สินเชื่อ เพราะสะท้อนการเติบโตของรายได้ธนาคารโดยตรง ซึ่งเราต้องดูด้วยว่าธนาคารนั้นๆ มีสัดส่วนรายได้สินเชื่อหลักจากไหน ตรงนี้แต่ละธนาคารจะต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น

SCB มีสัดส่วนสินเชื่อบุคคลที่เป็นสินเชื่อบ้านมากที่สุด
BBL มีสัดส่วนสินเชื่อลูกค้าธุรกิจรายใหญ่และสินเชื่อลูกค้ากิจการต่างประเทศมากที่สุด
KBANK มีสัดส่วนสินเชื่อ SMEs มากที่สุด

2. โอกาสเกิดหนี้เสีย (NPLs) ในอนาคตมีมากน้อยแค่ไหน
ส่วนนี้ ถ้าเรารู้ว่าลูกหนี้สินเชื่อหลักของธนาคารคืออะไร จะวิเคราะห์ความเสี่ยงต่อได้ เพราะลูกหนี้สินเชื่อแต่ละประเภท มีโอกาสเกิด NPLs ต่างกัน

เช่น ลูกหนี้สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ มีโอกาสเกิดเป็น NPLs มากกว่า ลูกหนี้สินเชื่อบ้าน หรือลูกหนี้สินเชื่อรายย่อย มีโอกาสเกิด NPLs มากกว่า ลูกหนี้สินเชื่อธุรกิจรายใหญ่ เป็นต้น

3. มีการตั้งสำรองหนี้เสียหรือผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเหมาะสมหรือไม่ มากไปหรือน้อยไป ส่วนนี้จะถือเป็นค่าใช้จ่ายที่ส่งผลต่อกำไรสุทธิของกิจการด้วย

ถ้าธนาคารไหนตั้งสำรองมากขึ้นเยอะผิดปกติ ต้องเข้าไปดูว่าเกิดจากอะไร

ถ้าเข้าไปดูแล้วพบว่า ไม่ได้เกิดจากเหตุการณ์ใหม่ๆ ที่เป็นความเสี่ยงว่าจะเกิดหนี้สูญ แต่มาจากผู้บริหารมีความระมัดระวังเท่านั้น อาจทำให้หุ้นนั้นน่าสนใจ เพราะมีโอกาสที่รอบบัญชีถัดไป กิจการจะตั้งสำรองค่าใช้จ่ายส่วนนี้ลดลง ส่งผลให้กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นได้

แต่ถ้าตั้งสำรองน้อยไป ก็อาจทำให้เกิดการตั้งสำรองมากขึ้นในงวดถัดไป ส่งผลให้กำไรสุทธิลดลงได้

ประเด็นหลักคือต้องดูว่าธนาคารตั้งสำรองหนี้เสียสมเหตุสมผลหรือไม่นั่นเอง
ปัจจัยทั้งหมดนี้ส่งผลต่อผลกำไรของหุ้นกลุ่มธนาคาร ซึ่งเป็นคีย์สำคัญที่ส่งผลต่อราคาหุ้นได้ ดังนั้นพวกเรานักลงทุนก็ต้องติดตามกันต่อไปนะคะ

เขียนและเรียบเรียงโดย : พัทธนันท์ เตชะเสน (CISA2, Investment Frappe)