ในสมัยโรมโบราณ เมื่อแม่ทัพออกไปรบแล้วได้ชัยชนะกลับมา พวกเขาจะมีการเดินขบวนแห่ไปรอบ ๆ เมืองตามท้องถนนเพื่อประกาศชัยชนะเหนือคู่แข่งสร้างความฮึกเหิมและแสดงความยินดีกับสิ่งที่เกิดขึ้น

สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือในขบวนแห่นี้แม่ทัพที่อยู่บนรถแห่จะมีทาสคนหนึ่งยืนอยู่ข้างหลัง

หน้าที่ของทาสคนนี้คือการคอยกระซิบคำเตือนกับแม่ทัพว่า “Memento Mori” หรือที่แปลว่า “วันหนึ่ง ท่านก็ต้องตาย”

นี่คือวิธีเตือนให้แม่ทัพว่าอย่าหลงระเริงกับชัยชนะที่อยู่ตรงหน้า แต่จงจำเอาไว้ว่าวันหนึ่งความโชคร้ายหรือความพ่ายแพ้ก็จะมาเยือนเช่นเดียวกัน ทุกสิ่งทุกอย่างในเวลานี้ล้วน ‘ชั่วคราว’ ทั้งสิ้น

เพราะฉะนั้นไม่ว่าตอนนี้จะเป็นยังไง อย่าลืมมองภาพใหญ่ของสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นด้วย

ประเด็นนี้เป็นสิ่งสำคัญในโลกการลงทุนเช่นกัน เพราะไม่ว่าตอนนี้เศรษฐกิจจะเป็นยังไง ร้อนแรงหรือร่วงหล่น ทุกอย่างก็คือเรื่องชั่วคราว เดี๋ยวผ่านมาแล้วผ่านไปเป็นวงจรของมัน เพียงแต่สิ่งที่สำคัญสำหรับนักลงทุนคือการจับจังหวะให้ได้ว่าตอนนี้เราอยู่ตรงไหน จังหวะนี้ควรรอ นั่งทับมือไว้ก่อน หรือจังหวะนี้ควรรุก เก็บสะสมหุ้นเข้าพอร์ต

แต่เราจะรู้ได้ยังไง?

มีเครื่องมือหนึ่งที่ใช้เพื่อจับจังหวะแบบนี้ชื่อว่า Investment Clock (นาฬิกาลงทุน) โดยเป็นหนึ่งในการวิเคราะห์ตลาดแบบ Top Down Approach หรือการมองภาพกว้างว่าตอนนี้เรากำลังอยู่ในช่วงไหนของนาฬิกาและควรกำหนดกลยุทธ์การลงทุนของเรายังไง (ต้องบอกก่อนว่าแม้จะไม่ได้ตรงเป๊ะๆ แต่มันก็จะทำให้เห็นภาพกว้างที่ช่วยในการตัดสินใจของเราได้ดียิ่งขึ้น)

โดยให้เรานึกภาพนาฬิกาของเราเอาไว้แล้วแบ่งออกเป็น 4 ช่วง (ตามในรูป)

1. ช่วง 1:00 - 3:00 คือช่วง Slow Down (เศรษฐกิจชะลอตัว)
2. ช่วง 4:00 - 6:00 คือช่วง Recession (เศรษฐกิจตกต่ำ)
3. ช่วง 7:00 - 9:00 คือช่วง Recovery (เศรษฐกิจฟื้นตัว)
4. ช่วง 10:00 - 12:00 คือช่วง Boom (เศรษฐกิจขยายตัว)

ช่วงที่ 1 : Slow Down (1:00 - 3:00)

เศรษฐกิจชะลอตัว ตอนนี้สิ่งที่เราจะเห็นคือดอกเบี้ยเริ่มขึ้นก่อน เพราะก่อนหน้านี้คือช่วงเศรษฐกิจร้อนแรง (Boom) จังหวะนี้รัฐบาล/ธนาคารกลางเริ่มกังวลว่ามันจะร้อนแรงมากไป หุ้น อสังหาฯ ต่างๆ ขึ้นมาเยอะมาก เลยต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อชะลอความร้อนแรงตรงนี้ลงไป

เมื่อเริ่มขึ้นดอกเบี้ย ทีนี้เราก็จะค่อยๆ เห็นราคาหุ้นปรับลง (ช่วงประมาณ 2:00) ทีนี้กำไรบริษัทต่างๆ ก็จะเริ่มลดลง นักลงทุนเริ่มขายหุ้นออกมาก่อน

ต่อมาการบริโภคสินค้าโภคภัณฑ์ก็จะลดลง (เช่น น้ำมัน อาหาร) ทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์เหล่านี้ลดลงไปด้วย (ประมาณ 3:00)

กลยุทธ์ในช่วงนี้ : เมื่อเริ่มเห็นดอกเบี้ยนโยบายปรับตัวขึ้น ต้องเริ่มมองแล้วว่าต่อไปราคาหุ้นอาจจะเริ่มลงในอนาคต การไล่ราคาซื้อหุ้นไม่ควรเกิดขึ้น (ถ้าเก็งกำไรต้อง Cut Loss เป็น) นั่งทับมือถือเงินสดไว้ก่อน (อาจจะปรับพอร์ตขายบางส่วนออกไปเพื่อทำกำไรก็ได้)

ช่วงที่ 2 : Recession (4:00 - 6:00)

หลังจากผ่านช่วง 3:00 มาแล้ว ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ลดลงแล้วก็จะมาถึงเงินสำรองระหว่างประเทศที่ลดลง เหตุผลก็เพราะว่าเศรษฐกิจเริ่มตกต่ำ การส่งออกเริ่มชะลอตัว หลายประเทศเริ่มขาดดุลบัญชีเดินสะพัด (ช่วง 4:00) เงินเฟ้อยังสูงอยู่ ดอกเบี้ยก็ยังขาขึ้นต่อไป ธนาคารกลางต้องเริ่มมาตรการทางการเงินให้มันตึงตัวมากขึ้น (Tightening Policy) ทำให้ผู้บริโภคไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย (ช่วง 5:00)

ราคาอสังหาฯ จะเริ่มลง จังหวะนี้ราคาหุ้นก็จะร่วงแรงเพราะคนกลัวมากขึ้นกว่าช่วงที่ 1 (ตอนนั้นยังหวังว่าเศรษฐกิจอาจจะฟื้นได้) ตอนนี้ราคาทองคำจะเริ่มขึ้น เพราะเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) ที่คนถือช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ

กลยุทธ์ช่วงนี้ : จังหวะ Wait & See หรือรอดูอย่างใจจดใจจ่อ ใจเย็นๆ อย่าเพิ่งรีบเข้าซื้อหุ้น ตราบใดที่ดอกเบี้ยยังขึ้นอยู่ จนกว่าจะเห็นสัญญาณใหม่ๆ ในช่วงที่ 3

ช่วงที่ 3 : Recovery (7:00 - 9:00)

สัญญาณที่ชัดเจนก่อนเข้าสู่ 7:00 คือราคาอสังหาฯ​ เริ่มลดลง ซึ่งพาให้สินค้าอื่นๆ ราคาลดลงไปด้วย เช่นน้ำมัน เพราะความต้องการลดลง สัญญาณอีกตัวคือเงินเฟ้อจะเริ่มลดลง และนำมาซึ่งการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

ลดดอกเบี้ยให้คนจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น แล้วค่อยๆ หนุนกำไรของบริษัทให้ดีขึ้น พร้อมราคาหุ้น และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ ทยอยปรับขึ้นมา (8:00 - 9:00)

กลยุทธ์ในช่วงนี้ : หลังจากที่ทยอยขายไปในช่วงที่ 1 และ นั่งทับมือในช่วงที่ 2 ตอนนี้เงินสดที่ถือว่าจะเริ่มได้ใช้แล้ว เห็นสัญญาณดอกเบี้ยลดในช่วง 7:00 ก็ทยอยซื้อหุ้นกลับเข้าพอร์ต (ส่วนใหญ่แล้วตัวใหญ่ๆ ก็จะมาก่อน)

ช่วงที่ 4 : Boom (10:00 - 12:00)

เศรษฐกิจขยายตัวได้ดี สูงกว่าเงินเฟ้อ สภาพคล่องสูง เงินและโอกาสเต็มไปหมดในตลาด โลกกลับมาเบ่งบานและสวยงามอีกครั้ง เพราะดอกเบี้ยอยู่ในระดับที่ต่ำมานาน (หลังจากเริ่มลดลงมาตั้งแต่ 7:00)

ดอกเบี้ยที่ต่ำ เงินหาง่าย (Easy Money) ทำให้นักลงทุนหันมาลงทุนมากขึ้น กู้ยืมมากขึ้น ลงทุนในอสังหาฯ มากยิ่งขึ้น

ตอนนี้ราคาทุกอย่างก็ขยับสูงขึ้นเรื่อยๆ นี่คือจุดที่ใครๆ ก็พูดถึงตลาดหุ้น ไปทางไหนก็มีแต่คนพูดถึงเรื่องหุ้น เดินเข้าร้านหนังสือจะเห็นหนังสือหุ้นติดท็อปขายดี

นี่ใกล้เข้าสู่จุดพีคที่สุดแล้ว แต่สัญญาณที่สำคัญจริงๆ คืออัตราเงินเฟ้อ หากเมื่อไหร่ก็ตามที่เงินเฟ้อสูงกว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจ ตอนนั้นแหละครับให้ระวังว่าเรากำลังจะก้าวสู่ช่วงที่ 1 อีกครั้งหนึ่งแล้ว

กลยุทธ์ในช่วงนี้ : เมื่อถึงช่วงนี้ต้องระวังสัญญาณเตือนต่างๆ ว่าช่วงที่ 1 กำลังจะวนมาอีกครั้งหนึ่ง การขยับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอาจจะเริ่มขึ้นเร็วๆ นี้ ไม่ควรซื้อหุ้นเพิ่มแล้ว

สรุป

Investment Clock เป็นเพียงหนึ่งในเครื่องมือที่เราสามารถหยิบมาใช้ได้อย่างง่ายๆ เป็นภาพกว้างที่ช่วยให้เข้าใจว่าตอนนี้เรากำลังอยู่ตรงไหนและมีอะไรกำลังรออยู่ข้างหน้า แน่นอนว่ามันคงไม่สามารถบอกได้อย่าง 100% แต่อย่างน้อยๆ ก็พอจะเข้าใจว่าวงจรของเศรษฐกิจหมุนวนไปยังไง

การตระหนักรู้ว่าทุกอย่างเป็นเรื่องชั่วคราวทำให้เราไม่หลงระเริงไปความสำเร็จ (ช่วง Boom) หรือห่อเหี่ยวเกินไป (ช่วง Recession) แต่ยังคงมีความหวังและเตรียมการรับมือสิ่งที่จะเกิดขึ้นอยู่เสมอ

มีเครื่องมือก็จะช่วยได้บ้าง แต่สิ่งสำคัญคืออย่างมั่นใจเกินไปเมื่อเอาชนะตลาดได้ เพราะในชีวิตเราไม่มีคนคอยมากระซิบเตือนข้าง ๆ หูว่า “วันหนึ่ง ท่านก็ต้องตาย”