การลงทุน คือ การจ่ายเงินในปัจจุบัน (price) เพื่อผลตอบแทนในอนาคต (return) เมื่อพูดถึงการลงทุนเรามักจะนึกถึงการลงทุนในตลาดการเงิน อย่างเช่น การลงทุนในหุ้น ทองคำ ตราสารหนี้ ฯลฯ ซึ่งหากเราต้องการผลตอบแทนที่สูง เราก็ต้องยอมรับว่าจะมีความเสี่ยงที่สูงตามมาด้วย แต่ไม่ได้หมายความว่า เราต้องยอมรับความเสี่ยงนั้นๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

จริงๆแล้ว การบริหารความเสี่ยงที่สิ่งที่สามารถทำได้ และเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ สำหรับการลงทุนมากกว่าการแสวงหาผลตอบแทนด้วยซ้ำ เหมือนอย่างที่ Benjamin Graham อาจารย์ของ Warren Buffett ปรมาจารย์การลงทุนโลก กล่าวไว้ว่า “การลงทุนที่ประสบความสำเร็จเป็นเรื่องของการจัดการความเสี่ยง ไม่ใช่การหลีกเลี่ยงมัน”

"ความเสี่ยงจากการลงทุน" หลักๆ แล้วแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่

1. Pervasive Risk

เป็นความเสี่ยงระดับมหภาค ความเสี่ยงประเภทนี้จะที่กระทบทุกคน เช่น ความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ ความเสี่ยงจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ การเมือง หรือแม้กระทั่ง ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ลงทุนหรือไม่

2. Systematic Risk

เป็นความเสี่ยงที่เป็นระบบ ความเสี่ยงประเภทนี้ไม่สามารถลดลงได้จากการกระจายการลงทุนในหลักทรัพย์ เป็นสิ่งที่ผู้ลงทุนในสินทรัพย์นั้นๆ ต้องเจอ เช่น ความแปรผันของอัตราดอกเบี้ย หรือ การเปลี่ยนแปลงของตลาดโดยรวม เป็นต้น

3. Unsystematic Risk

เป็นความเสี่ยงเฉพาะตัวของหลักทรัพย์ ซึ่งสามารถลดได้ด้วยการการจายการลงทุน เช่น ความเสี่ยงจากฐานะทางการเงินของบริษัทนั้นๆ ความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทนั้นๆ หรือแม้กระทั่งความเสี่ยงจากอุตสาหกรรมที่ลงทุน เป็นต้น

ดังนั้นจึงเกิดวิชาด้านการลงทุนและการเปิดเผยข้อมูลมากมายให้พวกเราใช้วิเคราะห์ก่อนตัดสินใจลงทุน อย่างหลักการ การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานที่จะช่วยในการพิจารณาเลือกสินทรัพย์ในการลงทุนได้ดีหลักการหนึ่ง โดยการวิเคราะห์ก็มีทั้งแบบ Top Down และ Bottom Up

#TopDown คือ การมองจากปัจจัยมหภาคก่อนแล้วค่อยมองมาที่อุตสาหกรรม แล้วค่อยมาเลือกหุ้นว่าตัวไหนจะเป็นตัวที่ให้ผลตอบแทนที่ดีในภาวะปัจจัยมหภาค

#BottomUp คือ เลือกหาหุ้นที่มีลักษณะที่ดีตามที่เราต้องการก่อน อย่างเช่น เป็นผู้นำในธุรกิจ ผู้บริหารเก่ง ผลประกอบการดี การจ่ายปันผลดี มีจรรยาบรรณ ฯลฯ เมื่อได้หุ้นที่สนใจแล้ว ก็จะมองต่อที่ระดับอุตสาหกรรมว่ามันเป็นช่วงขาขึ้น หรือขาลง แล้วก็ตบท้ายด้วยการดูภาพมหภาคว่าเอื้อต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมนั้น ๆ หรือไม่

การวิเคราะห์ทั่วไปก็ใช้ทั้ง 2 อย่างทั้ง Top down และ Bottom up แต่จะใช้อันไหนมากกว่ากัน ก็ขึ้นอยู่กับความเชื่อ กับ ความถนัดของแต่ละคน

หากเรามาดูวิธี Top down เครื่องมือหนึ่งที่เขาใช้กันในการวิเคราะห์ภาพใหญ่ (มหภาค) ก็คือ “PESTEL”

1. P ย่อมาจาก Political

คือ ภาวะการเมือง อย่างเช่น การเลือกตั้งในไทยที่จะมีขึ้นในเดือนหน้าจะเป็นผลบวกหรือลบต่อการลงทุนที่เราสนใจ

2. E ย่อมาจาก Economic

คือ ภาวะเศรษฐกิจว่าอยู่ในวัฏจักรช่วงไหน ดังนี้

- Expansion (คือภาวะเศรษฐกิจขยายตัว): เป็นช่วงที่การผลิต อัตราการจ้างงาน อัตราดอกเบี้ย ความต้องการสินเชื่อ และ ความเชื่อมั่นเริ่มเพิ่มขึ้น รายได้และรายจ่ายของครัวเรือนสูงขึ้น ทิศทางการลงทุนมีแนวโน้มเป็นขาขึ้น

- Boom (คือภาวะเศรษฐกิจรุ่งเรือง): อัตราดอกเบี้ยพุ่งขึ้นสูง การผลิตและความเชื่อมั่นทรงตัว เป็นจุดสูงสุดของวัฏจักรเศรษฐกิจ มีความขาดแคลนทั้งแรงงานและวัตถุดิบ ทำให้ต้นทุนการผลิตและระดับราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น

- Recession (คือภาวะเศรษฐกิจถดถอย): ทิศทางการลงทุนมีแนวโน้มเป็นขาลง เป็นช่วงที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) การจ้างงาน และ ความต้องการสินค้าโดยรวมลดลง ธุรกิจเริ่มขาดแคลนเงินทุนหมุนเวียน

- Depression (คือภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ): เป็นจุดต่ำสุดของภาวะเศรษฐกิจ อัตราดอกเบี้ย ความต้องการสินเชื่อ และ ความเชื่อมั่นตกต่ำ นโยบายทางเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มการผลิตเริ่มเข้ามามีบทบาทและวนกลับไปสู่ระยะถัดไปของวัฎจักร

3. S ย่อมาจาก Social

คือ ภาวะสังคม ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดๆก็คือ ตอนนี้ไทยเป็นสังคมคนสูงอายุ และจะเป็นอย่างรุนแรงและเร็วด้วย

4. T ย่อมาจาก Technology

คือ ภาวะเทคโนโลยี อย่างเช่น การเกิดขึ้นของ internet และเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากๆทำให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ และหลายๆธุรกิจก็ต้องตายลงไป

5. E อีกตัวย่อมาจาก Environment

คือ ภาวะสิ่งแวดล้อม หลายคนคงรู้สึกถึงว่าปัจจุบันภัยธรรมชาติเกิดขึ้น รุนแรงและถี่ขึ้นมาก อย่างตอนนี้ ภาวะโลกร้อน หรือ ฝุ่น PM2.5 ก็เป็นภาวะที่เราต้องสนใจเช่นกัน

6. L ย่อมาจาก Legal

คือ กฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายที่ออกโดยรัฐบาลไทย หรือ ออกโดยรัฐบาลต่างประเทศจะมีผลต่อการลงทุนเราหรือไม่

ปัจจัยเหล่านี้เป็นแนวทางในการช่วยให้เราประเมินภาวะมหภาคได้อย่างครบถ้วน เมื่อเราประเมินได้ครบและถูกต้อง โอกาสที่เราเลือกการลงทุนที่จะได้รับประโยชน์ และหลีกเลี่ยงการลงทุนที่เสี่ยง ก็จะถูกต้องมากยิ่งขึ้น หลังจากนั้นก็คงต้องไปเจาะความเสี่ยงในรายหลักทรัพย์ว่ามีความเสี่ยงเป็นอย่างไร คุ้มค่ากับการนำเงินไปลงทุนหรือไม่ ซึ่งจะช่วยปิดโอกาสในการลงทุนแล้วขาดทุนได้ค่อนข้างมาก

การวิเคราะห์ข้อมูลดังกล่าวจะช่วยให้เรามีข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนมากขึ้น ถ้าตัดสินใจลงทุนโดยไม่มีความรู้หรือข้อมูลย่อมเป็นการลงทุนที่เสี่ยงมากๆ ตามคำเตือนของ ก.ล.ต. ที่ว่า “การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน”