ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคกี่สมัย ปัญหาเรื่องค่าสินสอดระหว่างคู่รัก ก็ยังคงเป็นเรื่องที่หลายคนถกเถียงกัน ไม่ว่าจะเป็นควรให้เท่าไหร่ จ่ายแค่ไหนถึงพอดี รวมไปถึงเริ่มตั้งคำถามอีกด้วยว่าในยุคนี้ค่าสินสอดยังมีความจำเป็นอยู่อีกไหม?

วันนี้ aomMONEY เลยขอหยิบประเด็นนี้มาพูดคุยกันครับ

ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจก่อนว่า สินสอด คืออะไร ตามกฎหมายมาตรา 1437 ว.3 “สินสอด” คือ ทรัพย์สินที่ฝ่ายชายให้แก่บิดามารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม หรือผู้ปกครองฝ่ายหญิง แล้วแต่กรณี เพื่อตอบแทนการที่หญิงยอมสมรส โดยทรัพย์สินที่เป็นสินสอดเมื่อมอบให้แก่ผู้ปกครองของฝ่ายหญิงแล้ว จะตกเป็นกรรมสิทธิเด็ดขาดแก่ผู้รับโดยทันที

แล้วสินสอดมันยังจำเป็นในยุคนี้อยู่ไหม?

aomMONEY มองว่าเรื่องนี้มันแล้วแต่การตกลงกันและความพึงพอใจของแต่ละครอบครัวเลยครับ เพราะบางครอบครัวก็มองว่าสินสอดเป็นเรื่องควรทำตามประเพณี โดยฝ่ายชายเป็นผู้ให้ เนื่องจากสินสอดจะเป็นสิ่งที่สะท้อนว่าฝ่ายชายมีความพร้อมพอที่จะดูแลฝ่ายหญิงได้ โดยที่จำนวนอาจจะไม่ต้องมากมาย เพียงแค่เหมาะสมกับฐานะครอบครัวของทั้งคู่

แต่ในขณะที่อีกหลายๆ คนก็มองว่าค่าสินสอดนั้นถ้าจะมี ก็ควรช่วยกันเก็บเงินทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง ไม่ควรปล่อยให้ฝ่ายชายมารับภาระตรงนี้ฝ่ายเดียว จะบอกว่าเป็นค่าเลี้ยงดู ค่าน้ำนม ผู้ชายเองก็ต้องเติบโตมาโดยใช้เงินของพ่อแม่เหมือนกัน

แต่อีกกลุ่มก็จะมองว่า “ไม่จำเป็นต้องมีค่าสินสอดก็ได้” เพราะถ้าลองดูฝั่งประเทศอเมริกาหรือยุโรป การแต่งงานก็ไม่จำเป็นจะต้องมีค่าสินสอดใดๆ เพียงแค่มีงานแต่งเล็กๆ พอเป็นพิธีที่จะให้คนรับรู้ว่า เรากับคนรักได้ตกลงปลงใจกันที่จะใช้ชีวิตคู่แล้วก็พอ

ดังนั้นถ้าอยากจะหาข้อสรุปว่าสุดท้ายแล้วยุคนี้! ยังควรมีสินสอดอยู่ไหม คำตอบมันก็คงมีง่ายๆ แค่ว่า ขึ้นอยู่กับครอบครัวของคุณกับแฟนตกลงกัน โดยสิ่งที่สำคัญที่สุด ก็คือ ถ้าหากจะมีค่าสินสอดหรือจัดพิธีงานแต่งใดๆ เงินก้อนนั้นไม่ควรมาจากการกู้ยืมหรือทำให้ความรักที่มีต้องสะบั้นลง

อย่างไรก็ตาม ความคิดเห็นต่อเรื่องสินสอดเป็นมุมมองแต่ละบุคคล เพื่อนๆ คิดอย่างไรก็ลองแชร์กันมาดูครับ