หลายคนอาจจะมองว่า การทำประกันสุขภาพนั้นเป็นค่าใช้จ่ายที่สิ้นเปลืองและไม่จำเป็น เพราะมีประกันสังคมที่รักษาได้แทบจะครอบคลุมแล้ว จริงๆ การคิดแบบนี้ก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิดแต่อย่างใดครับ เพราะประกันสังคมก็คุ้มครองทั้งกรณีเป็นผู้ป่วยใน (แอดมิด) และ ผู้ป่วยนอก (รักษาแบบไม่นอนพัก)

และประกันสุขภาพก็มีค่าใช้จ่ายเบี้ยต่อปีที่ค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับรายได้ขั้นต่ำวันละ 300 บาท ของคนไทย

แต่หลายคนที่ใช้สิทธิประกันสังคม น่าจะเคยเจอปัญหาการรอคิวนาน เสียเวลารอหลายชั่วโมง แต่พบหมอจริงๆ ไม่ถึง 10 นาทีเท่านั้น ซึ่งถ้าใครพอมีกำลังจะจ่ายไหว การทำ “ประกันสุขภาพ” ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจไม่น้อย

ด้วยเหตุผลเพราะ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการใช้สิทธิรักษานอกจากประกันสังคม สามารถช่วยคัฟเวอร์ค่าใช้จ่ายกรณีเจ็บป่วย/อุบัติเหตุ หรือถ้าวันไหนมีเวลาน้อย ก็เดินเข้าโรงพยาบาลเอกชนที่สะดวกรวดเร็วกว่าได้เลย เพราะยังไงประกันสุขภาพ OPD ก็จ่ายค่ารักษาพยาบาลให้อยู่แล้ว

แต่การเลือกซื้อ ต้องแน่ใจว่าดูเงื่อนไขความคุ้มครองที่ครอบคลุม คุ้มค่า มีหลายกรณีที่เราจะเจอว่า ความคุ้มครองที่ได้มีข้อจำกัด เช่น ครั้งละไม่เกิน 1,000 บาท หรือปีละไม่เกิน 12 ครั้ง ถ้าเงื่อนไขเหล่านี้ ซึ่งจะทำให้เวลาที่ต้องใช้ เราต้องออกส่วนต่างเองเพิ่มเติม ทำให้อาจจะไม่คุ้มค่าเท่าที่ควรจะเป็น ที่สำคัญยังสามารถเอาไปใช้ลดหย่อนภาษีได้

แล้วประกันสุขภาพแบบ OPD และ IPD แตกต่างกันอย่างไรล่ะ?

คำตอบง่ายๆ ครับ “OPD” มาจากคำว่า Out Patient Department หมายถึง ผู้ป่วยที่รับการรักษาที่คลินิกหรือโรงพยาบาล โดยไม่ต้องนอนพักรักษาตัว หรือที่เรียกว่า “ผู้ป่วยนอก” ส่วน “IPD” มาจากคำว่า In Patient Department หมายถึง ผู้ป่วยที่ต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลตั้งแต่ 6 ชั่วโมงขึ้นไป หรือที่เรียกว่า “ผู้ป่วยใน” นั่นเอง

ประกันสุขภาพที่คุ้มครองกรณี OPD คืออะไร?

“ประกันสุขภาพที่คุ้มครองกรณี OPD” คือประกันสำหรับผู้ป่วยนอก โดยให้ความคุ้มครองเมื่อเราไปรักษาที่โรงพยาบาลหรือคลินิก แล้วไม่ต้องนอนพัก ไม่ว่าจะป่วยเล็กๆ น้อยๆ หรือหมอนัดดูอาการ พูดง่ายๆ ก็คือไปหาหมอ ตรวจเสร็จ รับยา แล้วกลับบ้านเลย โดยไม่ต้องสำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลเอง แต่ต้องจ่ายส่วนต่างกรณีที่ค่าใช้จ่ายเกินวงเงินความคุ้มครองตามกรมธรรม์

ถ้ามีประกันสุขภาพ OPD ต้องเจ็บแค่ไหนถึงจะจ่าย?

ปกติแล้วประกันสุขภาพ OPD จะให้ความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาล รวมถึงค่าธรรมเนียมปรึกษาแพทย์ ค่าวินิจฉัยอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเจ็บมากหรือเจ็บน้อยก็ตาม (ขอแค่ไม่ต้องนอนพัก)

อย่างไรก็ตาม การทำประกันให้พิจารณาจากวัตถุประสงค์ของการทำประกัน ที่สำคัญ อย่าลืมประเมินกำลังทรัพย์ด้วยว่า สามารถจ่ายค่าประกันต่อปีไหวหรือไม่

ลงทุนเรื่องอื่นๆ แล้ว อย่าลืมลงทุนเพื่อสุขภาพครับ