ในฐานะพ่อแม่คนหนึ่งบอกเลยว่ายุคสมัยนี้เลี้ยงลูกไม่ง่าย

โลกที่ขับเคลื่อนด้วยวัฒนธรรมบริโภคนิยมเต็มไปด้วยสิ่งล่อตาล่อใจ กระตุ้นให้เด็กๆ อยากได้อยากมีอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการ์ดโปเกมอน ตุ๊กตาบาร์บี้ เฟอร์บี้ หรือ โตมาหน่อยก็ iPhone iPad และอื่นๆ อีกมากมาย เปิดทีวีก็เห็นโฆษณา ดูยูทูบก็มีอินฟลูฯเด็กมารีวิว บางทีเพื่อนที่โรงเรียนเอามาโชว์ เดินห้างเห็นป้ายลดราคา เข้าร้านสะดวกซื้อก็ยังไม่พ้น อยากได้อะไรเข้าแอปฯชอปปิงออนไลน์ กดสั่ง สองวันก็มาส่งหน้าบ้าน

ทุกอย่างสะดวก รวดเร็ว แต่ในขณะเดียวกันก็น่าเป็นห่วง

มีงานวิจัยหลายชิ้นที่บ่งบอกว่าวัตถุนิยมโฟกัสเพียงแค่ของที่มีหรือความร่ำรวยทำให้เกิดความเครียด กังวล และความรู้สึกเห็นแก่ตัวมากขึ้น

ประเด็นหนึ่งที่ทำให้เรื่องนี้มีความท้าทายมากขึ้นสำหรับพ่อแม่ยุคนี้คือนอกจากการป้องกันลูกๆ จากแรงกระตุ้นให้บริโภคที่ถาโถมเข้ามาแล้วใส่พวกเขาแล้ว ตัวเองก็ต้องเอาตัวให้รอดเช่นเดียวกัน เพราะสิ่งล่อตาล่อใจก็เยอะไม่แพ้กัน ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูกๆ ด้วย

อัลลิสัน พิว (Allison Pugh) ศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยาที่มหาวิทยาลัยเวอร์จิเนียและเป็นผู้เขียนหนังสือ “Longing and Belonging: Parents, Children, and Consumer Culture” บอกว่าสิ่งสำคัญคือการสื่อสารให้เด็กๆ เข้าใจเกี่ยวกับเรื่องโฆษณา สื่อออนไลน์ เงิน และความรู้สึกที่อยู่ข้างในว่าทำไมพวกเขาถึงต้องการของเล่น เกม หรือแกดเจ็ตพวกนั้น

พิวอธิบายว่าความต้องการของเด็กๆนั้นส่วนใหญ่เป็นความต้องการที่จะเป็นส่วนหนึ่งของสังคม “[พวกเขา] พยายามที่จะสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่นและสิ่งของเหล่านี้คือเครื่องมือที่พวกเขาใช้นั่นเอง”

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่าเหตุผลจริงๆ ที่เด็กอยากได้ของไม่ใช่ ‘อยากได้’ เพราะ ‘จำเป็น’ แต่ ‘อยากได้’ เพราะ ‘ไม่อยากแปลกแยกและอยากเป็นที่ยอมรับของกลุ่มเพื่อนๆ’ ซะมากกว่า

ส่ิงที่พ่อแม่ควรคุยกับลูกมี 3 ประเด็น

1. โฆษณา

สมัยก่อนโฆษณาก็คือโฆษณา มองก็รู้ แต่เดี๋ยวนี้โฆษณามักจะมาในรูปแบบ ‘โฆษณาแฝง’ เราอาจจะเห็นอินฟลูฯหรือดาราที่มีชื่อเสียงหยิบจับอันนั้นอันนี้มาใช้ในทีวี หรือบางทีดูวิดีโอแกะกล่องในยูทูบ หรือครั้งเป็นสปอนเซอร์โพสต์ในโซเชียลมีเดียที่ไม่ได้มาขายตรงๆ

สิ่งเหล่านี้ล้วนกระตุ้ความรู้สึกอยากได้ของเราทั้งสิ้น เด็กที่ยังเป็นเด็กเล็กวัยประถมอาจจะไม่ทราบว่ามันคือรูปแบบหนึ่งของโฆษณา เพราะมันเป็นสิ่งที่พวกเขาคุ้นชินและเห็นบ่อยๆ ถ้าคนที่พวกเขาชื่นชอบพูดหรือแนะนำสินค้าอะไรก็คล้อยทำตามได้ไม่ยาก สิ่งที่อยากชวนให้ลองทำคือการนั่งดูด้วยกันแล้วถามคำถามเช่น

“ลูกคิดว่าในวิดีโอนี้เขากำลังพยายามอยากให้ลูกทำอะไร?”

คำถามนี้จะสร้างทำให้พวกเขาเริ่มตั้งสังเกตและสงสัย เป็นเกราะป้องกันที่ดีสำหรับเด็กเล็กๆ

ส่วนเด็กโตวัยรุ่นหน่อยแม้จะพอรู้ว่ามันคือโฆษณา การที่พ่อแม่จะพูดแบบตรงไปตรงมาว่าห้ามซื้อหรือห้ามดู อาจส่งผลเสียมากกว่าผลดี เพราะจะทำให้เกิดแรงต่อต้านจากลูกๆ กลับมาได้ เพราะฉะนั้นต้องระวัง

ข้อดีคือเด็กที่โตสามารถอธิบายเหตุผลและความรู้สึกของตัวเองได้มากกว่า เพราะฉะนั้นสิ่งที่พ่อแม่ควรทำคือการลองถามความรู้สึกของพวกเขาหลังจากที่ใช้เวลาบนโซเชียลมีเดียเหล่านั้น ถ้าบอกว่าเศร้า เสียใจ หรือ อยากได้อยากมีตลอด นี่อาจจะเป็นจุดที่คุณสามารถแนะนำได้ว่า 'ลองใช้มันน้อยลงดูไหมเพราะมันไม่ได้ทำให้ลูกรู้สึกดีเลย'

2. เรื่องเงิน

เรื่องเงินจะไม่พูดไม่ได้เลย เพราะถึงแม้จะรู้เท่าทันสื่อและโฆษณาแฝงต่างๆ สุดท้ายก็ต้องเกี่ยวกับเงินอยู่ดี

ของเล่นหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อาจจะไม่ได้อยู่ในแผนการเงินของพ่อแม่ เพราะฉะนั้นถ้าเป็นสินค้าที่ราคาแพงอาจจะทำให้การเงินในบ้านตึงขึ้นมาได้ และถ้าไม่ซื้อให้เลยก็คงไม่ได้

ทีนี้เป็นหน้าที่ของพ่อแม่เองที่ต้องวางกรอบที่ชัดเจน อย่างเช่นเทคนิคที่ภรรยาผมใช้แล้วได้ผลมากๆ คือเวลาจะซื้อของเล่นชิ้นใหม่ให้ลูก จะมีการสร้างกรอบให้ชัดเจนว่า ‘ของหนึ่งชิ้นไม่เกิน 500 บาท’ แบบนี้เด็กจะรู้ทันทีว่าตัวเองได้ของแน่นอนและมีอิสระในการเลือกด้วย

อีกเทคนิคที่ผมใช้กับลูกสาววัย 7 ขวบคือการฝึกให้เขารอ สมมุติว่าวันนี้เขาอยากได้ของเล่นสักชิ้นหนึ่ง ผมจะถามเขาว่า “ของเล่นชิ้นนี้หนูรอให้ถึงวันเกิด (หรือวันคริสต์มาส) ได้ไหม? สัญญาว่าจะซื้อให้ แต่ถ้าถึงตอนนั้นแล้วหนูไม่อยากได้แล้ว ก็จะเอาเป็นเงินเท่าราคาของชิ้นนี้ก็ได้”

มันไม่ใช่การปฏิเสธโดยตรงและเป็นการมอบทางเลือกให้กับเขาด้วย

ไม่ต้องห่วงครับ เด็กๆ จำแม่นมาก และพอถึงเวลาจริงๆ คุณต้องทำตามสัญญานั้นด้วย

ส่วนถ้าเด็กโตหน่อย วิธีที่เตี่ยใช้สอนผมตอนเป็นวัยรุ่นคือให้เก็บเงินค่าขนมซื้อของที่อยากได้ อะไรก็ตามที่นอกเหนือจากค่าใช้จ่ายสำหรับโรงเรียน เขาก็จะให้ผมจัดการเอง ถ้าอยากได้อะไรก็ซื้อด้วยเงินของตัวเอง แต่ที่สำคัญคือเขาจะถามคำถามนี้ว่า “มันจำเป็นจริงๆใช่ไหมถึงจะซื้อ?”

เขาไม่ได้ห้าม แต่ทุกครั้งที่ผมจะซื้ออะไรมักจะได้ยินเสียงเตี่ยลอยมาในหัวเสมอ บ่อยครั้งเสียงนั้นก็จะช่วยหยุดไม่ให้ซื้อของที่ไม่จำเป็นได้บ่อยเลยทีเดียว

3. ความรู้สึกของลูก

สองเรื่องแรกว่าสำคัญแล้ว ประเด็นที่สามสำคัญยิ่งกว่า เพราะการคุยกับลูกเรื่องความรู้สึกจะเปิดประตูไปสู่เบื้องหลังการตัดสินใจ ความคิด และสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตของเขาด้วย

พิว บอกว่า “เด็กไม่ได้พยายามจะเอาชนะคนอื่นโดยการมีของดีที่สุดหนอก สิ่งที่พวกเขาพยายามจะทำคือการมีของเหมือนกับคนอื่นๆ มันคือการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม”

บางครั้งเด็กจะรู้สึกเหมือนตัวเองต่ำต้อย โดนล้อหรือบูลลี่ถ้าไม่มีของเล่นหรืออุปกรณ์บางอย่าง สิ่งที่สำคัญสำหรับพ่อแม่ในขั้นตอนนี้คือการแสดงความเห็นอกเห็นใจลูก เข้าใจเขา หาเหตุผลว่าอะไรกันแน่ที่เกิดขึ้น “เรื่องนี้ดูสำคัญกับลูกมากเลยนะ ลองอธิบายให้ พ่อกับแม่ฟังได้ไหมว่าเกิดอะไรขึ้น?”

นั่นไม่ได้หมายความว่าตรงนี้คุณจะต้องซื้อของให้นะ แต่การแสดงออกว่าสิ่งที่พวกเขารู้สึกเป็นเรื่องเข้าใจได้ ลองคุยหรือหาทางออกร่วมกัน ช่วยให้เด็กรู้สึกว่ามีคนรับฟังและเข้าใจ รู้ว่าตัวเองไม่ได้แปลกแยกหรือต่ำต้อยจากคนอื่นๆ

พ่อแม่เองก็ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูกๆ ไม่อยากให้ลูกคล้อยตามไปกับโลกวัตถุนิยมมากเกินไป ผู้ใหญ่ก็ต้องทำให้ได้ด้วย ไม่ใช่เห็นอะไรอยากได้ก็ซื้อ เห็นของลดราคาก็ต้องรูดบัตร แบบนี้สุดท้ายพูดอะไรเด็กคงไม่ได้รับฟังสักเท่าไหร่

สุดท้ายมันเป็นไปไม่ได้ที่จะหลบเลี่ยงหรือหนีจากวัฒนธรรมบริโภคนิยมซะทั้งหมด บางทีคุณอาจจะไม่เคยให้ลูกดูการ์ตูนโปเกมอนเลย วันหนึ่งกลับมาที่บ้านเห็นภาพวาดในสมุดลูกเต็มไปด้วยโปเกมอนเพราะไปดูกับเพื่อนที่โรงเรียน หรือวันหนึ่งเขามาขอซื้อ iPhone เพราะต้องใช้คุยติดต่อกับเพื่อนๆ ทำงานโรงเรียน มันเกิดขึ้นได้

มีบ้างมันไม่เป็นไรหรอก โลกเป็นแบบนี้ เพียงแต่ว่าเราต้องเลือกว่าจะรับมือกับมันยังไงให้ดีที่สุดเท่านั้น