“ชีวิตของเธอจบแล้ว นี่คือจุดต่ำสุดจริง ๆ”
นั่นคือสิ่งหลายคนพูดกับ เอมิลี่ โอไบรอัน (Emily O’Brien) ตอนที่เธอถูกจับข้อหาลักลอบขนยาเสพติด (โคเคน) ข้ามประเทศในวัย 26 ปี ในปี 2015
เธอยอมรับว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมาจากการตัดสินใจผิดพลาดหลาย ๆ อย่าง ตั้งแต่ติดยาเสพติดและแอลกอฮอล์ แฟนเก่าที่คบหาด้วยที่ชักชวนให้เธอช่วยขนยา จนสุดท้ายก็ถูกจับได้คาหนังคาเขาที่สนามบินในแคนาดา และถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลาสี่ปี
การถูกจับครั้งนั้นเหมือนเป็นการถูกความจริงตบหน้าฉาดใหญ่ เธอรู้ตัวเลยว่าถ้าปล่อยไปเรื่อย ๆ อย่างนี้ชีวิตเธอก็คงจบแล้วเหมือนอย่างที่คนอื่นว่ากัน แทนที่จะโกรธ โทษคนนั้นคนนี้ หรือสถานการณ์ที่ทำให้เธอต้องมาถึงจุดนี้ เธอกลับยอมรับผิดแล้วมองว่านี่คือโอกาสในการเริ่มใหม่อีกครั้งหนึ่ง
คาร์ล บาร์ด (Carl Bard) นักเขียนชาวอเมริกันเคยบอกว่า
“แม้ไม่มีใครที่จะย้อนกลับไปและเริ่มใหม่ได้ แต่ทุกคนสามารถเริ่มตอนนี้และสร้างตอนจบแบบใหม่ได้อยู่”
นั่นคือสิ่งที่เธอทำ
Comeback_Snacks
“การเยียวยารักษาสภาพจิตใจมาพร้อมกับความรับผิดชอบ การขอโทษ และความอดทน” โอไบรอันกล่าวในการให้สัมภาษณ์
หลังจากเข้ามาอยู่ในคุกเธอก็เริ่มกลับมาใช้เวลากับตัวเอง อ่านและเขียนมากขึ้น และไม่นานต่อจากนั้นก็เริ่มคิดต่อไปแล้วว่า “แล้วออกไปจะไปทำอะไร?”
ในปี 2018 ระหว่างที่นั่งดูการแข่งขัน Super Bowl (ปกติจะมีการแข่งขันกันช่วงต้นปี) กับเพื่อน ๆ ของเธอในคุกซึ่งทุกคนก็จะเอาขนมมานั่งแบ่งกันทาน ซึ่งหนึ่งในขนมที่ทุกคนชื่นชอบก็คือป็อปคอร์นที่รสชาติแตกต่างกันไป แต่ละคนก็จะมีการปรุงรสในแบบของตัวเอง เอาผงพริกปาปริกามาโรย บ้างโรยชีส หรือผงปรุงรสอื่น ๆ มาผสมกัน ซึ่งนั่นกลายเป็นจุดเริ่มต้นของไอเดียของธุรกิจขนมป็อปคอร์น “Comeback Snacks”
การทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จไม่ใช่เรื่องง่าย แต่มันจะยากกว่ามากถ้าคุณต้องเริ่มระหว่างที่อยู่ในคุก
แต่โอไบรอันแสดงให้เห็นแล้วว่าด้วยความมุ่งมั่นและไม่ย่อท้อ มีเป้าหมายชัดเจนกับสิ่งที่ต้องการทำจริง ๆ มันเป็นไปได้
หลังจากไอเดียเกิดขึ้น เธอก็รีบโทรไปหาเพื่อนชื่อ ไรอัน ฮอลล์ (Ryan Hall) ที่อยู่ข้างนอกคุกเพื่อให้หาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับตลาดและคู่แข่งในธุรกิจนี้ ฮอลล์ (ซึ่งเป็นเพื่อนและตอนนี้ก็เป็นพาร์ตเนอร์ในธุรกิจนี้ด้วย) ก็รีบไปหาข้อมูลและความเป็นไปได้ส่งให้เธอ
ภายในเดือนกรกฎาคม 2018 โอไบรอันก็เริ่มต้นธุรกิจโดยตั้งชื่อบริษัทว่า Cons & Kernels (Cons ในที่นี้เล่นกับคำว่า Corn ที่แปลว่า ข้าวโพด แต่ใช้คำว่า Cons ที่เป็นคำย่อของคนที่ติดคุก Convicts มาเรียกแทน)
โดยตอนนั้นกรมราชทัณฑ์ของแคนาดาก็ทำการตรวจสอบและอนุญาตให้เธอทำธุรกิจได้ ช่วงเดือนกันยายนปีเดียวกันโอไบรอันก็จัดงานกิจกรรมสำหรับธุรกิจแล้วก็ได้รับอนุมัติเป็นกรณีพิเศษให้ออกมาร่วมได้หนึ่งวัน และเมื่อได้รับการปล่อยตัวในเดือนธันวาคม 2018 โอไบรอันก็พร้อมที่จะทุ่มสุดตัวให้กับธุรกิจนี้แล้ว
เธอให้สัมภาษณ์บอกว่า “ฉันมีเงินไม่ถึง 3,500 บาทด้วยซ้ำในการเริ่มต้นทำธุรกิจ ต้องใช้ทรัพยากรเท่าที่มีเท่านั้น แต่มันก็ทำได้”
ซึ่งในตอนนี้ขนมป็อปคอร์นที่ชื่อว่า “Comeback Snacks” ได้วางขายในซูเปอร์มาร์เก็ตกว่า 700 แห่งทั่วประเทศแคนาดาแล้ว
การเริ่มใหม่อีกครั้ง
เมื่อถูกถามว่าเธอมองประสบการณ์ที่อยู่ในคุกให้เป็นโอกาสครั้งใหม่ได้ยังไง
โอไบรอันบอกว่า “หลังจากที่โดนจับ คนก็จะพูดกับฉันว่า ‘ชีวิตของเธอจบแล้ว นี่คือจุดต่ำสุดจริง ๆ’” แต่นั่นไม่กลายเป็นเหมือนเชื้อไฟให้เธอลุกขึ้นมาสู้ใหม่อีกครั้ง “เพื่อพิสูจน์ว่าพวกเขาคิดผิด”
ระหว่างที่อยู่ในคุกเธอนอกจากการอ่านและการเขียนที่ช่วยให้เธอใช้เวลาอย่างเป็นประโยชน์แล้ว เธอยังคอยโทรและเขียนจดหมายหาคนที่มีชื่อเสียงในด้านธุรกิจเพื่อสร้างคอนเน็กชันและบอกเล่าเรื่องราวของเธอด้วย
“ถ้าคุณอยากจะให้ธุรกิจของคุณมีความหมายและรู้สึกภูมิใจกับมัน มันต้องเชื่อมตัวคุณในอดีตและอนาคต ไม่ว่าอดีตจะเลวร้ายแค่ไหนก็ตาม”
ลอว์เรนซ์ ฮิลล์ (Lawrence Hill) ซึ่งเป็นนักเขียนขายดีชาวแคนาดาก็เขียนจดหมายตอบกลับมาหาโอไบรอันและมีนัดเจอกันหลังจากที่เธอออกจากคุกด้วย อีกคนหนึ่งคือ เดวิด ชิลตัน (David Chilton) กรรมการคนหนึ่งจาก ‘Dragons’ Den’ รายการธุรกิจโทรทัศน์เรียลลิตี้ของอังกฤษ ที่ไม่เพียงแต่เขียนจดหมายตอบโอไบรอันเท่านั้น แต่ยังกลายเป็นผู้แนะนำทางธุรกิจให้เธออีกด้วยในเวลาต่อมา
แทนที่จะหลบซ่อนตัวไม่ยอมเปิดเผยอดีตที่น่าอาย โอไบรอันใช้มันให้เป็นขุมกำลังเพื่อผลักตัวเองออกจากจุดที่ต่ำที่สุดของชีวิต เธอรู้ดีว่าเรื่องราวทุกอย่างที่เธอเจอนั้นสามารถทำให้คนสนใจและนำไปเล่าต่อได้เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนอื่น เงินทุกบาทที่สร้างมาตั้งแต่วันแรกก็ถูกนำไปพัฒนาธุรกิจและขยายแบรนด์ออกไปเรื่อย ๆ โดยไม่จำเป็นต้องกู้เงินเลยสักครั้ง
ช่วยเหลือคนที่อยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก
การประสบเหตุการณ์ที่เลวร้ายกับตัวเองทำให้โอไบรอันเข้าใจเป็นอย่างดีว่าเมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ที่ลำบากอย่างการอยู่ในคุก มันยากมากที่จะเห็นโอกาสและเส้นทางที่จะเดินต่อไปจากนี้
ด้วยความที่โอไบรอันและฮอลล์ยังถือหุ้นของบริษัท 100% ทำให้พวกเขาสามารถทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์และพนักงานในแบบที่ตัวเองต้องการได้ โอไบรอันจึงตัดสินใจว่าจะมอบโอกาสให้กับทุกคนเท่า ๆ กันที่มาทำงานร่วมกับเธอ พนักงานทุกคนไม่ว่าจะเคยติดคุกมาก่อนหรือไม่ก็ตาม ถ้าอยากทำงานและเหมาะกับตำแหน่ง เธอจะพิจารณาทั้งหมดเหมือนกัน
แม้จะทราบดีว่ามันเป็นความเสี่ยงที่มากขึ้นในการทำงานร่วมกับคนที่เคยติดคุกมาก่อน เพราะแต่ละคนอาจจะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ต่างกัน มีโอกาสกลับไปทำผิดซ้ำ หรือมีสภาพจิตใจที่ไม่ได้สมบูรณ์มากนัก แต่เธอเชื่อว่าการที่เธอเปิดรับและรับฟังปัญหาของคนอื่น ๆ ที่มาทำงานร่วมกับเธอนั้นจะช่วยสร้างพื้นที่ที่เสริมพลังบวกให้พวกเขามีส่วนร่วมในการทำงานมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงในระดับส่วนตัวด้วย
โอไบรอันบอกว่า
“มันมีหลาย ๆ ที่ที่ฉันสามารถช่วยให้พวกเขาไปทำงานได้ ร้านอาหารขนาดเล็ก คาเฟ่ หรือบางทีก็ช่วยเชื่อมให้พวกเขาไปเรียนต่อก็ได้เช่นกัน ซึ่งสำคัญมาก ๆ”
Cons & Kernels กลายเป็นบริษัทที่เปิดพื้นที่ให้ทุกคนสามารถเป็นตัวเองได้ ไม่ต้องปิดบังอดีตที่ผ่านมา และใครมีปัญหาอะไรก็สามารถพูดได้อย่างเปิดใจและซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกของตัวเอง
“มันไม่เพียงปลอบประโลมรักษาแผลในจิตใจเท่านั้น แต่มันยังทำให้รู้สึกมีพื้นที่ของตัวเองด้วย”
ความรู้สึกภูมิใจและคุณค่าของธุรกิจที่เธอสร้างขึ้นมานั้นได้ช่วยให้คนอื่น ๆ กลับมามีส่วนร่วมกันโลกของเราได้อีกครั้ง ทำให้บริษัทเติบโตและประสบความสำเร็จ ไม่ใช่แค่บริษัทที่อยู่ในตลาด แต่รวมไปถึงคนที่อยู่ในบริษัทด้วย เพราะทุกคนเคยผิดพลาด และควรได้รับโอกาสครั้งที่สองเพื่อแก้ตัว
โอไบรอันเรียกสิ่งนี้ว่า “ผลกำไรทางความรู้สึก” (Emotional Profit)
เพราะสำหรับเธอแล้ว แม้ผลกำไรทางตัวเลขจะเป็นเรื่องสำคัญ สิ่งที่จะทำให้ธุรกิจนี้ประสบความสำเร็จจริง ๆ มันต้องมาพร้อมกับผลกำไรทางความรู้สึกพร้อมกันด้วย
อีกอย่างหนึ่งที่โอไบรอันกล่าวตอนถูกถามว่าเธอทำยังไงถึงเปลี่ยนช่วงเวลาที่แย่ที่สุดในชีวิตให้เป็นความสำเร็จได้
โอไบรอันคิดแป๊บหนึ่งแล้วตอบว่า
“นี่คือจุดต่ำสุดแล้ว ทางเดียวที่จะไปได้คือกลับข้างบนเท่านั้น”