ถ้า “วันนี้มีหัวหน้าให้เงินพิเศษ 500 บาท เอาไปซื้ออาหารกลางวัน คุณจะรู้สึกยังไง?” ก็คงดีใจประมาณหนึ่ง
แต่ถ้า “วันนี้เจอใบสั่งจอดรถเส้นขาวแดง ต้องจ่ายเงินค่าปรับ 500 บาท คุณจะรู้สึกยังไง?” อันนี้โกรธปื้ด ๆ หน้าแดง เปลี่ยนวันนั้นเป็นวันแย่ ๆ ได้เลยทีเดียว
นั่นคือสิ่งที่เรียกว่า “Loss Aversion” หรือ การกลัวความสูญเสีย นั่นเองครับ
คำพูดนี้มาจาก ‘แดเนียล คาฮ์นะมัน’ (Daniel Kahneman) นักจิตวิทยาผู้มีชื่อเสียง เขาบอกว่า
“คนเราเสียใจกับการสูญเสีย มากกว่าดีใจกับการได้รับ”
ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของเราบ่อย ๆ ลองนึกถึงเกมการแข่งขันฟุตบอลก็ได้ครับ ทำไมทีมฟุตบอลที่แข่งในบ้านถึงมีความฮึกเหิมและอยากเอาชนะมากกว่าตอนไปเป็นทีมเยือน?
เหตุผลก็เพราะไม่อยากถูกมองว่าตัวเองพ่ายแพ้ในบ้าน ต่อหน้าแฟน ๆ ที่เสียเงินเข้ามาดู มันน่าอายมากกว่าการไปแพ้นอกบ้านนั่นแหละ ทั้ง ๆ ที่การแพ้ที่บ้านหรือนอกบ้าน ก็คือการแพ้เช่นเดียวกัน
นักกีฬาส่วนใหญ่เลยรู้สึกฮึกเหิม อยากเอาชนะเมื่อเล่นในบ้าน พยายาม ‘หลีกเลี่ยง’ ความเจ็บปวดของการพ่ายแพ้ต่อหน้าแฟน ๆ ใช้ความกลัวตรงนั้นขับเคลื่อนให้ดึงศักยภาพออกมาให้มากที่สุด
สำหรับนักกีฬามันอาจจะมีประโยชน์ แต่ในเชิงการลงทุน การกลัวการสูญเสียกลับมีโอกาสทำให้เราเสียหายมากกว่าเดิมซะอีก
มาดูกันว่าทำไม
มีการศึกษาชิ้นหนึ่งเขียนโดย Richard Thaler ในปี 1997 อธิบายว่าความเกลียดชังการสูญเสียส่งผลกระทบต่อนักลงทุนเพราะ “*ความรู้สึกกังวลเกี่ยวกับสูญเสียมากกว่าการได้กำไรทำให้มีแนวโน้มคอยประเมินผลลัพธ์บ่อยครั้งเกินไป*”
พูดอีกอย่างหนึ่งคือนักลงทุนที่กังวลและกลัวการสูญเสีย จะคอยเช็คพอร์ตของตัวเองอยู่ตลอดเวลา เมื่อไหร่ก็ตามที่พอร์ตเริ่มมีสีแดงก็จะรู้สึกเจ็บปวดมาก ๆ ซึ่งเราก็ทราบดีว่าตลาดที่มีความผันผวนยิ่งทำให้เห็นตัวแดงอยู่บ่อย ๆ แม้เราจะรู้และได้ยินมาตลอดว่าในระยะยาวแล้วตลาดจะเติบโตขึ้น แต่ด้วยสายตาระยะสั้นและสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นตรงหน้า ตัวเลขสีแดง ๆ นี่แหละที่ทำให้การตัดสินใจอาจจะผิดพลาดได้ ขายทิ้งไปก่อนเพราะกล้วติดลบตัวแดง
แต่อย่าเพิ่งตีอกชกหัว อารมณ์เสียกับเรื่องนี้ครับ เรื่องนี้ที่จริงเกิดขึ้นได้กับทุกคนนั่นแหละ
1. เราได้รับข่าวสารอยู่ตลอดเวลา
2. เข้าถึงพอร์ตได้ง่ายแค่ปลายนิ้ว
เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราต้องทำคือเข้าใจว่าการกลัวความสูญเสียเป็นเรื่องที่เจอกันทุก ๆ วัน ลองดูอย่างการขายประกันก็ได้ครับ เราจะเห็นว่าพวกเขาเล่นกับความกลัวในชีวิตของเราเช่นกัน ถ้าบ้านไฟไหม้? ถ้ารถชน? ถ้าเกิดอุบัติเหตุจนไม่สามารถทำงานได้?
บริษัทประกันก็ใช้มันเพื่อขายผลิตภัณฑ์ให้กับลูกค้าโดยใช้วิธีนี้ เพราะเรากลัวการสูญเสีย
ไม่ได้หมายความว่าบริษัทประกันไม่ดี เพียงแต่อยากชี้ให้เห็นว่าสิ่งเหล่านี้อยู่รอบ ๆ ตัวเรานี่แหละ (ดูอย่างการซื้อบริการประกัน AppleCare+ ของผลิตภัณฑ์ Apple ก็ยังได้)
มีการวิจัยครั้งหนึ่งในปี 2015 เพื่อพิสูจน์ว่าความกลัวการสูญเสีย โน้มน้าวพฤติกรรมของเราได้ยังไง
ผู้เข้าร่วมการทดลองจะได้รับเงินประมาณ 70 บาท หลังจากนั้นจะถูกแบ่งออกเป็นสองกลุ่มเพื่อให้ทำแบบทดสอบเกี่ยวกับสุขภาพ
- กลุ่มแรกถ้าทำแบบทดสอบจะได้รับการประกันว่าจะ ‘ไม่เสีย’ เงิน 1% ของ 70 บาทนั้น
- กลุ่มที่สองถ้าทำแบบทดสอบจะได้เงิน 1% ของ 70 บาท (หรือ 70 สตางค์นั่นเอง)
ผลที่ออกมาคือกลุ่มแรกทำแบบทดสอบมากกว่ากลุ่มที่ 2 ถึง 70% เพราะไม่อยากเสียเงิน 1% แต่ พอเปลี่ยนไปได้รับเงิน 1% ก็ไม่อยากทำเพราะมันน้อยมาก ๆ
นี่คืออิทธิพลของความกลัวการสูญเสียที่ฝังอยู่ในตัวเราโดยอาจจะไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ
แล้วเราจะรับมือกับเรื่องนี้ยังไงดีล่ะ? สำหรับคนที่มีเงินหรือร่ำรวยอยู่แล้ว การกลัวความสูญเสีย ไม่ค่อยกระทบกับพวกเขานัก เพราะถ้าเงินไม่ใช่ปัญหา เสียก็ชีวิตไม่ได้เดือดร้อนอะไร (ถ้าอีลอน มัสก์ (Elon Musk) ซื้อ Twitter ด้วยเงิน 44,000 ล้านเหรียญ แล้วสุดท้ายไปไม่รอด เขาก็ยังมีเงินใช้ไปตลอดชีวิตอยู่ดี ประมาณนั้น)
แต่สำหรับคนทั่วไป ก็ลองขั้นตอนนี้ก็ได้ครับ ถามตัวเองสามข้อ
1. สิ่งที่แย่ที่สุดที่จะเกิดขึ้นคืออะไร?
2. มีโอกาสจะเกิดขึ้นแค่ไหน?
3. ชีวิตจะตกต่ำเลยไหมถ้ามันเกิดชึ้น?
สมมุตเหตุการณ์ซื้อประกัน AppleCare+ สำหรับ iPhone 14 Pro Max เครื่องใหม่ ราคา 8,290 บาท สิ่งที่แย่ที่สุดที่จะเกิดขึ้นคือ iPhone หล่น แตก เสียหายแล้วต้องซ่อม แล้วจะเกิดขึ้นบ่อยไหม? ถ้าใส่เคส ติดกระจกแน่นหนา ความเสียหายถ้าตกอาจจะไม่รุนแรงขนาดนั้น สุดท้ายแล้วถ้ามันหล่นมีรอยบ้าง แต่ยังใช้งานได้ชีวิตจะแย่ไปเลยไหม?
ลองออกมาชั่งน้ำหนักและตอบคำถามเหล่านี้ดู บางคนอาจจะบอกคุ้ม บางคนอาจจะบอกว่าเก็บเงิน 8,290 บาท เอาไว้ดีกว่า
สิ่งสำคัญอีกอย่างคืออย่ากังวลถึงความผิดพลาดที่ยังไม่เกิดขึ้น ถ้าเราคิดว่าพอร์ตจะแตก หุ้นจะร่วงหนัก (อาจจะเพราะเคยผ่านมาแล้ว) แน่นอนการลงทุนยังไงก็มีความเสี่ยง แต่ยิ่งเราวนเวียนอยู่กับความคิดเชิงลบในหัว เรายิ่งตัดสินใจได้แย่ลงไปด้วย