ความรักเป็นสิ่งที่สวยงามเสมอ แต่ก็ไม่มีใครรู้ได้ว่าความสวยงามนั้นจะจางหายไปเมื่อไร ซึ่งถ้าดูจากสถิติสำนักทะเบียนราษฎร กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ประมวลผลโดยกองพัฒนาข้อมูลและตัวชี้วัดสังคม สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ย้อนหลัง 5 ปีนับจากปี 2560-2564 พบว่า สถิติการ “หย่าร้าง” อยู่ระหว่าง 39-46% จนเกือบจะ 50% ของคนที่จดทะเบียนสมรส ทำนองที่ว่า แต่ง 2 คู่ หย่า 1 คู่

2560 สมรส 297,501 คู่ หย่าร้าง 121,617 คู่ (40.88%)
2561 สมรส 307,936 คู่ หย่าร้าง 127,265 คู่ (41.33%)
2562 สมรส 328,275 คู่ หย่าร้าง 128,514 คู่ (39.15%)
2563 สมรส 271,344 คู่ หย่าร้าง 121,011 คู่ (44.60%)
2564 สมรส 240,979 คู่ หย่าร้าง 110,942 คู่ (46.04%)

เมื่อการอัตราหย่าร้างสูงขนาดนี้ จะมีคู่ทั้งที ก็ต้องวางแผนเผื่อหย่าไว้ด้วย จึงทำให้คนที่จะมีคู่ ต้องชั่งใจให้หนักเลยว่า จะจดทะเบียนสมรสดี หรือ ไม่จดดี งั้นวันนี้เรามาดู ข้อดีข้อเสียของการจดกับไม่จดทะเบียนสมรสกันนะ แล้วค่อยตัดสินใจจะจดหรือไม่จด

จดทะเบียนสมรส คืออะไร?

สำหรับการจดทะเบียนสมรสเป็นการทำนิติกรรมตามกฎหมายอย่างหนึ่ง เป็นการยืนยันความสัมพันธ์ของคู่แต่งงานอย่างเป็นทางการและถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้ทะเบียนสมรสเป็นหลักฐานที่ใช้สำหรับการยืนยันสิทธิต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างสามีภรรยาได้ เช่น การรับรองบุตร ซึ่งจะทำให้บุตรได้รับสิทธิต่างๆ ตามกฎหมาย การแบ่งสินสมรส การฟ้องหย่าในกรณีสามีหรือภรรยามีชู้ เป็นต้น

ทะเบียนสมรสจะมีผลทางกฎหมายหรือมีอายุยาวตลอดไปจนกว่าจะมีการจดทะเบียนหย่าซึ่งก็เป็นนิติกรรมตามกฎหมายเหมือนการจดทะเบียนสมรสเช่นกัน การจดทะเบียนหย่าจึงต้องเป็นไปตามข้อตกลงของทั้งสองฝ่าย หรือถ้าไม่สามารถตกลงกันได้ก็ต้องมีการฟ้องหย่าโดยให้ศาลเป็นผู้พิจารณา รวมถึงการหาข้อตกลงต่างๆหลังการหย่า เช่น การแบ่งสินสมรส สิทธิการดูแลบุตร ค่าเลี้ยงดู เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า การจดทะเบียนสมรสนั้นนอกจากจะเป็นเรื่องของคน 2 คนสมัครใจใช้ชีวิตด้วยกัน ยังเป็นเรื่องของกฎหมายด้วยเช่นกัน ดังนั้นเมื่อจะตัดสินใจแยกกัน จึงต้องดำเนินการจดทะเบียนหย่าตามกฎหมาย จะโดยสมัครใจหรือดำเนินการทางศาลก็แล้วแต่คู่ใครคู่มัน ดังนั้น เมื่อคิดจะจดทะเบียนสมรสจึงต้องพิจารณาผลทางกฎหมายให้ดีๆ

ข้อดีของการจดทะเบียนสมรส

ในแง่กฎหมายแล้ว จะค่อนข้างเอื้อประโยชน์ให้คู่สมรสที่จดทะเบียนสมรสค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการจัดการธุระต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับด้านกฎหมาย มากมาย ไม่ว่าจะเป็น

( 1 ) ทะเบียนสมรสเป็นเอกสารทางกฎหมายที่ใช้สำหรับการยืนยันสิทธิต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างสามีภรรยา เช่น การรับรองบุตร ซึ่งจะทำให้บุตรได้รับสิทธิต่างๆ ตามกฎหมาย การแบ่งสินสมรส การฟ้องหย่าในกรณีสามีหรือภรรยามีชู้ ฯลฯ

( 2 ) ทำให้สามีภรรยามีสิทธิจัดการสินสมรสร่วมกันได้

( 3 ) ทำให้สามีหรือภรรยา และบุตร มีสิทธิรับมรดกของคู่สมรสเมื่ออีกฝ่ายเสียชีวิตไปก่อน

( 4 ) มีสิทธิรับเงินจากทางราชการหรือนายจ้าง เช่น กรณีที่คู่สมรสตายเพราะปฏิบัติหน้าที่ หรือจากการทำงาน (บำเหน็จตกทอด) หรือการรับเงินสงเคราะห์บุตรตามกฎหมายแรงงาน

( 5 ) มีสิทธิฟ้องร้อง ดำเนินคดี เรียกค่าเสียหายหรือค่าทดแทน จากผู้ที่ทำให้คู่สมรสของตัวเองเสียชีวิตได้ เช่น สามีโดนรถชน ภรรยาสามารถเรียกค่าเสียหายถึงชีวิตกับผู้ขับรถชนได้ หรือสามีโดนคนพูดจาหมิ่นประมาทว่าร้าย ภรรยาก็สามารถฟ้องหมิ่นประมาทฝ่ายตรงข้ามแทนสามีได้

( 6 ) หากพบว่าคู่สมรสมีชู้ สามารถเรียกค่าเสียหายได้ทั้งจากคู่สมรสของตัวเอง และเรียกค่าเสียหายได้จากชู้ด้วย

( 7 ) ทำให้บุตรที่เกิดมา มีฐานะเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ได้รับการลดหย่อนค่าภาษีเงินได้ลดหย่อนค่าภาษีเงินได้ หลังจากจดทะเบียนสมรสแล้ว ไม่ว่าฝ่ายไหนจะรายได้มากกว่ากัน ก็ลดหย่อนภาษีเงินได้ได้

( 8 ) บุตรที่เกิดมาเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฏหมายทั้ง 2 ฝ่าย และได้รับสิทธิด้านมรดกทันที

( 9 ) สามารถทำนิติกรรมต่างๆ หรือดำเนินการต่างๆ ด้านกฎหมายได้แทนคู่สมรส เช่น การฟ้องร้อง ดำเนินคดี ทดแทนคู่สมรสได้ หรือในกรณีที่ต้องได้เข้ารับการผ่าตัด ก็สามารถเป็นผู้เซ็นรับรองเอกสารการรักษาได้แทน ในกรณีที่คู่สมรสยังไม่ได้สติอีกด้วย

ข้อเสียของการจดทะเบียนสมรส

( 1 ) เมื่อจดทะเบียนสมรสแล้ว การทำนิติกรรมต่างๆตาม มาตรา 1476 [1] ต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งก่อนข้อดีก็ช่วยให้รอบคอบในการตัดสินใจมากขึ้น ข้อเสียก็คือ ทำให้ยุ่งยากมากขึ้น และหากคู่สมรสมีความเห็นไม่ตรงกัน ก็อาจทำให้ไม่สามารถทำธุรกรรมนั้นๆ ได้

( 2 ) ทรัพย์สินที่ได้มาหลังจากจดทะเบียนสมรสจะกลายเป็นสินสมรสทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นกรณีคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเป็นผู้หาทรัพย์สินนั้นแต่เพียงฝ่ายเดียวก็ตาม ซึ่งก็อาจก่อให้เกิดปัญหาในครอบครัวได้

( 3 ) เมื่อทรัพย์สินที่ได้มาหลังจดทะเบียนสมรสเป็นสินสมรส หนี้ที่ได้มาหลังจดทะเบียนสมรสก็เป็นหนี้สมรสเช่นกัน คือสามีภรรยาเป็นลูกหนี้ร่วมกัน เจ้าหนี้จึงมีสิทธิเรียกชำระหนี้นั้นจากสินสมรสและสินส่วนตัวของทั้ง 2 ฝ่ายได้

( 4 ) การจดทะเบียนสมรสทำให้สามีภรรยาที่ทำความผิดระหว่างกัน เช่น สามีขโมยเงินภรรยา ภรรยาบุกเข้าบ้านสามี ผู้ที่ทำผิดไม่ต้องรับโทษตามกฎหมาย

งั้นดูๆ แล้ว ไม่จดทะเบียนสมรสดีกว่าสิ จริงๆ ก็ไม่ใช่อย่างนั้นนะ การไม่จดทะเบียนสมรส ก็เหมือนคน 2 คนอยู่ด้วยกันเฉยๆ ไม่มีผลทางกฎหมายใดๆ ทั้งสิ้น อย่างเช่น ทรัพย์สินที่เกิดขึ้นหลังการอยู่ด้วยกัน ก็ไม่ถือเป็นสินสมรส เป็นของใครของมันเหมือนเดิม แต่หากเป็นทรัพย์สินที่ทำมาหาได้หลังอยู่ด้วยกัน ก็เป็นทรัพย์สินร่วม (ทรัพย์สินร่วม คือ ทรัพย์สินที่ทั้งสองร่วมกันหาจากการทำงาน ประกอบธุรกิจ หรือหาได้ระหว่างที่ใช้ชีวิตคู่ด้วยกัน รวมถึงกรณีที่ฝ่ายหญิงเป็นแม่บ้านทำหน้าที่เลี้ยงดูบุตร แม้จะไม่ได้ออกไปหารายได้ข้างนอก ก็ให้ถือว่าทรัพย์สินที่ทำมาหาได้เป็น "กรรมสิทธิ์ร่วม" ต้องแบ่งกันคนละครึ่ง แม้จะไม่ได้จดทะเบียนสมรสก็ตาม หากตกลงกันไม่ได้ อีกฝ่ายสามารถยื่นฟ้องศาลเพื่อบังคับให้อีกฝ่ายแบ่งทรัพย์สินให้กึ่งหนึ่งได้ หรือหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียชีวิต อีกฝ่ายมีสิทธิ์ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกได้) หนี้สินก็เหมือนกัน หนี้สินที่เกิดขึ้นหลังการอยู่ด้วยกัน ก็ไม่ถือเป็นหนี้สมรสเป็นของใครของมันเหมือนเดิม แต่หากเป็นหนี้สินที่ก่อขึ้นร่วมกันหลังอยู่ด้วยกัน ก็เป็นหนี้สินร่วม

ข้อดีของการไม่จดทะเบียนสมรส

( 1 ) ทรัพย์สินที่ต่างฝ่ายต่างทำมาหาได้ ก็อย่างเช่น เงินมรดก หรือเงินเดือนของแต่ละฝ่าย จะเป็นของผู้ที่หาได้เพียงผู้เดียว อีกฝ่ายจะไม่มีส่วนร่วมใด ๆ ในทรัพย์สินนั้น

( 2 ) หนี้สินที่ต่างฝ่ายต่างก่อ ก็จะเป็นหนี้ของผู้ก่อหนี้เพียงผู้เดียว อีกฝ่ายจะไม่มีส่วนร่วมใด ๆ ในหนี้สินนั้น

( 3 ) คู่สมรสแต่ละฝ่ายมีอิสระในการทำนิติกรรมต่างๆ เองได้

( 4 ) ไม่ต้องยุ่งยากเมื่อต้องเลิกรา

ข้อเสียของการไม่จดทะเบียนสมรส

เมื่อไม่จดทะเบียนสมรส แปลว่าคู่สามีภรรยาไม่มีผลทางกฎหมายร่วมกันเลย ดังนั้น

( 1 ) คู่สมรสจะไม่มีสิทธิอะไรในทรัพย์สินของคู่สมรสอีกฝ่ายเลย ยกเว้นแต่คู่สมรสทำพินัยกรรมทิ้งไว้ รวมถึงสิทธิต่างๆ ด้านการเช่น เช่น ไม่มีสิทธิได้รับมรดกของคู่สมรส, สิทธิได้รับเงินประกัน

( 2 ) กรณีที่มีบุตร จะมีความยุ่งยากในการทำเอกสารรับรองบุตร และฝ่ายหญิงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าอุปการะบุตรจากฝ่ายชาย

( 3 ) ไม่มีสิทธิฟ้องร้อง เรียกค่าเสียหาย หากอีกฝ่ายนอกใจได้

( 4 ) คู่สมรสต่างฝ่ายต่างทำนิติกรรมต่างๆ เองได้ ข้อดี คือ มีอิสระ ข้อเสียคือ ขาดคนมาช่วยพิจารณาเพื่อให้เกิดความรอบคอบ

( 5 ) คู่สมรสไม่สามารถทำธุรกรรมทดแทนกันไม่ได้

จะเห็นนะว่า จะจดทะเบียนสมรสหรือไม่ ก็มีทั้งข้อดี และข้อเสีย การเลือกจดทะเบียนสมรสหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับการวางแผนครอบครัวว่าเป้าหมายคืออะไร มีความเสี่ยงอะไรบ้าง จะบริหารเป้าหมายและความเสี่ยงนั้นอย่างไร

------------------------------------
หมายเหตุ : [1] มาตรา 1476 สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งในกรณีดังต่อไปนี้

( 1 ) ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จำนอง ปลดจำนอง หรือโอนสิทธิจำนอง ซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้

( 2 ) ก่อตั้งหรือกระทำให้สุดสิ้นลงทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งภาระจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกิน หรือภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์

( 3 ) ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินสามปี

( 4 ) ให้กู้ยืมเงิน

( 5 ) ให้โดยเสน่หา เว้นแต่การให้ที่พอควรแก่ฐานานุรูปของครอบครัวเพื่อการกุศล เพื่อการสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา

( 6 ) ประนีประนอมยอมความ

( 7 ) มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย

( 8 ) นำทรัพย์สินไปเป็นประกันหรือหลักประกันต่อเจ้าพนักงานหรือศาล การจัดการสินสมรสนอกจากกรณีที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง สามีหรือภริยาจัดการได้โดยมิต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง