เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมามีโอกาสไปร่วมงาน ‘มันนี่ที่รัก’ งานพูดคุยเสวนาเรื่องเงินที่จัดทางไทยรัฐมันนี่จัดขึ้นแล้ว aomMONEY ก็ไปร่วมแจมกับเขาด้วย

[สามารถชมย้อนหลังได้ที่คลิปในลิงก์นะครับ]

ประเด็นการพูดวันนี้คือเรื่อง ‘ความรักเงิน’ ซึ่งพอหลายคนได้ยินแบบนี้ก็รู้สึกว่า ‘เฮ้ย…ทุกคนก็ต้องรักเงินอยู่แล้ว แปลกตรงไหน?’

แต่นั่นถูกแค่ ‘ครึ่งเดียว’ ครับ

จริงอยู่ที่เราทุกคนรักเงิน แต่ประเด็นคือ ‘เรารักมันอย่างถูกต้องรึเปล่า?’

ความรักคือการกระทำไม่ใช่คำพูด

‘คุณหนึ่ง พนิดา ชูกุล’ เจ้าของเพจ MadamFinney ขึ้นมาแชร์ประสบการณ์ของตัวเอง เล่าว่าตั้งแต่เด็กเห็นพ่อทำงานหาเงินเก่ง ก็อยากทำแบบนั้นบ้าง เชื่อมาตลอดว่าการหาเงินให้ได้เยอะๆ คือคำตอบในเรื่องการเงิน

หลังจากตั้งใจเรียนจนจบและได้เข้ามาทำงานสายเงิน เงินเดือนสมัยตอนนั้นสิบกว่าปีก่อน 6 หลัก ถือว่าไม่น้อยเลย ศักยภาพมีเยอะมากๆ ทำงานหาเงินเก่งได้สำเร็จ

ปัญหาคือตอนนี้กลับบริหารเงินไม่ได้ ได้เงินเยอะ ก็ใช้เยอะ อยากได้อะไรก็รูดบัตรเครดิต มีกี่ใบก็รูดจนเต็มลิมิตทุกบัตร มีโปรโมชันอะไรรูดหมด จนกลายเป็นหนี้บัตรเครดิต 5 ใบไปเกือบล้าน

“เราหาได้ 100 แต่ดันไปใช้ 120 นี่แหละปัญหา”

เปรียบไปก็เหมือนถังน้ำที่มีรูรั่วอยู่ข้างล่าง ตักน้ำใส่เท่าไหร่ก็ไม่เต็มสักทีตราบใดที่เราไม่อุดรูรั่วตรงนั้นซะก่อน

ในหนังสือ “รวยด้วยเงินออมใครๆก็ทำได้” เคยพูดเอาไว้ได้อย่างตรงเผงเลยว่า

“ไม่มีชีวิตใครสมบูรณ์แบบ ได้ทุกสิ่งสมดังปรารถนาทุกประการบางคนจึงได้แต่เก็บความอยากนั้นไว้ และเมื่อมีรายได้เป็นของตัวเองก็จ่ายเพื่อแลกกับสิ่งที่เคยอยากได้ อยากเป็น หากควบคุมค่าใช้จ่ายได้ดีไม่กระทบกับสถานะทางการเงินก็ไม่เป็นปัญหา แต่หากใช้จ่ายโดยไม่สนใจวางแผนการเงินย่อมไม่ดีแน่ ดังนั้น สิ่งที่สำคัญคือการถามตัวเองก่อนควักกระเป๋าทุกครั้งว่า ‘ซื้อเพราะจำเป็นหรือแค่อยากได้’”

ไอ้ที่ทำให้มีปัญหาก็เพราะเจ้าสิ่งที่อยากได้นี่แหละครับ

เรารักเงินก็จริง รักมาก พยายามออกไปวิ่งตามหามัน แต่พอได้มาครอบครองกลับไม่ทะนุถนอม ดูแลเอาใจใส่ ปล่อยทิ้งๆ ขว้างๆ ตามมีตามเกิด

สมมุติเหตุการณ์เดียวกันถ้าคุณมีแฟน ตอนแรกทุ่มเททุกอย่างเพื่อให้ได้มา แต่หลังจากตกลงคบหากันเป็นแฟนก็ทิ้งๆ ขว้างๆ ไม่สนใจ คิดว่าอีกฝ่ายจะทนอยู่ได้นานแค่ไหนกัน

ความสัมพันธ์กับเงินก็เหมือนคนรักครับ ปากบอกว่ารัก แต่การกระทำมันไม่ใช่ สุดท้ายก็ต้องแยกจากกัน

รักเงินยังไงให้เงินรักเราบ้าง

แบบนี้เราต้องแสดงความรักเงินของเราแบบหวงแหนทุกบาททุกสตางค์ ขี้เหนียวไปเลยใช่ไหม?

ก็ไม่ใช่อีกนั่นแหละครับ “พี่ก้อย-วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ” แขกรับเชิญอีกคนหนึ่งก็บอกว่าการรักเงินที่ดีไม่ใช่การ ‘งกเงิน’ แต่เป็นการหาเงินเพื่อทำให้ชีวิตของตัวเองมีความสุขขึ้น แต่ไม่ใช้เงินเพื่อตัดสินใจทุกอย่างด้วยราคาเพียงอย่างเดียว

“รักคือรักแบบหวงแหน ใช้มันอย่างรู้คุณค่า ทำให้มันเกิดประโยชน์”

เพราะฉะนั้นการรักเงินที่ถูกคือทางสายกลาง ไม่ปล่อยปละละเลยจนเกินไป และในขณะเดียวกันก็ต้องไม่งกจนเข้าขั้นขี้เหนียวไปซะทุกอย่าง

แล้วทำยังไงละ?

1.เปิดใจรับความจริงก่อนว่าตอนนี้สถานะของเงินในชีวิตเราเป็นยังไง เช่นเรามีรายได้เท่าไหร่ หนี้เท่าไหร่ ภาระอันไหนที่ต้องดูแล ไลฟ์สไตล์ที่เราต้องการใช้เงินเดือนละเท่าไหร่ เงินเข้าออกตรงไหนบ้าง ฯลฯ

รู้ตัวเลขเหล่านี้เพื่อจะได้เห็นภาพกว้างๆ ก่อน เรียกว่าเอาไพ่ทุกใบมากางวางไว้บนโต๊ะนั่น (ถ้ามีแฟนหรือครอบครัวก็เอามานั่งคุยกันด้วยครับจะได้ช่วยกันได้)

2.ใส่ใจอยู่เป็นประจำ อย่าปล่อยทิ้งขว้าง อาทิตย์ละครั้งก็ได้มาตรวจสอบการเงินของตัวเอง ใช้ไปเท่าไหร่แล้ว เกินงบที่วางไว้ไหม มีรายได้พิเศษเพิ่มตรงไหน

ถ้าเราดู Netflix ได้วันละ 1 ชั่วโมง เราก็สละเวลานั้นสักวันหนึ่งมากระชับสัมพันธ์กับการเงินของเราได้เช่นกันครับ

3.ทำให้เงินเป็นเรื่องสำคัญ อยากมีความสัมพันธ์ที่ดีกับแฟน ก็ต้องให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าสำคัญ มีคนเคยบอกว่า “ความรักไม่ใช่ความรู้สึกแต่เป็นการตัดสินใจ” ซึ่งก็หมายความว่า หากเราจะรักแล้วก็ต้องตัดสินใจที่จะให้ความสำคัญกับสิ่งนั้น จะใช้เพียงความรู้สึกอย่างเดียวไม่ได้ เพราะความรู้สึกมันมีขึ้นลงได้ตลอดนั่นเอง

4.วางแผนชีวิตระยะยาวให้อยู่กับเงิน อย่าลืมว่าการหาเงินมาตอนนี้แล้วไม่เหลือเก็บเลย ใช้ชีวิตแบบ YOLO (You Only Live Once) สุดเหวี่ยงไปเลย มี 100 ใช้ 100 (บางที 120 เหมือนคุณหนึ่งสมัยก่อน) เพราะเรามีชีวิตอยู่ได้เพียงครั้งเดียวดูเป็นความไม่รับผิดชอบต่ออนาคตของตัวเองไปสักหน่อย

เมื่อแก่ตัว ความสามารถในการหาเงินของเราก็จะลดลงไปด้วย แต่ความจำเป็นในการใช้เงินอาจจะเพิ่มขึ้น (เจ็บป่วยไม่สบายทีค่าใช้จ่ายสูงมาก) เพราะฉะนั้นการจะวางแผนสำหรับการใช้จ่ายเงินเมื่อแก่ตัวจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นมากๆ

5.ซื่อสัตย์กับตัวเอง หากเมื่อไหร่ก็ตามที่รู้สึกว่าเรากำลังหลงทาง หรืออยู่ในจุดที่การเงินกำลังมีปัญหา อย่าพยายามหลีกเลี่ยงปัญหาหรือยัดมันไว้ใต้พรม เพราะปัญหาการเงินยิ่งหนียิ่งพอกพูน เหมือนดินพอกหางหมูที่หนักขึ้นเรื่อยๆ ถ้ามีปัญหาต้องยอมรับและเผชิญหน้ากับมันอย่างตรงไปตรงมา

6.อย่าลืมยกโทษให้ตัวเองด้วย ทุกคนผิดพลาดกันได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเก่งเรื่องเงินแค่ไหนก็ตาม ความสัมพันธ์ก็มีขึ้นมีลง ดีเป็นส่วนใหญ่ ร้ายบ้างนิดหน่อยปะปนกันไป แต่เมื่อไหร่ที่เราพลาดก็อย่าด่าหรือด้อยค่าตัวเอง แต่เรียนรู้และยกโทษให้กับความผิดพลาดตรงนั้น และทำให้มันดีขึ้นในครั้งต่อไปด้วย

บทเรียนอีกอย่างหนึ่งที่ได้เรียนรู้จากงานครั้งนี้คือทุกอย่างไม่มีทางลัด ความสัมพันธ์ทุกอย่างต้องก่อสร้างขึ้นมาบนพื้นฐานที่แข็งแกร่ง นิสัยการเงินรู้จักอดออม เก็บเงิน ตามแผนที่วางเอาไว้ มีหนี้ให้รีบปลดหนี้ อย่าก่อหนี้เพิ่ม เรียนรู้ ลงทุนเพื่อให้มันงอกเงย มันไม่มีทางทำวันนี้แล้วพรุ่งนี้ เดือนนี้ ปีนี้ หรือแม้แต่อีก 5 ปี 10 ปีก็อาจจะยังไม่ไปถึงเป้าหมายด้วยซ้ำ

หากอยากให้เงินกลับมารักเราบ้าง เราก็ต้องรักมันให้ถูกต้องไปเรื่อยๆ

ไม่มากไปหรือน้อยไป รักแบบสม่ำเสมอแต่รักไปตลอดชีวิต

อ้างอิง :

https://fb.watch/p-cvEeTp57/

https://www.linkedin.com/.../10-ways-love-your-money.../