เรื่อง ‘การเงิน’ ได้กลายเป็นหัวข้อใหม่ที่ผู้คนหันมาสนใจมากขึ้นในปีนี้ โดยนอกเหนือจากการให้ข้อมูลเทคนิคการบริหารเงิน หรือความรู้ด้านการลงทุนต่างๆ ผู้คนในโลกโซเชียลได้ทำให้เรื่องเงินน่าสนใจ และสนุกมากขึ้นด้วยการสร้าง ‘ชาเลนจ์’ (Challenge) การใช้เงินต่างๆ ขึ้น เช่น ใช้เงิน 100 บาทต่อวัน หรือการไม่ใช้เงินทานข้าวนอกบ้านเลย ไปตลอด 1 เดือน

แต่วันนี้เราอยู่กับเทรนด์ที่ค่อนข้างจะสุดโต่งไปกว่านั้นอย่าง ‘No Buy Challenge’ ซึ่งเป็นเทรนด์ที่กำหนดให้เรา ‘ห้ามซื้อ’ไปตลอดช่วงระยะเวลาหนึ่ง โดยให้ซื้อได้แค่ของที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตเท่านั้น แต่เชื่อไหมว่า ชาเลนจ์นี้ได้เติบโตขึ้นไปเป็นชาเลนจ์ ‘Not Buying Anything’ หรือไม่ซื้ออะไรเลยตลอดช่วงเวลาที่กำหนด โดยเราต้องหาทางใช้ข้าวของที่มีเท่านั้นจนกว่าจะจบชาเลนจ์

❓ ทำไม? ชาเลนจ์ ‘Not Buying Anything’ จึงเกิดขึ้น

ไม่ว่าใครล้วนอยากมีเงิน นั่นเป็นเรื่องปกติที่เราตอบตัวเองได้ทันที ผลสำรวจจาก Becoming Minimalist พบว่า 79% ของผู้คนกว่า 400 คน รู้สึกมีความสุขมากขึ้น เมื่อมีเงิน แต่ไม่ว่าใครล้วนหาเงินได้ด้วยตัวเอง เช่น เงินเดือนจากการทำงาน หรือการลงทุน แล้วมันพิเศษตรงไหน? ถ้าใครก็ทำได้

ข้อมูลจาก Harvard Business Review ทำให้เราพบสิ่งที่น่าสนใจไปกว่านั้น นั่นคือ ‘ความรู้สึกยินดีจากการบรรลุเป้าหมายที่ยาก’ ต่างหาก คือที่มาของชาเลนจ์ต่างๆ รวมถึง ‘No Buy Challenge’ ด้วย

แน่นอนว่าการไม่ซื้ออะไรเลยทำให้เรามีเงินเหลือมากขึ้น แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะหยุดใช้เงินแบบหักดิบ เพื่อเก็บเงิน นี่ต่างหากคือสิ่งที่น่าโอ้อวด และป่าวประกาศให้ผู้คนได้รู้ถึงความสำเร็จของตัวเองลงบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย

📌 ชาเลนจ์ ‘Not Buying Anything’ ไม่ได้เหมาะกับทุกคน

มาริสซา เกนเนตต์ ได้เขียนบทความแสดงความคิดเห็นลงบน Clever Girl Finance ว่า แม้ชาเลนจ์ ‘Not Buying Anything’ จะเป็นเรื่องสนุกในการเก็บเงิน แต่ทุกคนไม่จำเป็นต้องร่วมในเทรนด์นี้ เพราะอาจมีวิธีการใช้เงินที่ยืดหยุ่น และเครียดน้อยกว่านี้ได้

“เพราะมีข้อจำกัดที่มากเกินไป”

แน่นอนว่าชาเลนจ์นี้ ช่วยควบคุมค่าใช้จ่ายได้แน่นอน แต่เชื่อว่าหลายคนคงรู้สึกว่ามีสิ่ง ‘ไม่จำเป็น’ หลายอย่าง ที่คิดเท่าไหร่ยังอยากได้อยู่ดี ยกตัวอย่างเช่น ของขวัญที่อยากซื้อให้คนที่รักในวันเกิด หรืออาจจะเป็นเรื่องการแต่งหน้าที่ไม่ได้จำเป็นกับการดำรงชีวิต แต่จำเป็นกับการใช้ชีวิต

💆🏻 อาจส่งผลต่อ ‘สุขภาพจิต’ ได้มากกว่าที่คิด และความสนุกจากการทำชาเลนจ์ ‘อาจไม่คุ้ม’

จะเป็นอย่างไร ถ้าเรา ‘ล้มเหลว’ ? อ่านมาถึงตรงนี้ ความคิดเห็นของหลายคนน่าจะเริ่มแบ่งออกเป็นสองฝั่ง คือ ‘ไม่สบายใจ’ กับ ‘ต้องทำให้สำเร็จสิ!’

จะเห็นได้ว่าไม่ว่าจะเป็นฝั่งไหน เราได้เห็นแล้วว่าความกังวลสามารถเกิดขึ้นได้เสมอในชาเลนจ์นี้ ยิ่งถ้าเป็นคนที่เสพติดในชัยชนะ หรือเพอร์เฟคชันนิสม์ อาจยึดติดกับความท้าทายจนถึงขีดสุดจนสามารถทำชาเลนจ์นี้ได้สำเร็จ แต่อาจแลกด้วย ‘ความเป็นอยู่ที่ดี’ ระหว่างการทำชาเลนจ์ได้

มากไปกว่านั้น สุดท้ายแล้วเราต้องควักครีมก้นกระปุกขึ้นมาใช้ หรือค้นอาหารจากตู้เย็นทุกอย่างเพื่ออยู่รอดไปแต่ละมื้อ เพื่อไม่ใช่เงินตามชาเลนจ์ใช่ไหม? นี่คือ ‘Scarcity Mindset’ หรือความรู้สึก ‘ขาดแคลน’

วันหนึ่งเราจะเริ่มตั้งคำถามว่า ‘ทำไม?’ ทำไมเราต้องทำอะไรแบบนี้ ทำไมเราต้องอดทน ต่อจากนั้นจะกลายเป็น ‘ความอิจฉา’ ในขณะที่เราต้องค้นอาหารทุกซอกทุกมุมในตู้เย็น เราจะรู้สึกอย่างไรเมื่อเดินผ่านร้านอาหารที่ผู้คนกำลังทานอาหารของตัวเองอย่างมีความสุขล่ะ? แต่จะให้หยุดอย่างไร ก็ทำชาเลนจ์อยู่นี่นา

💰 ลองเปลี่ยนจาก ‘Not Buy’ เป็น ‘Low Buy’ ดูไหม?

ก็ยังแนะนำชาเลนจ์อยู่ดี? ใช่ ถ้าเรารู้สึกว่าใช้เงินเยอะเกินไปจนเริ่มมีรายจ่ายมากกว่ารายรับ และอยากหา แรงจูงใจในการสร้างนิสัยการบริหารเงินที่ดี การไม่ทำชาเลนจ์อะไรเลยนั้นไม่ผิด ถ้ารู้สึกว่าไม่พร้อม หรือยังไม่เจอชาเลนจ์ที่คิดว่าสร้างผลลัพธ์ดีต่อการเงิน ‘ในระยะยาว’ เพราะสิ่งสำคัญที่สุดคือ ‘ความสุข’ ในการใช้ชีวิตของเราเอง

สำหรับ ‘Low Buy Challenge’ เราอาจสร้างความยืดหยุ่นได้มากขึ้น เช่น จากการที่กำหนดตายตัวว่า ห้ามซื้ออะไรเลย เป็นจะใช้เงินได้ไม่เกินเท่าไหร่ ซึ่งอาจมาจากการคิดคำนวณแล้วว่า ด้วยเงินเท่านี้ที่แบ่งไปออม แบ่งไปลงทุน และแบ่งไว้สำหรับเงินยามฉุกเฉินแล้ว เงินที่เราใช้ในส่วนนี้แม้จะหมดลงจะไม่กระทบกับการเงินโดยรวมของตัวเราเอง เป็นต้น

สุดท้ายแล้ว เราไม่จำเป็นที่จะต้องทำตามชาเลนจ์การใช้เงินของคนอื่น เพราะเราทุกคนล้วนมีระบบการเงินที่แตกต่างการ ปัญหา และวิธีแก้ปัญหาระยะยาวจึงไม่เหมือนกัน การสร้างแผนบริหารเงินที่เหมาะกับตัวเอง และสร้างการเติบโตทางการเงินในระยะยาวได้จริงต่างหาก ที่เรียกว่าเป็นเรื่อง ‘น่ายินดี’

เขียนโดย: ชลทิศ ทองไพจิตร