คำว่า “Oniomania” ถูกใช้บรรยายพฤติกรรมการซื้อของและการใช้จ่ายที่มีปัญหาและหมกมุ่น ซึ่งรากของคำนี้มาจากภาษากรีกสองคำคือ “Onios” ที่แปลว่า “เพื่อซื้อขาย” และ “Mania” ที่แปลว่า “ความคลั่งไคล้” พอมารวมกันก็กลายเป็นภาวะคลั่งการซื้อของ หรือ ‘บ้าซื้อ’ เรียกอีกอย่าง Compulsive Buying Disorder (CBD) หรือ Impulsive Compulsive Buying Disorder (ICBD) ซึ่งถ้าไม่รีบจัดการปล่อยทิ้งเอาไว้นอกจากสภาพการเงินอาจจะตกอยู่ในสถานการณ์ที่ย่ำแย่แล้ว มันยังกระทบกับสุขภาพจิตในระยะยาวอีกด้วย

ภาวะนี้มีสาเหตุมาจาก (และส่งเสริม) ปัญหาทางจิตอื่นๆ มากมาย ตั้งแต่ความวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า และแม้กระทั่งการเสพติดประเภทอื่นๆ เช่น โรคชอบเก็บสะสมสิ่งของหรือการพนันด้วย

แม้รู้ว่ามันมีผลเสียต่อชีวิตมากมาย คนที่มีภาวะแบบนี้มักไม่ค่อยหาทางแก้ไขหรือรักษาตัวเองจากอาการที่เป็นอยู่สักเท่าไหร่ เหตุผลอาจจะเป็นเพราะลึก ๆ แล้วอาจจะละอายใจ หรือบางทีอาจจะไม่รู้เลยก็ได้ว่าตัวเองเป็นภาวะตรงนี้อยู่ และถึงแม้บางคนอยากแก้ไข ก็ไม่รู้ต้องไปปรึกษาใครหรือหาแหล่งข้อมูลที่จะช่วยจากที่ไหนได้

เพราะฉะนั้นบทความนี้เราจะมาดูกันครับว่าพฤติกรรมของคนที่อยู่ในภาวะ “Oniomania” เป็นยังไง ลักษณะอาการและสาเหตุของโรค ทำไมมันถึงเกิดขึ้นบ่อยในตอนนี้มากกว่าในอดีต และคำแนะนำจากนักบำบัดและนักจิตวิทยาเกี่ยวกับเรื่องนี้ต้องทำยังไงบ้าง เพื่อให้ดูแลจัดการทั้งเรื่องเงินและสภาพจิตใจได้ดีมากขึ้น แม้ว่าคุณอาจจะไม่ได้อยู่ในภาวะนี้ บทความนี้ก็จะช่วยให้คุณพัฒนาหลักการคิดอย่างมีเหตุมีผลต่อนิสัยการใช้จ่ายให้ดีขึ้นด้วย

แล้ว Oniomania คืออะไร?

ถึงตรงนี้เราอาจจะเริ่มสงสัยแล้วว่าแล้วคนที่มีภาวะ Oniomania มันต่างจากคนที่ชอบซื้อของมาก ๆ ยังไงกัน? ถ้าเรามองแบบผ่าน ๆ แล้วสองคนนี้จะมีความคล้ายกันอย่างมาก แต่ว่าถ้ามองลึกลงไปจะมีความแตกต่างที่ค่อนข้างชัดเจนเลยทีเดียว สำหรับคนที่ชอบชอปปิงมาก ๆ นั้นจะกังวลกับของที่ซื้อมา แต่คนที่มีภาวะ ‘บ้าซื้อ’ นั้นจะหมกมุ่นอยู่กับ ‘การซื้อ’ ไม่ใช่ของที่ซื้อ พูดอีกอย่างคือคนที่บ้าซื้ออาจจะซื้อของที่ไม่จำเป็นและไม่มีนัยสำคัญกับชีวิตเลยนั่นเอง

คนที่ชอบชอปปิงมาก ๆ จะเอาของที่ตัวเองไม่ชอบไปคืนหรือบางทีก็เริ่มทำการบริหารเงินเมื่อเงินเริ่มร่อยหรอ คนที่มีภาวะบ้าซื้อจะไม่สามารถตัดสินใจได้อย่างมีเหตุผลหรือไม่มีความรับผิดชอบเรื่องการเงินเลย บางครั้งไม่มีอารมณ์ร่วมกับสิ่งที่ตัวเองทำอยู่ เหมือนตกอยู่ในภวังค์เมื่อซื้อของ การจ่ายเงินเป็นการช่วยบรรเทาความรู้สึกวิตกกังวลและซึมเศร้าเพียงชั่วคราว ต่อมาสักพักก็จะเริ่มอารมณ์เหวี่ยง ฉุนเฉียว เศร้า ความมั่นใจหรือคุณค่าในตัวเองก็จะดำดิ่งไปเฉย ๆ เลย

ในระดับหนึ่งการใช้จ่ายเงินนั้นช่วยให้เรารู้สึกดีขึ้น ข้อมูลจากงานวิจัยในปี 2007 ของนักวิจัยจาก MIT, สแตนฟอร์ด และมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน ที่จับคลื่นสมองของนักชอปปิงชาวอเมริกันผ่านเทคโนโลยี fMRI พบว่าเมื่อพวกเขาซื้อของที่ถูกใจนิวเคลียสแอกคัมเบนส์ (ศูนย์ความสุขของสมอง เชื่อมโยงกับการให้รางวัล, ความพึงพอใจและการเสพติด อยู่บริเวณส่วนใต้ของสมองกลีบหน้าต่อกับต่อมใต้สมอง) จะสว่างขึ้นซึ่งบ่งบอกถึงการกระตุ้นในเชิงบวก

การกระตุ้นนี้สามารถมีรูปแบบที่แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น บางคนรู้สึกตื่นเต้นเป็นพิเศษเมื่อเชื่อว่าตนได้รับข้อเสนอที่ดี นักวิจัยกล่าวว่าสิ่งนี้เป็นผลมาจากคอร์เทกซ์กลีบหน้าผากส่วนหน้า (prefrontal cortex) ส่วนของสมองที่ใช้ตัดสินใจใน ปฏิสัมพันธ์กับสมองกลีบอินซูลา (insula) ที่ตอบรับกับสิ่งเร้า สภาวะร่างกาย และอารมณ์ความรู้สึก ก่อให้เกิดความติดใจ ความอยาก ทำให้มีความสุขมากขึ้น

แม้ว่าจะไม่ยังไม่ข้อมูลที่บ่งชี้แน่ชัดว่าภาวะนี้กระทบกับคนจำนวนมากแค่ไหน แต่ในการศึกษาชิ้นหนึ่งบ่งบอกว่าในอเมริกามีประชากรประมาณ 8% ที่อยู่ในภาวะแบบนี้ ส่วนในผู้ชายหรือผู้หญิงมากกว่ากัน อันนี้ข้อมูลยังไม่ชัดเจนเท่าไหร่นัก

โมนิกา เวอร์มานิ (Monica Vermani) นักจิตวิทยาคลินิกที่เชี่ยวชาญด้านการรักษาบาดแผล ความเครียด อารมณ์ และโรควิตกกังวล ชี้ว่าในการศึกษาในประเทศเยอรมันพบว่าเพศไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในภาวะแบบนี้ จะชายหรือหญิงก็เกิดขึ้นได้ไม่ต่างกัน บางทีเราอาจจะเห็นผู้หญิงถูกนำเสนอว่าเป็นกลุ่มบ้าซื้อมากกว่าผู้ชาย แต่ความจริงคือผู้ชายก็ไม่ต่างกัน เพียงแต่ผู้หญิงอาจจะรู้ตัวและไปรับการช่วยเหลือจากนักจิตแพทย์มากกว่าเลยถูกมองว่าเป็นอย่างนั้น

“ผู้ชายมักมองว่าการไปขอความช่วยเหลือเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิตคือสัญญาณของความอ่อนแอ มุมมองที่อยู่ยังไม่หายไปและทำให้เกิดช่องว่างระหว่างเพศแบบนี้”

สำหรับ Oniomania เรื่องเพศไม่ได้บ่งบอกอะไร แต่ตัวบ่งชี้ที่ดีมากกว่าคือความผิดปกติทางจิตอื่นๆ เช่น การติดยา ซึ่งทำให้ยากต่อการควบคุมพฤติกรรม โรคสมาธิสั้น (ADHD) ซึ่งทำให้ว่อกแว่กได้ง่ายขึ้น หรือภาวะซึมเศร้า ที่ทำให้รู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่าและวิ่งตามหาการยอมรับจากคนรอบข้างภายนอก

นอกจากนั้นแล้วผลกระทบของมันก็ค่อนข้างชัดเจนด้วย ทำให้เครดิตเสีย เงินเก็บไม่มี มีเงินเท่าไหร่ก็ใช้จนหมด เป็นหนี้หรือล้มละลายได้เลยก็มี อีกสัญญาณหนึ่งของภาวะผิดปกติทางจิตนี้คือจะมีของเยอะมาก ๆ จนไม่สามารถจัดระเบียบได้ จนเครียด และเหนื่อยล้า ซึ่งจะนำไปสู่โรคชอบเก็บสะสมสิ่งของ (Hoarding Disorder)

อแมนด้า จิออร์ดาโน (Amanda Giordano) รองศาสตราจารย์ที่ปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยจอร์เจียซึ่งเชี่ยวชาญด้านการเสพติด สรุปสัญญาณของการบ้าซื้อไว้ดังนี้

“ใครก็ตามที่สูญเสียการควบคุมพฤติกรรมการจับจ่ายของตน (เช่น ซื้อบ่อยขึ้น เป็นระยะเวลานาน ๆ และใช้เงินมากกว่าที่ตั้งใจไว้) ซื้อของอย่างหมกมุ่น (ตอบสนองต่อแรงกระตุ้นมากกว่าการซื้อของแบบวางแผนไว้อย่างตั้งใจ) ซื้อจ่ายต่อไปแม้จะมีผลในทางลบ (ปัญหาทางการเงิน ความขัดแย้งทางความสัมพันธ์ นอนไม่ค่อยหลับ อับอาย ฯลฯ) และอยากจะใช้เงินหรือจิตใจหมกมุ่นอยู่กับการจับจ่ายตลอดเวลา นี่ควรเป็นสัญญาณเตือนเราได้แล้วว่าคนนี้กำลังเสพติดการชอปปิงอยู่”

อย่างที่กล่าวไปก่อนหน้านี้แล้วว่าคนที่อยู่ในภาวะแบบนี้มักจะปฏิเสธการเข้าไปรับการรักษา จอยซ์ มาร์เตอร์ นักจิตบำบัดบอกว่า “อุปสรรคเช่นความอายและชื่อเสียงที่ดูไม่ดีเมื่อพูดถึงปัญหาเรื่องการเงินมักทำให้คนไม่ไปเข้ารับความช่วยเหลือที่ต้องการและควรได้รับ” นอกจากนั้นแล้วมาร์เตอร์ยังบอกอีกว่าคนเหล่านี้อาจจะปฏิเสธเลยก็ได้ว่าตัวเองกำลังมีปัญหาอยู่

“พวกเขาอาจใช้กลไกการป้องกัน เช่น การปฏิเสธ การหาเหตุผลเข้าข้างตนเอง หันเหความสนใจ หรือโทษคนอื่น เพื่อหลีกเลี่ยงการจัดการกับอาการเสพติดของพวกเขา”

เวอร์มานิเสริมเรื่องนี้ว่า “สำหรับบางคนแล้วการใช้เงินคือการกดทับความรู้สึกที่ไม่อยากรู้สึก เหมือนกับการใช้แอลกอฮอล์ ยาเสพติด หนังโป๊ การพนัน กินมากเกินไป” พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่าการใช้เงินแบบหมกมุ่นเป็นการพยายามกลบหลุมหรือความอ่อนแออะไรบางอย่างข้างในที่ไม่อยากให้คนอื่นเห็น อับอายเกินกว่าที่จะยอมรับความอ่อนแอ คนเหล่านี้ก็จะบ้าซื้อใช้เงินโดยมองหาข้อแก้ตัวที่หาเหตุผลเข้าข้างตนเองหรือพิสูจน์พฤติกรรมที่ผิดปกติของพวกเขาเอง บ่อยครั้ง ประเด็นปัญหามักจะมาจากความบอบช้ำทางจิตใจหรือการรับรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับเงิน สังคม และครอบครัว

แก้ไขภาวะบ้าซื้อยังไงดี?

แม้ว่าเรื่อง Oniomania นั้นถูกบันทึกไว้ในวรรณกรรมทางวิทยาศาสตร์มานานเป็นร้อยปีแล้ว แต่ว่าโรคนี้ไม่ได้รับความสนใจจนกระทั่ง 20-30 ปีที่เศรษฐกิจแบบทุนนิยมทั่วโลกเติบโตหลังช่วงสงครามเย็นและการเข้ามาของทีวี อินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย ทำให้มันกลายมาเป็นประเด็นที่คนสนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ

ยิ่งในช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่พฤติกรรมการซื้อของออนไลน์กลายเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไป จนแพลตฟอร์มออนไลน์เหล่านี้เติบโตอย่างมากจากพฤติกรรมชอปปิงที่เกิดจากอารมณ์ล้วน ๆ (มีแบบสำรวจหนึ่งบอกว่า 72% ของผู้บริโภคที่ซื้อของออนไลน์ในช่วงโควิดนั้นทำเพื่อให้ตัวเองมีความสุขขึ้น) แน่นอนว่าทางแก้ไขภาวะผิดปกติทางจิตคือยอมรับว่าตัวเองมีปัญหาและพบผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับการรักษา สำหรับคนที่ทำได้

หรือถ้าเป็นคำแนะนำของนักจิตวิทยา มาร์เตอร์ก็บอกว่าให้เริ่มต้นด้วยการทำ “Financial Cleanse” หรือขจัดสารพิษทางการเงินของตัวเองเพื่อสร้างจิตสำนึกทางการเงิน กำหนดช่วงเวลา “ห้ามใช้เงิน” ให้กับตัวเอง อาจจะอาทิตย์หนึ่ง เดือนหนึ่ง แล้วแต่เราว่าไหวแค่ไหน ไม่เพียงแต่จะประหยัดเงินเท่านั้น แต่มันยังจะช่วยส่งเสริมกรอบคิดการออมเงินอีกด้วย

เมื่อเรามีกรอบแนวคิดนี้แล้ว หลังจากนั้นก็สร้าง “แผนป้องกันการถอยกลับ” ที่คุณจะต้องมานั่งระบุและหลีกเลี่ยงตัวกระตุ้นการใช้เงินอย่างจริงจัง บางทีอาจจะเป็นใครสักคนหนึ่งในชีวิตที่คุณอยากจะโชว์ อยากจะอวด โดยการใช้เงินเยอะ ๆ “ถ้าเกิดพลาดกลับไปใช้เงินอีกก็ให้ใช้โอกาสนี้เพื่อแสดงความรักกับตัวเอง เรียนรู้จากมัน และเดินไปข้างหน้าต่อไป มันใช้เวลาในการเปลี่ยนพฤติกรรมเก่า ๆ ของการใช้จ่ายเงินด้วยอารมณ์”

บางคนอาจจะพยายามหยุดทุกอย่าง หักดิบเลยทันที แต่ส่วนใหญ่แล้วจะไม่ประสบความสำเร็จถ้าทำแบบนี้ แต่ให้ลองหาพฤติกรรมที่มักจะควบคุมไม่ได้ของตัวเองให้เจอแล้วลดตรงนั้นก่อน เช่นถ้าใช้บัตรเครดิตบ่อยจนทำให้เกิดหนี้ ก็ลองไม่พกบัตร หรือถ้าทำไม่ได้จริง ๆ และมีเงินปิดยอด ก็ยกเลิกไปเลยก็ได้จนกว่าจะแก้ไขนิสัยส่วนนี้ได้ หรือถ้าไม่มีเงินปิดยอด ก็อาจจะฝากไว้กับคนที่เชื่อใจก็ได้เช่นกัน

จิออร์ดาโน แนะนำให้คนที่กำลังอยู่ในภาวะแบบนี้สำรวจพฤติกรรมการบ้าซื้อของตัวเองด้วย :

“ซื้อของเพื่อหนีปัญหา ให้รู้สึกว่าตัวเองมีค่า สัมผัสความสุข เพิ่มความมั่นใจ หรือรับมือกับปัญหาชีวิต? เมื่อรู้ว่าเราทำแบบนี้เพราะอะไร ก็สามารถหาวิธีปรับพฤติกรรมของตัวเองไปในทางที่ดีขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของชีวิต”

ท้ายที่สุดแล้ว การรักษาภาวะ Oniomania เป็นมากกว่าแค่การปกป้องเงินในกระเป๋าจากการจับจ่ายจากแรงกระตุ้นของตัวเอง แต่มันคือการดูแลสุขภาพจิตของตนเองและพัฒนาความสัมพันธ์กับคนรอบ ๆ ตัวด้วย เพราะฉะนั้นใครก็ตามที่ตกอยู่ในภาวะแบบนี้ ซื้อโดยไม่คิด มีเงินเท่าไหร่ก็จ่ายเพียงเพื่อให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้น ควรกลับมาถามตัวเองอีกครั้งว่าเพราะอะไรถึงทำแบบนั้น พยายามแก้ไข แต่ถ้าทำไม่ได้จริง ๆ ก็ควรมองหาผู้เชี่ยวชาญและเข้ารับการรักษาก่อนมันกลายเป็นปัญหาเรื้อรังและรุนแรงใหญ่โตมากกว่านี้