หลายปีแล้วที่เราจมอยู่กับคำว่า ‘เศรษฐกิจชะลอตัว’ นับตั้งแต่ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด 19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก มองว่า ปี 2024 ยังเป็นอีกปีที่เศรษฐกิจทั่วโลกยังชะลอตัว ก่อนที่จะพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วในปี 2025

วันนี้ aomMONEY จะมาสรุปทิศทางของเศรษฐกิจที่กำลังจะเกิดขึ้นใน ปี 2024 ในงาน ‘Future Trends Ahead Summit 2024’ โดย ดร. พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย กรรมการผู้จัดการและหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร จะเป็นอย่างไรกันบ้าง มาดูกัน

📈แม้เศรษฐกิจทั่วโลก กำลังชะลอตัว แต่สหรัฐฯ กำลังโตสวนทาง

ในขณะที่เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง และยุโรปที่การเติบโตทาง GDP หยุดนิ่งคงที่ กลับกันด้านสหรัฐฯ กำลังเติบโตขึ้นสวนกับทิศทางของโลก ด้วยการมุ่งเน้นไปที่ Productivity Growth ไปจนถึงปัจจัยด้านเงินเฟ้อที่ลดลงจาก 8% เหลือ 3% เท่านั้น จึงมีแนวโน้มสูงที่ FED จะปรับลดดอกเบี้ยลง เรียกได้ว่าอเมริกาจะมีแนวโน้มแข็งแกร่งกว่าเพื่อนในปีนี้

🗳 ปีแห่งความไม่แน่นอน ด้วยความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของ 60 ประเทศ

ในปี 2024 นี้ จะมีการเลือกตั้งระดับชาติเกิดขึ้นใน 60 ประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น ไต้หวัน อินเดีย อินโดนีเซีย รัสเซีย และเกาหลีใต้

ที่น่าจับตามองที่สุดคือการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา กับการกลับมาเจอกันอีกครั้งของ Donald Trump และ Joe Biden ที่อาจสร้างความเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ในอเมริการ และจะกระทบต่อทั่วโลกอย่างแน่นอน โดยหาก Trump ชนะในปีนี้มีแนวโน้มว่าอาจมีการเก็บภาษีนำเข้าจากจีนมากขึ้น ซึ่งอาจตอกย้ำความตึงเครียดระหว่างจีน และสหรัฐฯ เข้าไปอีก

📊 เศรษฐกิจไทยกำลัง ‘กินบุญเก่า’ และการท่องเที่ยวเริ่มแบกประเทศไม่ไหว

ย้อนกลับไปในอดีต GDP ของไทยเคยเติบโตอยู่ที่ราว 8-10% ก่อนจะล้มลงตรงหน้าวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่อย่างต้มยำกุ้ง และวิกฤตการณ์อื่นๆ อีกมากมาย โดยทุกครั้งที่เกิดวิกฤตการณ์ การเติบโตของเศรษฐกิจไทยไม่เคยกลับมาเท่าเดิมอีกเลย แต่กลับแผ่วลงทุกครั้ง

แม้ที่ผ่านมาจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมากมาย แต่การกระตุ้นระยะสั้นไม่เพียงพอที่จะฉุดไทยให้กลับไปเฉิดฉายเช่นในอดีต สุดท้ายแล้วไทยยังคงหวังให้การท่องเที่ยว และการส่งออกเป็นที่พึ่งสุดท้าย แต่ดูจะไม่ใช่ที่พึ่งที่แข็งแกร่งมากเท่าเมื่อก่อนแล้ว

ก่อนหน้านี้ไทยเคยอยู่ในห่วงโซ่อุปทานโลก ส่งสินค้ามากมายไปสู่จีน แต่ตอนนี้เราเห็นแล้วว่าแบรนด์จีนมากมายกำลังตีกลับส่งสินค้าเข้าสู่ตลาดบ้านเรา ในขณะที่ด้านท่องเที่ยวมีการเติบโตลดลงซ้ำไปอีก

ด้านประชากร ตอนนี้คนไทยอยู่ในสภาวะ ‘แก่ก่อนรวย’ การเติบโตทางการเงินต่ำ และมีอัตราการลงทุนลดลงจาก 50% ของ GDP เหลือเพียง 20% เท่านั้น นอกจากนี้คะแนน PISA ของไทยตกต่ำลงตลอด 20 ปีที่ผ่านมาสะท้อนวิกฤตด้านการศึกษา ซึ่งทำให้เห็นว่าคุณภาพชีวิต และคุณภาพของคนไทยอยู่ในระดับต่ำมาอย่างยาวนาน

❓แล้วไทยจะเดินต่ออย่างไร ถ้าบุญเก่าเริ่มกินไม่พอ และวิธีเดิมๆ เริ่มไม่ได้ผล

ดร. พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ยกตัวอย่างถึง ‘Abenomics’ และ ‘ลูกศร’ 3 ดอก ที่ ‘ชินโซ อาเบะ’ เคยใช้เพื่อปฏิรูปเชิงโครงสร้าง เพิ่มความแข็งแกร่งทางการเงิน เน้นเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน โดยใช้เวลากว่า 10 ปี กว่าจะประสบความสำเร็จ

[ ดร. พิพัฒน์มองว่า ไทยกำลังต้องการผู้ยิงลูกศรทั้ง 3 ดอก อย่างเร่งด่วน ซึ่งประกอบไปด้วย ]

- เน้นนโยบายปฏิรูปเชิงโครงสร้าง (Structural reforms)
- มากกว่านโยบาย คือ ความตระหนักรู้ถึงปัญหา และฉันทมติทางการเมือง
- หาเสียงสนับสนุน (Abe ยุบสภาหลายครั้งเพื่อหาเสียงสนับสนุน)

แต่คำถามสำคัญคือ “แล้วไทยเราจะหาจุดร่วมทางการเมืองอย่างไรในยุคปัจจุบัน และใครจะเป็นผู้ยิงลูกศรทั้งสามดอก?”

เรียบเรียง: ชลทิศ ทองไพจิตร