ขณะที่คนรุ่นใหม่ ใฝ่ฝันต้องการเกษียณเร็วตั้งแต่อายุน้อยๆ ขณะที่วัยเกษียณหลายคนเลือกที่จะ “ไม่เกษียณ” โดยสนใจทำงานทั้งเต็มเวลาและพาร์ทไทม์

ทั้งนี้ จากผลสำรวจของ Paychex ผู้ให้บริการด้านทรัพยากรมนุษย์ สหรัฐอเมริกา ทำการสำรวจผู้ที่เกษียณอายุ และกลับมาทำงานต่อ (เดือนกุมภาพันธ์ 2566) พบว่า

✅55% บอกว่าเหตุผลที่กลับมาทำงาน คือ ต้องการมีรายได้ประจำ
✅47% รู้สึกเบื่อกับการไม่ได้ทำอะไร
✅45% บอกว่าเป็นเหตุผลส่วนตัว (ไม่อยากเปิดเผย)
✅41% บอกว่าค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น จึงต้องการหารายได้เพื่อชดเชยเงินออมที่หมดลงอย่างรวดเร็ว
✅33% บอกว่าต้องการสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาล
✅28% บอกว่ายังต้องการเข้าสังคม เหมือนช่วงวัยทำงาน
✅23% บอกว่ากลัวว่าเงินออมจะหมดก่อนวันสุดท้ายของชีวิต
✅17% บอกว่าผลตอบแทนจากนำเงินไปลงทุนไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เพราะตลาดมีความผันผวน

สำหรับปัจจัยเอื้ออำนวยที่คนเกษียณยัง “ไม่เกษียณ” ยังมีอีกหลากหลาย เช่น ตำแหน่งงานว่างมากขึ้น เนื่องจากการลาออกครั้งใหญ่ของผู้คนที่ลาออกจากงานในช่วงปีที่มีการระบาด COVID, บริษัทต่างๆ มีนโยบายรับคนวัยเกษียณที่มีประสบการณ์เข้ามาทำงาน (หรือให้ทำงานต่อ) รวมถึงคนเกษียณเองก็ต้องการทำงาน เพราะมองว่าได้รับประโยชน์หรือมีแรงจูงใจหลายๆ อย่าง

ยังสามารถทำงานต่อไปได้

เนื่องจากเทคโนโลยีทางการแพทย์และนวัตกรรมต่างๆ ความล้ำหน้าของวิทยการ ทำให้สุขภาพร่างกายผู้คนแข็งแรงและยืนยาวมากขึ้น โดยปัจจุบันจะเห็นผู้อาวุโสหรือผู้ที่เข้าสู่วัยเกษียณยังกระฉับกระเฉงเหมือนคนอายุ 50 ปี ประกอบกับยังมีไฟในการทำงาน ดังนั้น หากโอกาสการทำงานเปิดกว้างก็เต็มใจที่จะยืดอายุการเกษียณออกไปได้

การทำงานเปลี่ยนแปลง

ปัจจุบันจะเห็นได้บ่อยมากขึ้นว่าบริษัทต่างๆ เปิดโอกาสให้คนวัยเกษียณที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง และมีความเชี่ยวชาญในสายอาชีพนั้นๆ ทำงานต่อไป ขณะเดียวกันคนที่มีอายุน้อยๆ ก็ยอมรับผู้อาวุโสมากขึ้น พูดง่ายๆ ถึงแม้วัยจะแตกต่างกันแต่ก็ทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น

นอกจากนี้ นับตั้งแต่การแพร่ระบาดเชื้อไวรัส COVID กระแสการทำงานที่บ้าน (Work from home) และทำงานที่ไหนก็ได้ (Work from anywhere) ได้รับความนิยมทั่วโลก บริษัทต่างๆ จึงอนุญาตให้พนักงานสามารถทำงานจากบ้านได้ ทำให้คนวัยเกษียณหลายคน เลือกที่จะ “ไม่เกษียณ”

การออมเพื่อเกษียณ ไม่เพียงพอ

ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้คนเกษียณ ต้องการทำงานเพื่อให้มีรายได้ประจำต่อไป เนื่องจากเริ่มเก็บออมช้า (เช่น เริ่มออมเงินเพื่อเกษียณตอนอายุ 55 ปี) หรือมีความกังวลว่าเงินที่เก็บออมจะไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายหลังเกษียณ หรือบางคนมีภาระหนี้สินจำนวนมาก จึงต้องการรายได้เพื่อจ่ายหนี้ ซึ่งทางออกหนึ่งที่คนเกษียณเลือก คือ ทำงานต่อไป

ค่าครองชีพเพิ่มขึ้น

ตามทฤษฎี ค่าใช้จ่ายประจำหลังเกษียณจะลดลง โดยค่าใช้จ่ายต่อเดือนหลังเกษียณอยู่ที่ระดับประมาณ 70% - 80% ของค่าใช้จ่ายต่อเดือนก่อนเกษียณ เช่น ก่อนเกษียณมีค่าใช้จ่าย 10,000 บาทต่อเดือน ค่าใช้จ่ายหลังเกษียณจะอยู่ที่ 7,000 – 8,000 บาทต่อเดือน

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากค่าครองชีพเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและเพิ่มขึ้นมากกว่าที่ประเมินเอาไว้ เช่น ค่าอาหาร ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเดินทาง ค่าน้ำมัน หรือกระทั่งเงินที่นำไปลงทุนอาจได้รับผลตอบแทนต่ำกว่าคาด (หรือขาดทุน) ทำให้คนวัยเกษียณรู้สึกไม่มีความมั่นใจว่าเงินก้อนสุดท้ายจะสามารถใช้จ่ายได้เพียงพอ จึงต้องการทำงานเพื่อสร้างรายได้ต่อไป

ลดการขาดแคลนแรงงาน

เมื่อพนักงานหลายคนถึงวัยเกษียณ บริษัทต้องประกาศหาพนักงานใหม่ แต่บางครั้งอาจไม่ใช่เรื่องง่ายในการหาพนักงานใหม่ที่มีทักษะ ประสบการณ์มาทดแทนคนที่เกษียณ หรืออาจมีความกังวลว่าคนใหม่จะเข้ากับวัฒนธรรมองค์กรได้ ดังนั้น บริษัทบางแห่งจึงตัดสินใจต่ออายุการทำงานกับผู้ที่กำลังเกษียณที่สนใจทำงานต่อ ทำให้ได้รับประโยชน์ทั้งสองฝ่าย