นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้หลาย ๆ คนจำเป็นต้องออกจากงาน หรือเปลี่ยนงานใหม่ รวมถึงบางคนก็อยากผันตัวเองมาประกอบอาชีพอิสระ เมื่อผู้คนเหล่านี้ออกจากงานประจำ ก็จะได้รับเงินก้อนใหญ่จากนายจ้าง ซึ่งหากต้องนำมารวมคำนวณภาษีตามปกติก็จะเกิดภาระภาษีที่สูงมาก กรมสรรพากรจึงกำหนดหลักการมาตั้งแต่ปี 2517 แล้ว ให้สามารถแยกคำนวณภาษีสำหรับเงินได้เหล่านี้ แต่การแยกคำนวณภาษีในกรณีนี้มีเรื่องอะไรที่ต้องรู้และทำความเข้าใจให้ถูกต้อง

➡️ ระยะเวลาการทำงาน 5 ปี นับอย่างไร

เงื่อนไขแรกของการแยกคำนวณภาษี (ในใบแนบ ภ.ง.ด. 90/91) สำหรับ “เงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน” ที่ว่า ต้องเป็นเงินได้ที่จ่ายให้เนื่องจากออกจากงานที่มีระยะเวลาทำงานไม่น้อยกว่า 5 ปี ซึ่งประมวลรัษฎากร มาตรา 48 (5) วรรคสี่ กำหนดให้ปัดเศษของปีที่ถึง 183 วันขึ้นเป็นหนึ่งปี

แต่การปัดเศษนี้ จะใช้กับขั้นตอนการคำนวณค่าใช้จ่ายเท่านั้นนะครับ เงื่อนไขแรกที่ต้องมีระยะเวลาการทำงาน 5 ปีขึ้นไป จะต้องเป็นระยะเวลา 5 ปี นับวันชนวัน หากไม่ครบ 5 ปี จะไม่สามารถเลือกแยกเสียภาษีในใบแนบได้ ต้องนำเงินได้ไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้อื่นในแบบ ภ.ง.ด. 90/91 ตามปกติ

อย่างไรก็ตาม ผู้มีเงินได้ที่ออกจากงานมาแล้วเข้าทำงานใหม่ ไม่ว่ากับนายจ้างรายเดิมหรือรายใหม่ ภายใน 1 ปีหลังออกจากงานเดิม จะสามารถนับระยะเวลาการทำงานกับนายจ้างเดิมรวมกันได้ แต่จะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขต่อไปนี้

เมื่อออกจากงานเดิม ต้องไม่เลือกแยกคำนวณภาษีตามวิธีนี้ (ใบแนบ) และหากเป็นการเข้าทำงานกับนายจ้างรายใหม่ จะต้องโอนเงินและผลประโยชน์จากกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) ของนายจ้างรายเดิมไปยังกองทุนฯ ของนายจ้างรายใหม่ด้วย

หากไม่เป็นไปตามเงื่อนไขข้างต้น หรือเข้าทำงานใหม่เกิน 1 ปีหลังออกจากงานเดิม จะนับระยะเวลาการทำงานได้เฉพาะการเข้าทำงานครั้งหลังนะครับ

➡️ เงินได้ที่ได้รับเมื่อออกจากงานแบ่งเป็นกี่ประเภท แบ่งไปทำไม?

เรื่องนี้มาจากการแบ่งประเภทของ “เงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน” เป็น 4 ประเภท คือ

1. เงินได้ที่คำนวณตามหลักเกณฑ์และวิธีการเช่นเดียวกับบำเหน็จข้าราชการ
2. เงินที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund – PVD) กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) หรือกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ เฉพาะการขายหน่วยลงทุนที่ได้จากการโอนหรือเกี่ยวเนื่องจากการโอนมาจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพคืนให้แก่กองทุน (RMF for PVD)
3. เงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน (กรณีเป็นการให้ออกจากงานโดยไม่สมัครใจ และไม่ใช่กรณีเกษียณอายุหรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง ยังคงได้รับยกเว้นภาษีสำหรับส่วนที่ไม่เกินค่าจ้างของการทำงาน 300 วันสุดท้าย และไม่เกิน 300,000 บาท)
4. เงินได้ที่ได้รับเมื่อออกจากงานที่มีวิธีการคำนวณแตกต่างไปจาก (ก)

สาเหตุที่ต้องแบ่งเงินได้ที่ได้รับเมื่อออกจากงานเป็นประเภทต่าง ๆ เช่นนี้ ก็เพราะว่าการคำนวณค่าใช้จ่ายสำหรับเงินได้แต่ละประเภทจะมีหลักเกณฑ์ที่แตกต่างกัน ซึ่งจะขอพูดถึงในตอนหน้านะครับ โดยปัญหายอดฮิตสำหรับผู้ที่ออกจากงานในรัฐวิสาหกิจหรือภาคเอกชนก็คือ เงินที่คำนวณจากฐานเงินเดือนเดือนสุดท้าย คูณด้วยจำนวนปีที่ทำงาน

ถึงแม้ว่าจะเป็นวิธีเดียวกับการคำนวณบำเหน็จข้าราชการ ก็ไม่สามารถถือเป็นเงินได้ประเภท (ก) ได้ แต่จะถือเป็นเงินได้ประเภท (ง) เพราะการคำนวณบำเหน็จข้าราชการนั้น พระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 มาตรา 31 วรรคหนึ่ง กำหนดให้ “เงินเดือนเดือนสุดท้าย” หมายความรวมถึงเงินเดือนที่ได้เลื่อนในวันสุดท้ายของปีงบประมาณที่เกษียณอายุด้วย (แม้จะไม่ก่อให้เกิดสิทธิรับเงินเดือนที่ได้เลื่อน) การคำนวณบำเหน็จของหน่วยงานอื่นซึ่งถือเอาเงินเดือนเดือนสุดท้ายเป็นฐาน จึงถือได้ว่าไม่มีหน่วยงานใดใช้วิธีการคำนวณเหมือนบำเหน็จข้าราชการได้ทั้งหมด

➡️ ใช้สิทธิแยกเสียภาษีข้ามปีภาษีได้หรือไม่

โดยทั่วไปแล้วผู้ที่ออกจากงาน โดยเฉพาะภาคเอกชน มักจะได้รับเงินได้ในลักษณะนี้หลายประเภท เช่น เงินชดเชย เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ฯลฯ ซึ่งเงื่อนไขเดิมระบุแต่เพียงว่า ในกรณีที่ได้รับเงินได้ “จากผู้จ่ายรายเดียวกัน” ต่างปีภาษีกัน จะใช้สิทธิแยกเสียภาษีได้เฉพาะปีภาษีแรกที่มีการจ่ายเงินได้ดังกล่าวเท่านั้น จะเห็นได้จากคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 43/2547 ที่วินิจฉัยว่า เงินชดเชยจ่ายโดยนายจ้าง แต่เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจ่ายโดยกองทุนฯ ซึ่งเป็นคนละนิติบุคคลกับนายจ้าง

เมื่อผู้มีเงินได้ได้รับเงิน 2 ก้อนนี้ต่างปีภาษีกัน ทำให้สามารถเลือกแยกเสียภาษีได้ทั้ง 2 ปีภาษี ในขณะที่แนวปฏิบัติที่กรมสรรพากรใช้มาก่อนหน้านั้น จะให้สิทธิแยกเสียภาษีได้เฉพาะปีภาษีแรกที่มีการจ่ายเงินได้เนื่องจากออกจากงานกับนายจ้างรายดังกล่าวเท่านั้น ไม่ว่าเป็นประเภทใดก็ตาม

ดังนั้น เพื่อให้เงื่อนไขดังกล่าวนี้ชัดเจนยิ่งขึ้น จึงทำให้ในปี 2560 มีการตัดข้อความ “จากผู้จ่ายรายเดียวกัน” ออก ทำให้ผู้มีเงินได้ไม่สามารถอ้างว่าเงินได้เหล่านี้จ่ายจากผู้จ่ายเงินได้คนละรายกันได้อีกต่อไป หมายความว่า จะเลือกใช้สิทธิแยกเสียภาษีได้เฉพาะปีแรกที่มีการจ่ายเงินได้ในลักษณะนี้จากการทำงานกับนายจ้างรายนั้นเท่านั้น ซึ่งอาจเป็นคนละปีภาษีกับปีที่ออกจากงานก็ได้ครับ

เขียนโดย: วินย์ ฉายศิริโชติ นักวางแผนการเงิน CFP®