เมื่อไหร่ที่ก้าวเข้าสู่โลกการลงทุน ก็มีโอกาสเผชิญกับภาวะความผันผวน ซึ่งบางคนยอมรับได้ เพราะเข้าใจดีว่า ความผันผวนเป็นเพียงเหตุการณ์ชั่วคราว

แต่ก็มีอีกหลายคน ที่กังวลกับความผันผวน​เพราะส่งผลให้เกิดผลตอบแทนลดลงหรือขาดทุน ทำให้มองหา​ สินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) เข้ามาไว้ในพอร์ตลงทุน เพื่อเป็นหลุมหลบภัย​ช่วยให้เกิดความสบายใจ

สำหรับสินทรัพย์ปลอดภัย คือ สินทรัพย์ที่มีความสามารถรักษามูลค่าหรือมีโอกาสเพิ่มมูลค่า ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจเป็นขาลงหรือมีสถานการณ์ไม่ปกติเกิดขึ้น ด้วยคุณสมบัติเฉพาะตัวของสินทรัพย์​ ซึ่งทำให้การเคลื่อนไหวของราคาไม่ได้สัมพันธ์เชื่อมโยงในทิศทางเดียวกับสินทรัพย์ประเภทอื่น หรืออาจเคลื่อนไหวทิศทางตรงกันข้ามกับเศรษฐกิจ จึงเป็นสินทรัพย์ที่โดดเด่นในช่วงที่ตลาดเจอสถานการณ์เลวร้าย

✅4 คุณสมบัติสำคัญของสินทรัพย์ปลอดภัย

• มีสภาพคล่อง แปลงเป็นเงินสดได้ง่าย
• มีจำนวนจำกัด หรือน้อยกว่าความต้องการซื้อ
• มีความต้องการแน่นอน ไม่สามารถถูกแทนที่ได้ ไม่ล้าสมัย
• มีความคงทน ไม่เสื่อมสลายเมื่อเวลาผ่านไป

➡️ เงินสด

เหมาะสำหรับเวลาที่มีสถานการณ์ผันผวน​ หากลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงสูง​ต่อไปก็อาจจะขาดทุนได้ นักลงทุนอาจใช้วิธีขายสินทรัพย์เสี่ยงสูงออกมา ถือเงินสดแทน เพื่อเน้นรักษามูลค่าเงิน​ลงทุน รอให้สถานการณ์ความผันผวนสงบลง แล้วค่อยนำเงินกลับเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงสูงอีกครั้ง

➡️ ทองคำ

เป็นหลุมหลบภัยที่โดนใจนักลงทุนมากที่สุดในทุกยุคทุกสมัย ​ดังคำกล่าวที่ว่า “มีเงินนับเป็นน้อง มีทองนับเป็นพี่”​ เวลามีสถานการณ์ไม่ปกติเกิดขึ้นบนโลก ไม่ว่าจะเป็นสงครามหรือวิกฤตเศรษฐกิจ นักลงทุนมักวิ่งเข้าหาทองคำเป็นอันดับแรกๆ ด้วยความเชื่อว่าทองคำไม่เพียงแต่รักษามูลค่าได้​ แต่ยังมีโอกาสเพิ่มมูลค่าได้อีกในสถานการณ์ไม่ปกติ สวนทางกับสินทรัพย์อื่นที่อาจปรับตัวลดลง

โดยการลงทุนในทองคำ ทำได้หลายรูปแบบ ทั้งการซื้อทองคำแท่งมาเก็บไว้ แต่วิธีนี้ ต้องรับมือกับความเสี่ยงในการถูกขโมย การลงทุนทองคำผ่านแพลตฟอร์มซื้อขายทองคำ​ไม่ต้องรับทองคำจริงๆ มาเก็บไว้ ซึ่งต้องเลือกแพลตฟอร์มที่เชื่อถือได้ และการซื้อกองทุนรวมทองคำ​ ซึ่งกองทุนรวมส่วนใหญ่ในไทย จะลงทุนใน SPDR Gold Trust ที่เป็นกองทุนรวมในต่างประเทศที่ไปลงทุนในทองคำแท่ง

➡️ พันธบัตรรัฐบาล

เป็นสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยค่อนข้างสูง จากความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ค่อนข้างน้อย​เมื่อเทียบกับตราสารหนี้ทั่วไป เนื่องจากผู้ออก คือ รัฐบาล​ หากรัฐบาลประเทศนั้นไม่ได้มีปัญหาการเงิน ก็ไม่น่าเป็นห่วง เหมาะสำหรับการลงทุนหลบภัยช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ โดยในส่วนของนักลงทุนรายย่อย หากต้องการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล ก็ลงทุนผ่านกองทุนรวมตราสารหนี้ที่มีนโยบายการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลแทนได้

➡️ สกุลเงิน

มีด้วยกัน 3 สกุลเงิน ได้แก่ สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นสกุลเงินหลักของโลก เหมาะสำหรับหลบภัยยามสินทรัพย์เสี่ยงผันผวน และนักลงทุนไม่มั่นใจกับสถานการณ์เศรษฐกิจบนโลก สกุลเงินเยน มักถูกใช้เป็นหลุมหลบภัยยามสินทรัพย์สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐผันผวน เป็นผลจากนักลงทุนญี่ปุ่นถือครองทรัพย์สินในต่างประเทศสูง เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของโลก เมื่อเกิดอะไรขึ้น หากญี่ปุ่นย้ายเงินกลับเข้าประเทศ เงินเยนก็จะแข็งค่าขึ้น และสุดท้าย คือ สกุลเงินฟรังก์สวิส เหมาะสำหรับหลบภัยยามตลาดผันผวน และมีวิกฤตการเงิน เพราะเป็นสกุลเงินที่นักลงทุนเชื่อมั่นในระบบธนาคารที่แข็งแกร่ง​และรัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ ที่มีความมั่นคง

➡️ หุ้นที่ทนทนต่อทุกสภาวะ (Defensive Stock)

เป็นหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง ไม่ว่าตลาดจะดีหรือแย่ สถานการณ์เศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร​ หุ้นเหล่านี้จะยังมีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง เติบโต สามารถจ่ายเงินปันผลได้อย่างสม่ำเสมอ ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับความจำเป็นในชีวิต เช่น กลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน สุขภาพ สินค้าอุปโภคบริโภค เหมาะสำหรับการลงทุนในช่วงวัฏจักรเศรษฐกิจขาลง

มีคำถามว่า จะรู้ได้อย่างไรว่า ถึงเวลาที่ควรลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัยแล้ว คำตอบ คือ ไม่ต้องรอให้ถึงเวลา หากต้องการมีสินทรัพย์ปลอดภัยไว้รับมือสถานการณ์ไม่คาดคิด​ เช่น สงคราม​ โรคระบาด​ ภัยพิบัติรุนแรง ถ้ารอให้ถึงเวลาก็จะมีนักลงทุนคนอื่น ๆ ที่ต้องการลงทุนในสินทรัพย์ดังกล่าว ทำให้การลงทุนมีต้นทุนที่สูงกว่าปกติ

ฉะนั้น หากเป็นไปได้​ ควรแบ่งเงินลงทุนส่วนหนึ่งในสินทรัพย์ปลอดภัยด้วย ไม่ใช่ลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงเพื่อคาดหวังผลตอบแทนปรับเพิ่มขึ้นอย่างเดียว เนื่องจากการมีสินทรัพย์ปลอดภัย​จะช่วยให้พอร์ตลงทุนรับมือสถานการณ์ไม่คาดคิดได้ดีขึ้น ส่วนจะแบ่งไว้ในสินทรัพย์ปลอดภัยมากแค่ไหน​ ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงในการลงทุนที่ยอมรับได้ ถ้าเป็นคนใจกล้าเสี่ยงสูง มีสินทรัพย์ปลอดภัยเล็กน้อยก็พอแล้ว แต่ถ้ารับความเสี่ยงได้น้อย มีสินทรัพย์ปลอดภัยมากหน่อย ก็จะอุ่นใจมากกว่า

ส่วนกรณีที่ต้องการลงทุนสินทรัพย์ปลอดภัย รับมือวิกฤตเศรษฐกิจ อาจพิจารณาสัญญาณเศรษฐกิจ เพราะโดยปกติก่อนถึงขั้นวิกฤตเศรษฐกิจ จะมีสัญญาณเตือนมาก่อน เช่น เส้นอัตราผลตอบแทน (yield curve) พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกา จะกลับทิศ หรือที่เรียกว่า Inverted yield curve คือ ​ผลตอบแทนพันธบัตรอายุสั้นจะสูงกว่าพันธบัตรอายุยาว ซึ่งเป็นสิ่งที่มักเกิดขึ้นก่อนเศรษฐกิจถดถอย นอกจากนี้ ยังมีสัญญาณการว่างงานเพิ่มขึ้น และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลง ซึ่งจะมาก่อนเศรษฐกิจขาลงเสมอ

สุดท้ายนี้ ถึงแม้สินทรัพย์ปลอดภัยจะเป็นหลุมหลบภัยที่ดียามตลาดไม่ดี แต่ก็เป็นเหมือนสินทรัพย์อื่นๆ ที่มีขาขึ้น ขาลง ไม่ได้ให้ผลตอบแทนดีตลอดเวลา ฉะนั้น การลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย เพื่อกระจายความเสี่ยงให้สอดคล้องกับระดับที่เรายอมรับได้ จะเป็นตัวช่วยที่ดีที่สุด ที่ทำให้โอกาสรับผลตอบแทนของพอร์ตโดยรวม มีความมั่นคงมากขึ้น

เขียนโดย: จารุพันธ์ จิระรัชนิรมย์ ที่ปรึกษาการเงิน AFPT™