ผู้มีเงินได้ = มีหน้าที่ต้อง "ยื่นภาษี"
ผู้มีเงินได้ถึงเกณฑ์ = มีหน้าที่ต้อง "เสียภาษี"
แล้วผู้มีเงิน แต่ไม่ได้ = ต้องเสียภาษีไหม?

ไม่ได้เงิน เพราะไม่ขอรับเงินเดือน

เวลาพนักงานประกาศไม่รับเงินเดือน สิ่งที่เชื่อมโยงกับเรื่องของภาษี คือ การคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพราะว่าวิธีการคำนวณภาษีนั้น จะคำนวณจากเงินได้ที่ได้รับ หมายถึง "เงิน, ทรัพย์สิน, ประโยชน์ที่ได้รับ" (อ่านนิยามเพิ่มตามมาตรา 39)

ดังนั้น เมื่อไม่ได้รับ "เงิน" จริง ก็จะไม่ถือเป็นเงินได้ของบุคคลนั้น ทำให้การเสียภาษีเงินได้ลดลงไปด้วย

ยกตัวอย่างเช่น นาย ก เป็นมนุษย์เงินเดือน ได้รับเงินเดือนในอัตรา 120,000 บาท/เดือน

หากนาย ก บอกว่าไม่รับเงินเดือน 3 เดือน เงินได้ทั้งปีของนาย ก ก็จะลดลงจาก
1,440,000 บาท เหลือ 1,080,000 บาท

ซึ่งย่อมมีผลทำให้นาย ก เสียภาษีเงินได้ลดลง

แต่ผลกระทบของเรื่องนี้ยังไม่จบ เพราะอาจจะไปกระทบเรื่องการคำนวณภาษีหัก
หรือ ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (ภ.ง.ด. 1) ที่นายจ้างหักนำส่งให้กรมสรรพากรในแต่ละเดือน

เนื่องจากการคำนวณภาษีหักนี้ จะคำนวณจากเงินได้ทั้งปีที่นาย ก ได้รับ เมื่อเงินได้ลดลง ภาษีที่ถูกหักจะลดลงไปด้วย และน่าจะลดลงมาก ในกรณีที่การลดเงินเดือนนั้น เกิดขึ้นในช่วงกลางปีถึงปลายปี

อย่างเช่นตัวอย่างของนาย ก ตอนแรกภาษีหัก ณ ที่จ่ายจะคำนวณจากเงินได้จำนวน 1,440,000 บาท หักค่าใช้จ่าย ค่าลดหย่อน แล้วคำนวณภาษีทั้งปีออกมาเป็นเท่าไร แล้วแบ่งหักไว้ในแต่ละเดือนเท่าๆ กัน

ถ้าผ่านไปสัก 7-8 เดือน เกิดมีการเปลี่ยนแปลงเงินได้ขึ้นมา ย่อมส่งผลต่อภาษีที่หักไว้ล่วงหน้า อาจจะหักไว้มากกว่าจำนวนที่นาย ก ต้องจ่าย

ดังนั้น นาย ก อาจจะได้คืนภาษีปลายปีได้ หากภาษีที่คำนวณได้จากเงินได้ที่ปรับใหม่ น้อยกว่าภาษีที่ถูกหักไว้ในระหว่างปีนั่นเองครับ

ไม่ได้เงิน เพราะรับเงินเดือน แต่นำไปบริจาค

ในกรณีนี้ เงินเดือนที่รับมาจะถูกคำนวณเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษีในจำนวณที่เท่าเดิม เพราะถือว่ารับเงินมาแล้ว แต่ถ้ารับเงินเดือนมาแล้ว และมีการนำไปบริจาค ไม่ว่าจะเป็น บริจาค 100% ของเงินเดือน หรือ บางส่วนของเงินเดือน ผู้เสียภาษีสามารถนำหลักฐานการบริจาคไปลดหย่อนภาษีได้

โดยมีหลักว่า เงินบริจาคทั่วไป สามารถใช้เป็นค่าลดหย่อนได้ ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของรายได้หลังหักค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อนอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เงินบริจาค

ทั้งนี้ แม้จะขอไม่รับเงินเดือนเลย ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ต้องยื่นภาษี หรือไม่ต้องเสียภาษี เนื่องจากเงินเดือนเป็นเพียงเงินได้ประเภทหนึ่งเท่านั้น และเราสามารถมีเงินได้ประเภทอื่นๆ ได้ นอกเหนือจากเงินเดือน เช่น รายได้จากการลงทุน รายได้จากธุรกิจ รายได้จากค่าลิขสิทธิ์ และอื่นๆ เป็นต้น

ขอบคุณข้อมูลจากเพจ TAX Bugnoms