เห็นข่าว “นักร้องหนุ่ม ช็อก! หลังซื้อรถหรูลัมโบร์กีนีมาขับได้ไม่นาน ล่าสุดถูกตำรวจบุกบ้านยึดรถคันดังกล่าว ซึ่งพอทราบรายละเอียดเจ้าของเก่าไม่ได้ส่งค่างวด เป็นเหตุทำให้รถโดนไฟแนนซ์ตามมายึด โดยทางเต็นท์รถไม่ได้แจ้งก่อนจะตกลงซื้อขายกัน ว่ารถคันนี้ติดไฟแนซ์อยู่”

เรื่องกลโกงจำนำรถ มีเกิดขึ้นบ่อยครั้งมาก ยิ่งในยุคที่เศรษฐกิจฝืดเคือง การทำมาหากินลำบาก แต่เมื่อค่าใช้จ่ายสูงกว่ารายได้ ก็ต้องหารายได้จากทางอื่น อย่างเช่น ขายทรัพย์สิน เป็นต้น แต่การขายทรัพย์สินมักจะได้ราคาต่ำกว่ามูลค่าทางตลาดเยอะ และหลายทรัพย์สินเราก็ยังจำเป็นต้องใช้ อย่างบ้านก็ต้องอาศัยอยู่ รถก็ต้องใช้ในการทำงาน ทางออกหนึ่งคือ เอาทรัพย์สินไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันในการขอสินเชื่อ ถ้าเอาอสังหาริมทรัพย์ไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ก็เรียก “จำนอง” ถ้าเอาสังหาริมทรัพย์อย่างเช่น รถ เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ก็เรียก “จำนำ”

เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นการจำนอง หรือ จำนำ ทรัพย์สินที่เราเอาไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันต้องเป็นทรัพย์สินของเราเท่านั้น

แล้วรถติดไฟแนนซ์ที่นักร้องหนุ่มไปซื้อมา จริงๆ แล้ว ใครเป็นเจ้าของรถ ตามกฎหมาย รถที่ติดไฟแนนซ์มาจากการซื้อรถผ่านบริษัทที่รับจัดไฟแนนซ์รถยนต์ให้กับเรา ซึ่งการจัดไฟแนนซ์รถยนต์ คือ การที่เราซื้อรถกับบริษัทที่ขายรถยนต์โดยตรง หรือซื้อผ่านบริษัทที่รับจัดไฟแนนซ์รถยนต์ โดยที่เราจะได้รถมาใช้เลยหลังตกลงเสร็จสิ้น และชำระเงินด้วยวิธีการทยอยจ่ายเป็นรายเดือนไป ตามแต่ตกลงว่าจะผ่อนชำระเดือนละกี่บาท เป็นระยะเวลาเท่าไหร่ อัตราดอกเบี้ยเท่าไหร่

ในกรณีนี้ ขณะที่เรายังผ่อนชำระรถยนต์ที่ติดไฟแนนซ์อยู่นั้น ชื่อของเจ้าของรถจะเป็นของบริษัทรถยนต์ หรือบริษัทรับจัดไฟแนนซ์นั้น ๆ จนกว่าเราจะผ่อนชำระเงินต้นรวมถึงดอกเบี้ยครบถ้วน กรรมสิทธิ์เจ้าของรถก็จะได้รับโอนมาเป็นชื่อของเรา

แปลง่ายๆ ว่า รถที่ยังติดไฟแนนซ์อยู่โดยผ่อนส่งค่าเช่าซื้อยังไม่ครบนั้น กรรมสิทธิ์ในรถเป็นของไฟแนนซ์ ผู้เช่าซื้อมีสิทธิครอบครองเพื่อใช้สอยเท่านั้น ไม่มีสิทธิที่จะนำไปขาย หรือ จำนำได้

รถติดไฟแนนซ์ที่มักจะเอามาขายหรือจำนำตามเต้นท์รถ ส่วนใหญ่จะเป็นรถหนีไฟแนนซ์ คือ รถที่ผู้เช่าซื้อรถได้ค้างชำระค่างวด 3 งวดติดต่อกัน แล้วทางไฟแนนซ์หรือสถาบันการเงินที่เป็นผู้ให้เช่าซื้อได้ออกหนังสือมาให้ชำระค่างวดที่ค้างอยู่ภายใน 30 วัน โดยผู้เช่าซื้อนิ่งเฉยไม่ยอมชำระ แต่กลับนำรถไปขายต่อโดยการโอนลอยให้กับผู้อื่นหรือเต็นต์ หรือนำรถไปจำนำแล้วปล่อยขาดซึ่งรถจะถูกนำไปขายทอดตลาดหรือประมูลอีกที

ถ้าคนเอารถติดไฟแนนซ์ไปขายหรือจำนำหล่ะ คนขาย หรือ คนซื้อ จะผิดกฎหมายอะไร?

การเอารถที่ไม่ใช่ของตัวเองไปขาย หรือ จำนำ ผิดกฎหมายแน่นอน ดังนี้

ผู้ขาย

ประมวลกฎหมายอาญา ความผิดฐานยักยอกทรัพย์ มาตรา 352 ได้กล่าวเอาไว้ว่า
“ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ได้ เบียดบังเอาทรัพย์นั้นมาเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

ความตามกฎหมายฉบับนี้อธิบายให้เข้าใจได้ง่าย ๆ ก็คือ รถที่ยังติดไฟแนนซ์อยู่โดยผ่อนส่งค่าเช่าซื้อยังไม่ครบนั้น กรรมสิทธิ์ในการครอบครองเป็นของไฟแนนซ์ ผู้เช่าซื้อมีสิทธิครอบครองใช้สอยเท่านั้น ไม่มีสิทธิ์ที่จะนำไปขายให้แก่บุคคลอื่น นั่นเอง

ผู้ซื้อ

หากรถที่นำมาขายหรือจำนำ ยังเป็นกรรมสิทธิ์ของไฟแนนซ์ คนที่ซื้อหรือรับจำนำรถคันดังกล่าว ก็จะอาจมีความผิดฐานรับของโจรเช่นเดียวกัน!!! ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

แล้วคนที่ซื้อรถจากผู้รับจำนำโดยบริสุทธิ์ ไม่ทราบว่ารถติดไฟแนนซ์ จะมีความผิดหรือไม่

การซื้อรถติดไฟแนนซ์โดยไม่ทราบที่มา ไม่ว่าซื้อจากเต็นต์รถหรือประกาศขายโดยที่มีการโอนลอยไว้ ทำให้ผู้ซื้อรถถูกดำเนินคดีเนื่องจากอยู่ในขบวนการขโมยรถของไฟแนนซ์ด้วย โดยสิ่งที่ตามมานอกจากจะเสียรถแล้วยังต้องเสียเวลาไปกับคดีรวมทั้งมีประวัติคดีความติดตัวด้วย

เรื่องนี้พันตำรวจเอก บุญลือ ผดุงถิ่น ผู้กำกับการ 2 กองบังคับการปราบปราม แนะนำว่า

“ให้เลือกซื้อจากสถานที่รับจำนำที่มีใบอนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย เพราะการซื้อรถที่ราคาถูกผิดปกติและไม่มีเอกสารสิทธิรับรองนั้น ไม่สามารถอ้างได้ว่า ไม่ทราบว่าทรัพย์นั้นมาจากการกระทำผิด ซึ่งอาจมีความผิดฐานรับของโจรได้”

“สำหรับคนที่ซื้อต่อ เห็นอยู่แล้วว่าไม่ใช่การซื้อที่ถูกต้อง ไม่ได้ซื้อมาร้านหรือจากบุคคลที่ขายต่อมือสอง ซื้อจากเพจรถหรือจำนำในราคาขายต่อที่ถูกมาก รถสี่ห้าแสน ซื้อไปแสนกว่า จะมาอ้างว่าไม่รู้ว่าได้มาจากการกระทำความผิดนั้นฟังไม่ขึ้น ขอเตือนว่า คนที่จะซื้อรถต่อจากกลุ่มเหล่านี้มีความผิดแน่นอน จะพิสูจน์ว่าตัวเองทำถูกยาก ไม่มีเอกสารสิทธิ มีแต่รถ ขอเตือนว่าอย่าซื้อ”

แล้วถ้าจะซื้อรถมือสองอย่างไรถึงจะปลอดภัย

ในการเลือกซื้อรถมือสอง นอกจากเราต้องดูสภาพรถ ดูรูปทรงรถโดยรวม ดูสี ดูตะเข็บ ดูตัวถัง ฯลฯ แล้ว เราควรตรวจสอบเอกสารรถยนต์ หรือเล่มรถ ดังนี้

  • เลขตัวถังและเลขเครื่องยนต์ ตรงกับในเล่มหรือไม่

  • ผู้ถือกรรมสิทธิ์ ซึ่งจะบอกชื่อผู้ครอบครองที่ถูกต้องตามกฎหมายทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นบุคคลหรือบริษัทที่เคยรับจำนอง ถ้าจะให้แน่ต้องไปตรวจสอบที่กรมขนส่งทางบก แผนกทะเบียนรถ ถึงจะทราบได้ว่าข้อมูลที่ได้รับมาเป็นข้อมูลที่ถูกต้องหรือยัง

  • รายการภาษี เสียภาษีทุกปีหรือไม่ ทริกเล็กๆ คือให้ดูสีหมึกกับระยะบรรทัด เล่มจริงจะไม่เท่ากัน ถ้าเท่าเมื่อไร มีโอกาสที่จะเป็นเล่มปลอม

  • รายการบันทึกของเจ้าหน้าที่ เช็กประวัติรถว่ามีความเป็นมาอย่างไร ปรับเปลี่ยนหรือซ่อมอะไรไปบ้าง และถ้ามีการประทับตราว่า "ออกแทนเล่มสูญหาย" ให้เอะใจไว้ก่อนว่าอาจปลอมแปลงเล่มมา