ช่วงที่ผ่านเชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินเทรนด์การออมเงินที่เป็นกระแสอย่าง FIRE (Financial Independence, Retire Early) ที่เป็นการเก็บเงินให้มากที่สุดในช่วงระยะเวลาหนึ่งเพื่อจะได้เกษียณไปใช้ชีวิตที่ตัวเองใฝ่ฝันโดยเร็วที่สุด

สำหรับหลายคน เป้าหมายตรงนี้ดูมีเหตุผล ทำงานหนัก หาเงินให้เยอะที่สุด แล้วก็เกษียณ

แต่ตอนนี้ดูเหมือนว่าในกลุ่มคนทำงานรุ่นใหม่จะมีเทรนด์การออมเงินอีกแบบหนึ่งที่เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เรียกว่าการออมแบบ ‘Soft Saving’ (แปลไทยก็ประมาณว่า ‘ออมเล็กน้อย’) ซึ่งท้าทายความเชื่อเรื่องการออมเงินเพื่อการเกษียณแบบเดิมๆ ไม่น้อย

เทรนด์ ‘Soft Saving’ คือการเก็บออมให้น้อยลงเพื่ออนาคต แต่ใช้เงินกับตัวเองมากขึ้นในเวลานี้

ดูเหมือนคนที่ไม่มีความรับผิดชอบเรื่องการเงินถูกไหมครับ?

แต่เบื้องหลังแนวคิดนี้มีเหตุผลและข้อมูลที่ทาง Intuit (บริษัทซอฟต์แวร์ด้านการเงิน-ภาษีรายใหญ่ของโลก) ได้ทำการสำรวจมารองรับเช่นกัน

ในการศึกษาหนึ่งที่ชื่อว่า “Prosperity Index Study” ของ Intuit ในช่วงต้นปี 2023 พบว่า

“Soft Saving คือการตอบสนองของ Gen Z ที่มีต่อยุค FIRE, Girl Boss และวัฒนธรรมทำงานหนัก”

จากข้อมูลที่พวกเขาพบคือ Gen Z ที่เป็นแรงงานสำคัญของโลกในเวลานี้ไม่ได้ต้องการที่จะเกษียณอายุให้เร็วที่สุดหรือบางคนอาจจะไม่ได้มองว่าตัวเองจะเกษียณเลยด้วยซ้ำ

แม้พวกเขาจะเรียนรู้และหาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องการหาเงิน ลงทุน และออมเงินอยู่เสมอ แต่ก็ไม่ได้ทำแบบตึงเครียดเหมือนคนรุ่นก่อนๆ สิ่งที่สนใจคือ “การเติบโตและพัฒนาตัวเอง รวมไปถึงสุขภาพจิตใจในตอนนี้” มากกว่า

พูดอีกอย่างคืออยากรู้สึก ‘เติมเต็มในตอนนี้มากกว่าที่จะเก็บออมเพื่ออนาคตที่ยังไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น’ นั่นเอง

มันคือไลฟ์สไตล์และกรอบความคิดที่เปลี่ยนไป โอบรับความรู้สึกที่ดีของชีวิตและมีความเครียดน้อยลง ให้ความสำคัญกับการเติบโตของตัวเองและสุขภาพจิตใจ เลือกที่จะใช้เงินกับสิ่งที่สะท้อนแนวคิดตรงนี้เพิ่มขึ้น

ลิซ โคห์เลอร์ (Liz Koehler) หัวหน้าฝ่ายที่ปรึกษาด้านธุรกิจที่ปรึกษาความมั่งคั่งในสหรัฐฯ ของบริษัท BlackRock กล่าวกับ CNBC ว่า “คนรุ่นใหม่มองหาการเชื่อมโยงด้านความรู้สึกกับแบรนด์และสายอาชีพการงานที่เลือกจะทำ” มากกว่าคนรุ่นก่อนๆ

คนเก็บเงินน้อยลงจริงไหม?

รายงานของ Intuit ชี้ให้เห็นว่าคนทำงานรุ่นใหม่ต้องการหลุดพ้นจากกรอบข้อจำกัดทางการเงินแบบเดิมๆ ที่เราคุ้นเคย 3/4 ของ Gen Z อยากมีคุณภาพชีวิตที่ดีมากกว่าตัวเลขของเงินที่มากขึ้นในธนาคาร

ตัวเลขสถิติการเก็บออมเงินในอเมริกาเองก็สะท้อนเทรนด์นี้เช่นกัน ข้อมูลจากสำนักงานวิเคราะห์เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา พบว่าชาวอเมริกันออมน้อยลงในปี 2023 เหลือเพียง 3.9% เท่านั้น ลดลงมากกว่าครึ่งหนึ่งจากค่าเฉลี่ยที่ 8.51% ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

แน่นอนว่าจะบอกว่าเป็นเพียงแค่นิสัยการออมที่น้อยลงเพียงอย่างเดียวก็คงไม่ถูกต้องนัก ไรอัน วิกทอริน (Ryan Viktorin) รองประธานที่ปรึกษาทางการเงินของ Fidelity Investments (บริษัทให้บริการทางการเงิน) บอกว่าช่วงโควิด-19 คนไม่ค่อยได้ใช้เงินกันนัก การเดินทางท่องเที่ยวหยุดชะงัก ตอนนี้คนเลยกลับมาใช้เงินกันเยอะมากขึ้น

โคห์เลอร์เห็นด้วยกับประเด็นนี้ และเสริมว่าหลังโควิดก็เจอเรื่องภาวะเงินเฟ้อที่หาเงินมาเท่าไหร่ก็ไม่พอกับค่าใช้จ่าย อย่าพูดถึงเหลือเงินเก็บเลย

แต่วิกทอรินเองก็บอกว่าการเปลี่ยนแปลงก็มาจากแนวคิดทางการเงินของกลุ่มคนทำงานรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนไปเช่นกัน พวกเขาให้ความสำคัญกับ “ความสมดุลระหว่างวัฒนธรรมทำงานหนักเก็บเงินทุกสตางค์และใช้เงินที่ได้เพื่อหาความสุขให้กับชีวิตตอนนี้ด้วย”

เป้าหมายการเกษียณที่ไม่มีวันมาถึง?

สำหรับคนทำงานทั่วไปการเกษียณเหมือนเป็นหมุดหมายหลักของการทำงาน แต่ช่วงที่ผ่านมานั้นคนทำงานรุ่นใหม่ๆ กลับรู้สึกว่าตัวเองอาจจะไปไม่ถึงตรงนั้น และอาจจะไม่ได้เกษียณเลยตลอดทั้งชีวิตก็ได้

รายงานจาก Blackrock (บริษัทการลงทุนข้ามชาติสัญชาติอเมริกัน) ที่เก็บข้อมูลจากคนทำงานในปี 2023 พบว่ามีเพียง 53% เท่านั้นที่เชื่อว่าสามารถเกษียณอายุและมีวิถีชีวิตแบบที่ต้องการในบั้นปลายชีวิตได้ ปัจจัยหลัก ๆ ที่ทำให้รู้สึกว่าเป้าหมายการเกษียณเป็นสิ่งที่เอื้อมไม่ถึงคือเรื่องรายได้ที่จะหายไป, เศรษฐกิจที่ผันผวน และเงินเฟ้อที่เกิดขึ้น

ในกลุ่มคนทำงานรุ่นใหม่ๆ ก็รู้สึกคล้ายๆ กัน เว็บไซต์ข่าว CNBC บอกว่า 2/3 ของพนักงาน Gen Z นั้นไม่ชัวร์เลยว่าตัวเองจะสามารถเก็บเงินได้พอสำหรับช่วงเกษียณด้วยซ้ำ ในรายงานของ Intuit ก็บอกว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่ๆ ไม่ได้อยากเกษียณเร็วๆ อีกต่อไป หรือบางคนก็บอกว่าอาจจะไม่เกษียณเลย

สิ่งที่น่าสนใจคือคำอธิบายของคำว่า ‘เกษียณ’ ของคนรุ่นใหม่ๆ ก็แตกต่างออกไปจากคนรุ่นก่อนด้วย

จากที่เมื่อก่อนคนมองว่าการ ‘เกษียณ’ คือออกจากงานแล้วไปพักผ่อน ท่องเที่ยว ใช้ชีวิตที่ตัวเองต้องการ แต่กลายเป็นว่า 41% ของ Gen Z และ 44% ของ Millenials (อายุ 27-42 ปี) คาดว่าแม้ตัวเองจะอยู่ในวัยเกษียณก็จะยังหางานทำอยู่ดี ซึ่งมีเพียง 31% ของ Gen X และ 21% ของ Baby Boomers เท่านั้นที่คิดแบบนี้

นั่นหมายความว่าคนรุ่นใหม่ๆ มองคำว่า ‘เกษียณ’ อาจจะไม่เกิดขึ้นเลยเพราะสุดท้ายก็เลือกทำงานต่อไปเรื่อยๆ ตราบที่ยังทำงานได้นั่นเอง

แล้วคนรุ่นใหม่เลือกใช้เงินกับอะไร?

เมื่อออมเงินน้อยลง พวกเขาเลือกใช้เงินกับอะไรแทน?

รายงานของ Intuit พบว่า Gen Z เลือกที่จะใช้เงินกับงานอดิเรกและของที่ไม่ได้จำเป็น มากกว่า Gen X และ Boomers

ประมาณ 47% ของ Millennials และ 40% ของ Gen Z บอกว่าพวกเขาต้องการเงินเพื่อทำในสิ่งที่ตัวเองหลงใหลมีแพสชันและงานอดิเรก เทียบกับ 31% ของ Gen X และ 20% ของ Boomers

สองประเภทหลักๆ คือเรื่องการเดินทางและความบันเทิง ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญ

แอนดี รีด (Andy Reed) หัวหน้าฝ่ายพฤติกรรมนักลงทุนของบริษัทจัดการลงทุน Vanguard บอกว่า Gen Z ยอมจ่ายเงินเพื่อซื้อประสบการณ์และความบันเทิงเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วงสามสี่ปีที่ผ่านมา แต่ไม่ได้หมายความว่าคนรุ่นใหม่ไม่เก็บเงินหรือใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย รีดบอกว่า

“Gen Z ดูเหมือนมีวิถีชีวิตตามรายได้ของตัวเองนั่นเแหละ การใช้เงินเพิ่มขึ้นสะท้อนมาจากค่าใช้จ่ายของสิ่งของจำเป็นที่แพงมากขึ้น มากกว่ารสนิยมความหรูหราที่เพิ่มขึ้น”

สิ่งที่เขาแนะนำคือ “การใช้จ่ายเงินซื้อของที่ทำให้มีความสุขจริงๆ นั้นเป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยม แต่ในขณะที่ตอบสนองความต้องการระยะสั้นแล้วคุณควรจะทำตามเป้าหมายระยะยาวไปด้วย ก่อนจะใช้เงินอย่างไม่มีข้อจำกัด”