เชื่อว่าในช่วงเดือนที่ผ่านมา เราจะเห็นคนอยู่หลักๆ 2 ประเภท คือ คนที่แต่งงาน และคนที่ไปงานแต่ง ค่อนข้างเยอะ เพราะเมื่อความรักสุกงอมเต็มที่ และได้ช่วงเวลาที่เหมาะสม ก็จะเกิดงานแต่งขึ้น

หากว่ากันตามประเพณีการสู่ขอตามขนบธรรมเนียมของการแต่งงานแบบไทย ฝ่ายชายจะต้องไปสู่ขอหญิงที่ตนเองรักกับพ่อแม่ของฝ่ายหญิง มีการให้สินสอด ของหมั้นอย่างถูกต้องเสียก่อน

⭐ สินสอดคืออะไร?

สินสอด คือทรัพย์สินที่เป็นเสมือนค่าตอบแทนการยินยอมสมรส ในประเทศไทยจะหมายถึงทรัพย์สินของฝ่ายชายที่ให้แก่พ่อแม่หรือผู้ปกครองของฝ่ายหญิง สินสอดจะเป็นเงินหรือทรัพย์สินอื่นๆ ก็ได้ เช่น ทอง เพชร ฯลฯ

⭐ ของหมั้นคืออะไร?

ของหมั้น คือ ทรัพย์สินที่ฝ่ายชายจะให้แก่หญิงคู่หมั้นเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น ของหมั้นจึงต้องให้ก่อนสมรส โดยฝ่ายชายจะให้ของหมั้นในขณะทำสัญญาและฝ่ายหญิงต้องรับของหมั้นไว้ ของหมั้นจะตกเป็นของฝ่ายหญิงเพื่อเป็นสมบัติติดตัวตอนแต่งงานนั่นเอง

➡️ สินสอด กับ ของหมั้น ต่างกันอย่างไร?

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1437 ได้ระบุไว้ว่า “สินสอด” จะต้องตกลงจำนวนสินสอดกันก่อนสมรส แต่สามารถมอบให้ก่อนหรือหลังสมรสก็ได้ โดยเมื่อมอบแล้วจะตกเป็นของพ่อแม่ฝ่ายหญิงทันที ส่วน “ของหมั้น” จะต้องให้ก่อนสมรสเท่านั้น และทรัพย์สินจะเป็นของติดตัวฝ่ายของฝ่ายหญิง

➡️ สินสอด ของหมั้นที่ได้รับต้องเสียภาษีหรือไม่?

ตามกฎหมาย สรรพากรระบุว่า บุคคลธรรมดาที่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หลักๆ แล้วมี 2 คน คือ คนที่เป็นคน(บุคคลธรรมดา) กับ คนที่ไม่ใช่คน(นิติบุคคล)

โดยสรรพากรกำหนดว่า ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ได้แก่ ผู้ที่มีเงินได้เกิดขึ้นระหว่างปีที่ผ่านมาโดยมีสถานะ อย่างหนึ่งอย่างใด ดังนี้

(1) บุคคลธรรมดา (ก็คือ พวกเรานั่นแหละ)

(2) ผู้ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี แปลว่า ต่อให้ปีทีผ่านมา เราเสียชีวิตแล้ว เราก็ยังมีหน้าที่ต้องเสียภาษี

(3) กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง คือ ตายไปแล้ว แต่มรดกลูกหลานยังตกลงแบ่งกันไม่จบ ปีถัดจากปีที่เราตาย ถ้ามรดกเรามีเงินได้อย่างเช่น เงินฝากในธนาคารยังมีดอกเบี้ย หุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯยังได้เงินปันผล ฯลฯ เราก็ยังต้องเสียภาษีในฐานะกองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง

(4) ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล

✅ ถ้าพิจารณาในจุดนี้ หญิงคู่หมั้น และ พ่อแม่ฝ่ายหญิง ต้องเสียภาษีแน่นอน เพราะเป็นบุคคลธรรมดาตามข้อ (1)

ส่วนเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ตามกฎหมายเงินได้ที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หมายถึง เงินได้ของบุคคลใดๆ หรือหน่วยภาษีใดข้างต้นที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคมของปีนั้น (ปีภาษี) แบ่งได้เป็น 2 อย่างใหญ่ๆ คือ

1. เงินที่เป็นเงิน (รวมถึง เงินภาษีอากรที่ผู้อื่นออกแทนให้ และ เครดิตภาษีตามที่กฎหมายกำหนด)

2. เงินที่ไม่ใช่เงิน ก็คือ
o ทรัพย์สินที่จำต้องได้ เช่น รถ บ้าน ฯลฯ
o ทรัพย์สินที่จับต้องไม่ได้ เช่น ประโยชน์ สิทธิต่างๆ ตัวอย่างเช่น บริษัทเช่าบ้านให้เราอยู่ฟรี

✅ ถ้าพิจารณาในจุดนี้ หญิงคู่หมั้น และ พ่อแม่ฝ่ายหญิง ต้องเสียภาษีแน่นอน เพราะไม่ว่าจะเป็นเงินหรือทรัพย์สินอะไรก็ถือเป็นเงินได้ที่ต้องเสียภาษี

แต่เจ้าบ่าวเจ้าสาวไม่ต้องตกใจนะ เพราะสินสอด ของหมั้น ถือเป็นเงินได้ที่ผู้มีเงินได้ได้รับจากการอุปการะโดยหน้าที่ โดยธรรมเนียม หรือจากการให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธี หรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี ทั้งนี้ จากบุคคลซึ่งมิใช่บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส เฉพาะเงินได้ในส่วนที่ไม่เกิน 10 ล้านบาทตลอดปีภาษีนั้น

➡️ สินสอด เป็นทรัพย์สินที่ฝ่ายชายมอบให้แก่พ่อ แม่ฝ่ายหญิง เป็นการให้เนื่องในขนบธรรมเนียมประเพณี ดังนั้น หากพ่อแม่ฝ่ายหญิงได้รับสินสอดไม่เกิน 10 ล้านบาท ก็ไม่ต้องเสียภาษี แต่หากเกิน 10 ล้านบาท ส่วนที่เกิน 10 ล้านบาท พ่อแม่ฝ่ายหญิงผู้รับสินสอดต้องเสียภาษี 5%

➡️ ทำนองเดียวกันกรณีของหมั้น เป็นทรัพย์สินที่ฝ่ายชายมอบให้แก่ฝ่ายหญิง ของหมั้นเป็นทรัพย์สินที่ฝ่ายชายและให้แก่หญิง เป็นการให้เนื่องในขนบธรรมเนียมประเพณี และฝ่ายชายเองขณะที่ให้ยังไม่ถือเป็น “คู่สมรส” เพราะยังไม่ได้จดทะเบียนสมรส ดังนั้น หากฝ่ายหญิงได้รับของหมั้นไม่เกิน 10 ล้านบาท ก็ไม่ต้องเสียภาษี แต่หากเกิน 10 ล้านบาท ส่วนที่เกิน 10 ล้านบาท ฝ่ายหญิงผู้รับของหมั้นต้องเสียภาษี 5%

✅ และเนื่องจากเงินได้จากการรับ สรรพากรจัดเป็นเงินได้ประเภทที่ 8 ดังนั้นสินสอด ของหมั้นส่วนที่เกิน 10 ล้านบาทจึงสามารถยื่นในแบบ ภงด. 90 โดยสามารถเลือกเสียภาษีในอัตรา 5% หรือจะเลือกนำไปรวมคำนวณกับเงินได้อื่นก็ได้

ดังนั้น หากอยากจะช่วยพ่อแม่ฝ่ายหญิง และฝ่ายหญิงประหยัดภาษี ก็อย่าให้สินสอดแก่พ่อแม่ฝ่ายหญิงเกิน 10 ล้าน และอย่าให้ของหมั้นแก่ฝ่ายหญิงเกิน 10 ล้าน แต่ถ้าถามใจฝ่ายหญิงคงบอก “ให้มาเยอะๆ เลย เสียภาษีก็ยอม ฮ่าๆ”

➡️ อีกนิดนะ เงินได้ที่ฝ่ายหญิงได้รับจากญาติ เพื่อนฝูงในงานหมั้นหรืองานแต่ง เช่น การให้ซอง ก็นับเป็นเงินได้ที่ได้รับจากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยาหรือจากการให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธี หรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี จึงต้องเสียภาษีการรับเช่นกัน

ตัวอย่างเช่น หากฝ่ายหญิงได้รับของหมั้นมูลค่า 8 ล้านบาท ได้ซองจากเพื่อนๆ รวม 4 ล้านบาท เท่ากับฝ่ายหญิงมีเงินได้จากการรับที่ได้รับจากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยาหรือจากการให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธี หรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี รวม 12 ล้านบาท ฝ่ายหญิงต้องเสียภาษีการรับ 5% ของส่วนที่เกิน 10 ล้านบาท คือ 2 ล้านบาท (12 – 10 = 2 ล้านบาท) เป็นเงิน 100,000 บาท

ดังนั้น ถ้ารักเพื่อน ห่วงเพื่อน ไม่อยากให้เพื่อนเสียภาษีเยอะ ไปงานหมั้นงานแต่งครั้งต่อไป งั้นเราก็อย่าใส่ซองเยอะนะหรือเปล่านะ ฮ่าๆ