เช็กอาการ “เศรษฐกิจไทย”

⚠️“ทุกครั้งที่ผ่านวิกฤติ ไทยไม่เคยเติบโตได้ดีเท่าเดิม”

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย กรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า หากย้อนเศรษฐกิจไทยไปช่วงปี 1990 จะพบว่าเศรษฐกิจในช่วงนั้นเต็มไปด้วยโอกาส ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจขยายตัวได้ปีละหลาย 10% แต่พอเข้าสู่ช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อปี 1997 เศรษฐกิจไทยก็เปลี่ยนไป ทำให้เติบโตได้เพียงปีละประมาณ 5% จนกระทั่งวิกฤติครั้งล่าสุด COVID-19 ทำให้เศรษฐกิจโตได้เพียงระดับ 3% เท่านั้น แสดงให้เห็นว่าหลังจากวิกฤติแต่ละครั้งที่เกิดขึ้น เศรษฐกิจไทยไม่เคยกลับมาอยู่ในจุดเดิมได้เลย

ทั้งนี้ ในช่วงหลังวิกฤติ COVID-19 หลายคนยังมีความหวังว่า ภาคการท่องเที่ยวจะกลับมาฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่ แต่ยังไม่เป็นไปอย่างที่คิด อีกทั้ง ด้านความสามารถในการแข่งขันก็ลดลง มีการพึ่งพิงสินค้านำเข้าจากจีนเพิ่มมากขึ้น รวมทั้ง มีปัญหาโครงสร้างประชากร ทั้งด้าน “ประมาณ” ที่แนวโน้มประชาการลดลง และด้าน “คุณภาพ” ที่หากวัดจากคะแนน PISA ปีล่าสุด ผลลัพธ์คือเด็กไทยได้คะแนนต่ำสุดในรอบ 20 ปี

⚠️“เศรษฐกิจไทย เหมือนกับ นักกีฬาสูงวัย”

ดร.สันติธาร เสถียรไทย สมาชิกคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยมีอาการเหมือนกับ “นักกีฬาสูงสัย” เนื่องมาจาก (1) เริ่มเดิมช้าลง เพราะมีผู้สูงอายุเยอะขึ้น อีกทั้ง เศรษฐกิจก็โตช้า (2) ความสามารถในการแข่งขันลดลงเมื่อเทียบกับนานาประเทศ (3) กระดูกแตกง่าย เมื่อมีการกระตุ้นหนักๆ เช่น การกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมากลับส่งผลให้เกิดหนี้เพิ่มขึ้น เป็นต้น

ทั้งนี้ ต้องบอกว่าปัญหาของเศรษฐกิจไทยไม่ใช่การต้องพบเจอกับวิกฤติหรือ “การล้มหนัก” แต่ประเทศไทยกำลังตามประเทศอื่นๆ ไม่ทัน และหากปล่อยไว้ก็จะยิ่งทิ้งระยะห่างเข้าไปเรื่อยๆ

⚠️“ปัญหาเศรษฐกิจไทย เหมือนปัญหาฝุ่น PM ที่ปกคลุมอยู่”

คุณสราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ เจ้าของนามปากกา นิ้วกลม กับ “เฉลียง Rare Item” กล่าวว่า ปัญหาเศรษฐกิจไทยตอนนี้เหมือนปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่ปกคลุมประเทศอยู่ และเชื่อว่าคนรุ่นใหม่หลายคนยังมีคำถามในเรื่องของ “ความหวัง” ที่ว่าประเทศนี้ยังเป็นความหวังให้กับชีวิตของเขาได้หรือไม่ และต้องช่วยกันดูว่าปัญหาอยู่ตรงไหน ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องของการมีส่วนร่วมต่างๆ ในประเทศที่ควรจะมีเวทีให้ทุกคนได้แสดงความเห็นเพิ่มมากขึ้น ซึ่งข้อดีของคนรุ่นใหม่ คือ เรียนรู้เร็ว และอยากมีส่วนร่วมในเรื่องต่างๆ อยู่แล้ว

[ เปลี่ยนประเทศไทยอย่างไรให้ไปได้ไกลกว่านี้ ]

✅ต้องแก้แบบ “Play Smart” ด้วย “ก-ข-ค-ฅ”

ดร.สันติธาร เสถียรไทย ให้ความเห็นว่า นักกีฬาที่สูงวัย ไม่สามารถใช้วิธีแก้ปัญหาง่ายๆ ได้ แต่ต้องมีความระมัดระวังเพิ่มมากขึ้น โดยต้อง “Play Smart” เน้นคุณภาพมากกว่าเน้นปริมาณ ซึ่งการจะแก้ปัญหานั้นมีทางออกแน่นอน แต่ไม่มีทางลัด โดยอาจสรุปเรื่องที่ต้องแก้ได้แบบ “ก-ข-ค-ฅ” ดังนี้

➡️ก.กฏหมาย

ปัจจุบันมีการทำเรื่องของ “กิโยตินกฎหมาย” ที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนอยู่ โดยคาดว่าจะช่วยแก้ปัญหาและลดอุปสรรคที่เกิดขึ้นจากการใช้กฏหมายแบบเก่าลงได้ แต่การปรับปรุงหรือแก้ไขอาจไม่ใช่เพียงเรื่องของปรับกฏเกณเท่านั้น อาจรวมไปถึงการเปิดเผยข้อมูลต่างๆ ร่วมด้วย

➡️ข.ขนาดตลาด

ในยุคที่โลกมีความขัดขัดแย้งหรือมีปัญหาในภูมิภาคหนึ่ง ก็มาพร้อมกับโอกาสให้อีกภูมิภาคหนึ่งเช่นกัน เช่น ปัจจุบันนักลงทุนต้องการลดความเสี่ยงลง จึงมีการย้ายการลงทุนจากจีนกระจายไปลงทุนในภูมิภาคอื่น อย่าง อินเดียและอาเซียนมากขึ้น แต่ถือว่าไทยยังได้ส่วนแบ่งการลงทุนค่อนข้างน้อย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะขนาดตลาด (Market Size) ของไทยที่ไม่ใหญ่ ซึ่งทำให้ไทยไม่ค่อยมีเสน่ห์ เมื่อรู้ว่าไม่มีเสน่ห์ก็ควรทำให้ “นิสัยดีขึ้น” ถึงจะน่าสนใจ

➡️ค.โครงสร้างพื้นฐาน

ปัจจุบันโลกมีการเปลี่ยนแปลงไปขึ้นทุกวัน หากต้องจะเปลี่ยนประเทศไทยจริงๆ ควรให้ความสำคัญกับโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับดิจิทัลและเทคโนโลยี โครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานสะอาด โครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับประชากรสูงวัย เป็นต้น

➡️ฅ.ฅน(คน)

คนไทยส่วนมากยังอยู่ในภาคการเกษตร ซึ่งในจำนวนนี้เชื่อว่าหลายคนต้องจำใจอยู่หรือทำงานแบบไม่มีทางเลือก เพราะอาจขาดทักษะในด้านอื่นๆ เห็นควรว่าควรมีการผลักดันให้เกิดการ Reskill และ Upskill ก็จะช่วยได้มาก

✅“เน้นการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นที่หลากหลาย”

คุณสราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ ให้ความเห็นว่า ปัจจุบันคนค่อนข้างมีภาวะเครียด ทั้งจากตำแหน่งงานที่น้อยลง การแข่งขันที่สูงขึ้น ส่งผลให้เกิดปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตเพิ่มมากขึ้นทั้งวัยทำงานและวัยเรียน ดังนั้น การแก้ปัญหาโดยคำนึงถึงความรู้สึกนึกคิดของคนในสังคมก็มีส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศเช่นกัน ดังนั้น ควรเปิดกว้างในคนในสังคมได้แสดงความคิดเห็นและร่วมกำหนดนโยบายด้วยตัวเองเพิ่มขึ้น เพราะจะทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า HYGGE (ฮุกะ) หรือความรู้สึกอุ่นใจเมื่อได้มีส่วนร่วมนั่นเอง

✅สร้างการรับรู้และยอมรับว่ามีปัญหา

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ให้ความเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงประเทศไทยนั้น เกิดขึ้นได้ 2 แบบ คือ “เรารู้ว่ามันเป็นปัญหาแล้วเปลี่ยน” หรือ “รอให้เกิดวิกฤติก่อนแล้วค่อยแก้” แต่ปัญหาวันนี้มันเหมือนกับ “กบโดนต้ม” คือการปล่อยให้ชินกับปัญหาไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายอาจสายเกินแก้ได้ ดังนั้น ทางแก้ไขแรก คือ ต้องสร้างการรับรู้และต้องหาทางแก้ร่วมกัน ควรสร้างให้เกิด Political consensus หรือการแก้ไขปัญหาร่วมกันให้มีความเป็นเอกภาพและมีความปึกแผ่นมั่นคงได้ เพื่อแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างในระยะยาวเพิ่มมากขึ้น