ในภาวะเศรษฐกิจอย่างนี้หลายครอบครัวต้องรัดเข็มขัด วางแผนการเงินอย่างรอบคอบขึ้น ถ้าใครยังไม่รู้ว่าจะบริหารค่าใช้จ่ายอย่างไรให้ลงตัว aomMONEY มีเทคนิคที่น่าสนใจมาฝาก

เชื่อว่าตอนเด็กๆ เราคงมี “โดราเอมอน” เป็นการ์ตูนเรื่องโปรด ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นว่า “โนบิ ทามาโกะ” คุณแม่ของโนบิตะที่เข้มงวดเรื่องการเรียนนั้น เธอเป็นคนบริหารค่าใช้จ่ายในบ้านด้วย หลังจากที่สามีมอบเงินเดือนให้แล้ว แม่ของโนบิตะก็จะแบ่งเงินออกเป็นซองๆ ซองแรกเป็นค่าใช้จ่ายในบ้าน, ซองที่ 2 เป็นค่าใช้จ่ายของสามี, ซองที่ 3 เป็นค่าขนมของโนบิตะ และซองสุดท้ายเป็นค่าใช้จ่ายจิปาถะอื่นๆ

วิธีนี้เรียกว่า The Cash Envelope System

เทคนิคบริหารค่าใช้จ่ายนี้ เป็นที่นิยมในหมู่แม่บ้านญี่ปุ่น ซึ่งจริงๆ ก็มีมานานหลายทศวรรษแล้ว แต่เริ่มบูมสุดๆ เมื่อ “เดฟ แรมซีย์” ชาวอเมริกันผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินส่วนบุคคล หยิบยกวิธีนี้มาให้คำแนะนำ

เมื่อเงินเดือนออก หลังจากหักเงินออมแล้ว ก็ให้นำเงินสดที่เหลือแบ่งใส่ซองจดหมาย ตามจำนวนงบประมาณที่ตั้งไว้ในแต่ละเดือน เสร็จแล้วก็เขียนที่หน้าซองว่าเป็นค่าใช้จ่ายเรื่องอะไร แล้วใช้เงินตามหมวดหมู่นั้น ซึ่งเราต้องบริหารจัดการให้พอดี ห้ามแอบจิ๊กเงินจากซองอื่นมาใช้เด็ดขาด!

ตัวอย่าง

- ค่าอาหาร
- ค่าน้ำ-ไฟ
- ค่าน้ำมัน/ค่าเดินทาง
- ค่าของใช้ส่วนตัว
- ค่าใช้จ่ายเพื่อความบันเทิง
- ค่าของขวัญเพื่อคนอื่น

ข้อดีของ The Cash Envelope System

หลายคนมักจะมีปัญหาใช้จ่ายเกินตัว แต่ถ้าใช้ “ระบบแบ่งเงินใส่ซองจดหมาย” ก็จะช่วยกำหนดขอบเขตงบประมาณได้ชัดเจนขึ้น ฝึกวินัยทางการเงิน และรู้จักบริหารจัดการค่าใช้จ่าย นอกจากนี้แค่เปิดซองดูเงินสดที่เหลืออยู่ ก็จะรู้ทันทีว่าเดือนนี้เราเหลืองบอีกเท่าไหร่

ถ้าซื้อของออนไลน์ต้องทำอย่างไร?

ให้จดบันทึกยอดเงินที่ซื้อไว้หลังซองจดหมาย หากใช้บัตรเครดิตซื้อของออนไลน์ พอสิ้นเดือนก็ให้นำเงินสดในซองมาจ่ายบิล หรือถ้าใช้การโอนเงิน ก็ให้นำเงินสดในซองไปเข้าบัญชีธนาคารแทนครับ สิ่งสำคัญคือต้องบริหารให้ดี อย่าเผลอใช้เกินกว่างบที่ตั้งไว้

แล้วถ้าเงินในแต่ละซองเหลือล่ะ?

เมื่อสิ้นเดือนแล้ว ถ้าซองไหนมีเงินเหลือ เราสามารถนำเงินจำนวนนี้ให้รางวัลตัวเอง เพื่อสร้างแรงจูงใจ อาจฉลองด้วยอาหารมื้อพิเศษ หรือนำไปจ่ายหนี้ หรือเก็บไว้สมทบกับงบประมาณเดือนถัดไปก็ได้ครับ

วิธีง่ายๆ อย่าง The Cash Envelope System แค่แบ่งเงินใส่ซองจดหมาย แล้วบริหารให้อยู่ในงบประมาณ เพียงเท่านี้ก็ช่วยสร้างวินัยทางการเงินได้แล้ว ใครที่มีปัญหาเรื่องวางแผนค่าใช้จ่าย อยากให้ลองดูครับ