💭แล้วคำถาม 30,000 บาท คืออะไร?

เมื่อพูดถึงการสร้างความมั่งคั่ง คนส่วนใหญ่มักจะโฟกัสไปที่ ‘คำถาม 3 บาท’ เป็นอย่างแรก เช่น กระดาษทิชชูอันไหนถูกกว่ากัน หรือวันนี้จะกินกาแฟดีไหม แน่นอนว่าการประหยัดเล็กๆ น้อยๆ เมื่อรวมกันหลายๆ วันก็กลายเป็นเงินก้อนใหญ่ได้ สุดท้ายแล้วการประหยัดเงินก็นับเป็นแนวทางแรกที่ทำให้เงินในกระเป๋าของเราเยอะขึ้นได้จริง

💭แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่ ‘รามิตร เศรษฐี’ มอง

“ฉันไม่ใช่คนที่จะพูดว่า ถ้าเราเลิกกินกาแฟครบ 1,000 แก้ว ก็จะมีเงินเก็บหลักแสนเลยนะ” เพราะในขณะที่เรารายได้เท่าเดิม เราต้องลดความสุขในชีวิตถึงจะมีเงินมากขึ้น แล้วทำไม เราจะมีความสุขในชีวิต ไปพร้อมกับการมีเงินเยอะขึ้นไม่ได้ล่ะ?

สิ่งที่เราควรโฟกัสจึงไม่ใช่การประหยัดแบบ 5 บาท 10 บาทแบบนี้ แต่เป็นการโฟกัสไปที่ ‘คำถาม 30,000 บาท’ เช่น เราเริ่มต้นลงทุนหรือยัง และเรามีแนวทางบริหารการลงทุนอย่างไรให้เติบโตอย่างต่อเนื่องบ้าง ไปจนถึงเรื่องใกล้ตัวอย่าง ‘เงินเดือน’ แน่ใจแล้วหรือยังว่าวันนี้เราได้เงินเดือนเหมาะสมกับความสามารถของเรา

“จะบอกให้ว่าคำถามเหล่านี้มีค่ามากกว่า 30,000 บาทเสียอีก” รามิตรกล่าวกับ CNBC Make it

เพราะสุดท้ายแล้ว ‘ความมั่งคั่ง’ ไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ในชั่วข้ามคืน แต่มันคือการสั่งสมอย่างยาวนาน ซึ่งถ้าเราไม่ใช่คนที่จะมีดวงมากพอในการถูกหวยรางวัลที่ 1 เรามาลองทำตามวิธีเหล่านี้กัน

💰เพิ่มอัตราการออม

“เชื่อไหมว่าการออมเพิ่มแค่ 1% จะต่างกันหลายพันหลายหมื่นบาทเมื่อเวลายิ่งผ่านไป” รามิตรกล่าว เรื่องนี้ต่างจากการลดกินกาแฟให้ครบพันแก้วเพื่อเก็บเงินแสน เพราะเราไม่ต้องลดความสุขในชีวิตลง และเงินที่เราเก็บออมมากขึ้นก็ไม่ได้หายไปไหน แต่ยังอยู่กับเราเสมอ ทั้งยังอาจเติบโตเพิ่มพูนขึ้นได้ด้วยจากอัตราดอกเบี้ย

💰สร้างแผนการใช้จ่ายอย่างมีสติ และทำได้จริงๆ

เชื่อว่ามีคนอยู่สองประเภท คือคนที่สร้างแผนการเงินจริงจัง จัดหมวดหมู่อย่างละเอียดเหมือนรายงานการเงินของบริษัทใหญ่ กับอีกประเภทคือคนที่ไม่อะไรทำเลย รามิตรมองว่า ‘แผนการเงินที่มีสติ’ คือแผนการเงินที่อยู่ตรงกลางระหว่างคนสองประเภทนี้

เพราะจริงๆ การรับรู้ว่าเงินของเราเข้ามาและออกไปทางไหนบ้างนั้นเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความมั่งคั่ง แต่แผนการเงินนั้นควรเป็นแผนที่เราทำตามได้จริง และมีความยืดหยุ่น เพราะอย่าลืมว่า ชีวิตคนเรานั้นไม่แน่นอน วันหนึ่งเป้าหมายในชีวิตของเราอาจเปลี่ยนไป และแผนการเงินตรงนี้ต้องสามารถเปลี่ยนตามให้สอดคล้องกับเป้าหมายชีวิตของเราได้ด้วย

🖊️แล้วเราจะทำแผนการเงินที่มีสติได้อย่างไร?

รามิตร มองว่าการจัดทำแผนการเงินนั้น เราอาจมุ่งไปที่ 4 หัวข้อสำคัญนี้ก็พอแล้ว

✅ต้นทุนคงที่: คือค่าใช้จ่ายที่เราจ่ายประจำในแต่ละเดือน เช่น ค่าเช่าบ้าน ค่าโทรศัพท์ ไปจนถึงค่าศึกษาเล่าเรียน

✅กองทุนฉุกเฉิน: เป็นเรื่องปกติที่สำคัญมากในการจัดทำเงินก้อนยามฉุกเฉินเพื่อรับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น

✅เงินก้อนเพื่อการลงทุน: เราควรแบ่งเงินส่วนหนึ่งเพื่อลงทุนอย่างจริงจัง เพราะเป็นช่องทางสำคัญที่ทำให้เงินของเราเติบโตขึ้น โดยที่เราไม่ต้องลงแรงทำอะไรเลย

✅เงินสำหรับใช้จ่ายแบบ ‘ไม่รู้สึกผิด’: เรียกได้ว่าเป็นกองเงินสำหรับใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายกับสิ่งที่อยากได้ หรือทริปท่องเที่ยวที่อยากไป เพราะเมื่อเราแบ่งเก็บเงินสำหรับการเติบโต และยามฉุกเฉินแล้ว การใช้จ่ายเพื่อความสุขของตัวเองก็เป็นสิ่งจำเป็นเช่นกัน

สุดท้ายแล้ว คำว่า ‘รวย’ คำเดียว สามารถตีความหมายได้หลากหลายขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน บางคนอาจอยากมีเงินเยอะ แต่บางคนแค่อยากมีเวลาอยู่กับครอบครัวได้ตลอดก็พอแล้ว สิ่งสำคัญคือให้ดูว่าเป้าหมายความต้องการของเราคืออะไร และจัดวางแผนการเงินเพื่อไปถึงเป้าหมายนั้น

เรียบเรียง: ชลทิศ ทองไพจิตร