MorningStar Thailand เว็บไซต์ให้บริการด้านข้อมูลเกี่ยวกับกองทุนรวม รายงาน อันดับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ที่มีเงินไหลเข้า-ออกสุทธิมากที่สุดรอบไตรมาส 1/2566 (ไม่รวม Term Fund)

พบว่า บลจ. เอไอเอ (AIA) ซึ่งไม่ใช่ บลจ. ขนาดใหญ่แบบ บลจ. ที่เป็นบริษัทลูกของธนาคาร กลับมีเงินไหลเข้ามากสุด อยู่ที่ 2.6 พันล้านบาท คิดเป็นการเติบโตที่ 5.1% โดยราว 70% ของมูลค่าดังกล่าวมาจากเงินไหลเข้า “กองทุนผสม” เป็นผลจากการซื้อประกันชีวิตแบบ “Unit Linked” นั่นเอง ที่ถือได้ว่า AIA คือ เจ้าตลาดของประกันประเภทนี้

ชี้ให้เห็นว่าคนนิยมทำประกันประเภทนี้เพิ่มมากขึ้น สอดคล้องกับตัวเลขการเติบโดของเบี้ย (ANP) Unit Linked ของ บมจ.อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต ณ เดือนสิงหาคม 2565 เติบโตกว่า 83% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

Unit linked คืออะไร?

ประกัน Unit linked คือ ประกันชีวิตควบการลงทุน เป็นประกันชีวิตที่ถูกออกแบบเพื่อเป็นเครื่องมือทางการเงินที่มีความยืดหยุ่นสูง สามารถปรับเปลี่ยนไปได้ตามสถานการณ์ต่างๆ ตลอดช่วงชีวิต และมีส่วนของลงทุนที่ผู้เอาประกันสามารถเลือกกองทุนรวมที่สนใจเพิ่มเข้ามาในกรมธรรม์ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า

ข้อกังวลของประกันชีวิตแบบเดิม

เหตุผลที่ประกัน Unit Linked ได้รับความสนใจ ก็เพราะประกันชีวิตแบบเดิม (Ordinary Insurance) มีหลายข้อที่ไม่ตอบโจทย์ ดังนี้

(1) ผลตอบแทนต่ำ

โดยเฉพาะประกันชีวิตประเภทสะสมทรัพย์ที่เน้นการออมเป็นหลัก ซึ่งเป็นไปตามภาวะดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ

(2) ภาระผูกพันยาว

เหตุผลใหญ่ที่คนไทยซื้อประกันชีวิต ก็คือ เรื่องภาษีที่เบี้ยประกันสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท กับประกันแบบบำนาญที่เบี้ยประกันสามารถลดหย่อนภาษีได้ ไม่เกิน 15% ของเงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษี และต้องไม่เกิน 200,000 บาท แต่เมื่อรวมกับการออมเงินเพื่อเกษียณอื่นแล้ว จะต้องไม่เกิน 500,000 บาท

ดังนั้นอายุกรมธรรม์ที่ซื้ออย่างน้อยก็ไม่ต่ำกว่า 10 ปี แต่เพราะประกันชีวิตคือสัญญา ผู้เอาประกันจึงต้องผูกพันชำระเบี้ยตามสัญญา หากในอนาคตเรามีปัญหาจ่ายเบี้ยไม่ไหว หรือ มีความต้องการนำเงินไปใช้ทำอย่างอื่นที่มองว่าเหมาะสมกว่า เราก็มีทางเลือกแค่ 3 ทาง คือ เวนคืนมูลค่าเงินสด ใช้เงินสำเร็จ หรือ ใช้มูลค่าขยายเวลา ซึ่งไม่ว่าเลือกทางไหน ผลประโยชน์ที่เราควรจะได้จากกรมธรรม์ก็จะลดน้อยลง

(3) ทุนประกันคงที่

ทำให้ยุ่งยากในการปรับให้เหมาะสมตามความต้องการ

ประกัน Unit Linked อีกทางเลือกที่น่าสนใจ

ซึ่งประกัน Unit Linked ออกแบบมาก็เพื่อแก้ข้อกังวลของประกันชีวิตแบบเดิม ดังนี้

(1) เพิ่มโอกาสของผลตอบแทนที่ต้องการเพิ่มขึ้น

โดยประกัน Unit Linked จะให้ผู้เอาประกันนำส่วนหนึ่งของเบี้ยประกันไปลงทุนในกองทุนรวมที่หลากหลายตามความต้องการของผู้เอาประกัน โดยผู้เอาประกันสามารถพิจารณาปรับเปลี่ยนจำนวนเงินลงทุน สัดส่วนของแต่ละกองทุน และเลือกกองทุนที่สนใจได้อย่างอิสระภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดในกรมธรรม์

(2) เพิ่มความยืดหยุ่นในด้านความคุ้มครองและภาระผูกพัน

โดยผู้เอาประกันสามารถปรับเพิ่มหรือลดทุนประกัน ปรับเพิ่มหรือลดเบี้ยประกัน ถอนเงินบางส่วน หรือหยุดจ่ายเบี้ยบางช่วงเวลา เพื่อให้เหมาะสมกับความต้องการของแต่ละคน ตามแต่ละช่วงจังหวะเวลาของชีวิต ที่อาจมีความไม่แน่นอนและต่างจากที่วางแผนทางการเงินไว้ในตอนต้น ซึ่งความยืดหยุ่นเหล่านี้ เป็นสิ่งที่แบบประกันอื่นๆ ทำได้ยาก

ข้อควรคำนึงสำหรับการซื้อประกัน Unit Linked

(1) ประกันชีวิต Unit linked คือ สัญญาประกันชีวิต ไม่ใช่กองทุนแถมประกัน แบบที่ว่าซื้อแล้วจะหยุดซื้อเมื่อไหร่ก็ได้ ความจริงคือเบี้ยประกันทั้งหมดที่จ่ายไปจะต้องเอาไปจ่ายค่าใช้จ่ายต่างๆ ของประกันก่อน อย่างเช่น ค่าการประกันภัย ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการรับประกันภัย ฯลฯ เหลือค่อยเอาไปลงทุน หากเราหยุดชำระเบี้ย บริษัทประกันก็จะขายกองทุนรวมที่เราลงทุนอยู่ออกเพื่อเอามาชำระเบี้ย อาจเป็นการขายกองทุนรวมในจังหวะที่ไม่เหมาะสม และสุดท้ายเมื่อมูลค่ากองทุนลดต่ำลงจนไม่พอชำระค่าใช้จ่าย ก็จะทำให้ประกันสิ้นสุดความคุ้มครองได้

(2) ในกรณีที่เราเลือกความคุ้มครองสูง ค่าการประกันภัย คือ ค่าธรรมเนียมที่เราในฐานะผู้เอาประกันภัยจ่ายเพื่อเป็นค่าความคุ้มครองชีวิตก็จะสูง และค่าการประกันภัยจะเพิ่มขึ้นเมื่อความเสี่ยงเราเพิ่มขึ้น เช่น อายุมากขึ้น ฯลฯ ค่าการประกันภัยจึงเปรียบเหมือนภาระค่าใช้จ่ายที่จำเป็นของเราที่เพิ่มขึ้นทุกๆ ปี แต่รายได้ของประกันชีวิต Unit Linked คือ ผลตอบแทนจากกองทุนรวมมีขึ้นมีลง มีกำไร มีขาดทุน ขึ้นอยู่กับกองทุนที่เราเลือกลงทุน ถ้าผลตอบแทนได้น้อย หรือ ขาดทุน ก็เหมือนเรามีรายได้น้อยไม่พอชำระหนี้ สุดท้ายอาจต้องสูญเสียความคุ้มครองไป

(3) ผลตอบแทนที่บริษัทประกันชีวิตแสดงในเอกสารประกอบการขายประกันชีวิต Unit Linked เช่น 3%, 5%, 8%, ฯลฯ เป็นผลตอบแทนสมมติทั้งสิ้น ในชีวิตจริง ผลตอบแทนมีขึ้นมีลง ไม่เท่ากันทุกปี บางปีอาจขาดทุนได้ หากต้องการผลตอบแทนสูงเช่น 5% หรือ 8%/ปี ก็ต้องพร้อมที่จะยอมรับการขาดทุนได้

(4) การหยุดพักชำระเบี้ยประกันภัย (Premium Holiday) ที่หลายคนเข้าใจผิดว่าให้ความยืดหยุ่นเราสูงที่จะไม่จ่ายเบี้ยประกันในบางปีที่เราไม่พร้อมได้ แต่ความจริง ก็คือ เมื่อเราไม่จ่ายเบี้ย บริษัทประกันก็จะขายกองทุนรวมของเราออกมาเพื่อชำระค่าการประกันภัย ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายแทน ยิ่งเราหยุดจ่ายเบี้ยนานเท่าไหร่ เงินกองทุนรวมของเราก็จะหมดเร็วมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้น Premium Holiday ไม่ใช่บริษัทประกันไม่คิดเบี้ย แค่เปลี่ยนคนจ่ายจากเราเป็นกองทุนของเราเท่านั้น

ปัจจัยที่ควรพิจารณาในการซื้อประกัน Unit Linked

- ทุนประกันที่เหมาะสมสำหรับเราควรเป็นเท่าใด ทำประกันเพื่ออะไร อย่างเช่น เพื่อคุ้มครองการศึกษาลูก เพื่อเป็นมรดก หรือ เพื่อไว้ใช้จ่ายยามเกษียณ ฯลฯ

- ระยะเวลาคุ้มครองยาวนานแค่ไหน

- สัญญาแนบเพิ่มเติมอย่างเช่น สัญญาประกันสุขภาพ เช่น การรักษาตัวในโรงพยาบาล การรักษาหรือค่าชดเชยที่เกิดจากโรคร้ายแรง ฯลฯ

- ความสามารถในการรับความเสี่ยง เพื่อเลือกกองทุนรวมที่เหมาะสมกับตนเอง

- ความสามารถในการชำระเบี้ย ทั้งด้านจำนวนและระยะเวลาชำระเบี้ย

สรุป แม้ว่าประกัน Unit Linked จะเป็นประกันที่น่าสนใจ ให้โอกาสของผลตอบแทนที่สูงขึ้น มีความยืดหยุ่นทั้งด้านการชำระเบี้ย ความคุ้มครองสูง แต่การซื้อประกัน Unit Linked ให้ได้ประโยชน์สูงสุด เราต้องพิจารณาข้อมูลให้ครบถ้วน