“ข้าราชการ” มีกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)
“มนุษย์เงินเดือน” มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) และ ม.33

แล้ว อาชีพอิสระ พ่อค้า แม่ขาย มีกองทุนอะไรมั้ย ที่สามารถเก็บเงิน และขอรับเป็น "บำนาญ" ได้เหมือนกับอาชีพอื่นๆ ?

คำตอบคือ มีครับ หลายคนอาจจะยังไม่รู้ด้วยว่า มีกองทุนนี้อยู่ นั่นคือ “กอช.”
แล้ว กอช. คืออะไร? มีไว้ทำไม? และล่าสุดจากการปรับกฎเกณฑ์ มีอะไรที่เปลี่ยนไปบ้าง? รวมทั้งจะคุ้มมั้ย? ถ้าออมเงินเข้าไปทุกเดือน แล้วรอรับบำนาญไว้ใช้หลังเกษียณ มาหาคำตอบกัน...

กอช. คืออะไร?

กอช. หรือ กองทุนการออมแห่งชาติ เป็นกองทุนที่ภาครัฐจัดตั้งขึ้น เพื่อส่งเสริมการออม เสริมสร้างหลักประกันให้กับผู้ประกอบอาชีพอิสระในวัยเกษียณหรือเมื่อลาออกจากการเป็นสมาชิก โดยเป็นการออมภาคสมัครใจที่เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่ได้ทำงานประจำในบริษัท หรือรับราชการ

โดยสมาชิก กอช. จะต้องจ่าย “เงินสะสม” เข้ากองทุนฯ ส่วนรัฐบาลจะช่วยจ่าย “เงินสมทบ” ให้ด้วย และเมื่อสมาชิกเกษียณอายุที่ 60 ปี ก็สามารถขอรับเงินบำนาญจากกองทุนฯ ได้

ใครบ้างสามารถสมัครสมาชิก กอช. ได้?

- ผู้ที่มีสัญชาติไทย อายุตั้งแต่ 15 - 60 ปี
- ไม่ได้อยู่ในกองทุนที่ได้รับเงินสมทบจากรัฐ (เช่น กบข.)
- ไม่ได้อยู่ในกองทุนที่ได้รับเงินสมทบจากนายจ้าง (เช่น PVD)
- ไม่ได้อยู่ในระบบบำเหน็จบำนาญของภาครัฐและเอกชน (ยกเว้น ผู้ประกันตนประกันสังคม ม.40 ทางเลือก 1 สามารถสมัครได้)

ตัวอย่างผู้ที่มีสิทธิสมัคร เช่น นักเรียน นักศึกษา เกษตรกร พ่อค้า แม่ค้า มอเตอร์ไซค์รับจ้าง คนขับแท็กซี่ พ่อบ้าน แม่บ้าน บุคคลรัฐจ้างทั่วไป

สมาชิกต้องจ่าย “เงินสะสม” เท่าไหร่?

แบบเก่า...

-จ่ายสะสมขั้นต่ำ 50 บาทต่อเดือน
-จ่ายสะสมสูงสุดไม่เกิน 13,200 บาทต่อปี (หรือ 1,100 บาทต่อเดือน)
-ไม่จำเป็นต้องออมทุกเดือนก็ได้

แบบใหม่...

-จ่ายสะสมขั้นต่ำ 50 บาทต่อเดือน
-จ่ายสะสมสูงสุดไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี (หรือ 2,500 บาทต่อเดือน)
-ไม่จำเป็นต้องออมทุกเดือนก็ได้

“เงินสะสม” ไม่จำเป็นต้องส่งทุกเดือน ถ้าเดือนไหนไม่มีเงินส่งก็เว้นไปได้ โดยสิทธิการเป็นสมาชิกจะยังคงอยู่ ไม่ได้เสียสิทธิประโยชน์ใดๆ และยังคงมีสิทธิได้รับบำนาญอยู่นะครับ

รัฐบาลจ่าย “เงินสมทบ” ให้เท่าไหร่?

แบบเก่า...

อายุ 15- 30 ปี ให้ 50% ของเงินสะสมแต่ละครั้ง แต่ไม่เกิน 600 บาทต่อปี
อายุ 31-50 ปี ให้ 80% ของเงินสะสมแต่ละครั้ง แต่ไม่เกิน 960 บาทต่อปี
อายุ 51-60 ปี ให้ 100% ของเงินสะสมแต่ละครั้ง แต่ไม่เกิน 1,200 บาทต่อปี

แบบใหม่...

อายุ 15- 30 ปี ให้ 50% ของเงินสะสมแต่ละครั้ง
อายุ 31-50 ปี ให้ 80% ของเงินสะสมแต่ละครั้ง
อายุ 51-60 ปี ให้ 100% ของเงินสะสมแต่ละครั้ง

โดยที่ “แบบใหม่” ทุกช่วงอายุจะมีสิทธิได้รับเงินสมทบเท่ากัน คือ ไม่เกิน 1,800 บาทต่อปี

จ่ายสะสมเต็มเพดาน ได้ “เงินบำนาญ” เท่าไหร่?

แบบเก่า...

ส่งเงินสะสม 13,200 บาทต่อปี
ได้รับบำนาญสูงสุดประมาณ 5,300 บาทต่อเดือน

แบบใหม่...

ส่งเงินสะสม 30,000 บาทต่อปี
ได้รับบำนาญสูงสุดประมาณ 12,000 บาทต่อเดือน

ทั้งนี้ “เงินบำนาญ” ของแต่ละคนอาจไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับเงินที่จ่ายสะสมเข้ากองทุนฯ แต่ถ้าใครที่จ่ายเงินสะสมได้เต็มเพดาน ตั้งแต่อายุ 15 - 60 ปี จะมีโอกาสได้รับเงินบำนาญในอัตราสูงสุดที่ประมาณ 12,000 บาทต่อเดือนไปตลอดชีวิต

แล้วแบบนี้...ต้องมีชีวิตอยู่กี่ปี ถึงจะคุ้มกับเงินที่จ่ายไป?

ถ้าเราอยากได้เงินบำนาญ 12,000 บาทต่อเดือน แสดงว่า เราต้องจ่ายเงินสะสมเดือนละ 2,500 บาททุกเดือน ตั้งแต่อายุ 15-60 ปี และมีเงินสมทบเพิ่มด้วยปีละ 1,800 บาท เป็นระยะเวลาทั้งหมด 45 ปี ดังนั้น…

รวมเงินต้นของ “เงินสะสม” เท่ากับ 1,350,000 บาท (2,500 x 12 x 45)
รวมเงินต้นของ “เงินสมทบ” เท่ากับ 81,000 บาท (1,800 x 45)

จะได้ เงินต้นรวม ของทั้ง “เงินสะสมและเงินสมทบ” เท่ากับ 1,431,000 บาท

กรณีไม่คำนึงถึงค่าเสียโอกาสใดๆ

ในกรณีนี้ ถ้าจะอยู่รับบำนาญให้คุ้ม เราจะต้องมีชีวิตหลังเกษียณไปอีก 10 ปี (1,431,000 ÷ 12,000 ÷ 12) เท่ากับว่า ได้ใช้เงินของตัวเองที่สะสมจนครบ และยังได้ใช้เงินสมทบด้วย

แสดงว่า ถ้าเรามีชีวิตต่อจากอายุ 70 ปีได้ ก็ถือว่าเป็นกำไรสินะ จริงๆ กรณีนี้อาจจะไม่คุ้มจริง เพราะในความเป็นจริง เราจะคิดแค่เงินต้นไม่ได้ จริงๆ ต้องคำนวณค่าเสียโอกาสจากการนำเงินไปลงทุนในทางเลือกอื่นๆ ด้วย

กรณีคิดค่าเสียโอกาสจากการลงทุน

ในกรณีนี้ จะคำนวณความคุ้มค่า จากการคิดผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนเพิ่มด้วย โดยคำนวณอย่างง่ายจาก “เงินสะสม” เท่านั้น

สมมติ เรานำเงิน 2,500 บาทต่อเดือน ไปลงทุนทางเลือกอื่นๆ ที่ได้ผลตอบแทนเฉลี่ยสัก 5% ต่อปี และลงทุนไปเรื่อยๆ เป็นระยะเวลา 45 ปี เราจะมีเงินทั้งสิ้น 5,066,093 บาท

ซึ่งถ้าจะรับเงินบำนาญให้คุ้ม เราต้องมีชีวิตต่อไปอีกประมาณ 35 ปี หรืออายุราว 95 ปี เลยทีเดียว

แต่ถ้าเราลองเพิ่ม โดยคำนวณผลตอบแทนที่ได้จากเงินสมทบด้วย และเพิ่มผลตอบแทนเฉลี่ยจากการลงทุน เป็นสัก 10% บอกเลยว่าต้องใช้ชีวิตอยู่อีกยาวนานเลยถึงจะคุ้ม (โดยยังไม่คำนวณประโยชน์จากการใช้ลดหย่อนภาษี)

แล้วถ้าเราเสียชีวิตไปก่อน จะเกิดอะไรขึ้น?

ในกรณีที่สมาชิกเสียชีวิต ระว่างการสะสมเงินอยู่ หรือหลังเกษียณไปแล้ว เงินทุกส่วนของผู้เสียชีวิตจะถูกส่งต่อให้ “ผู้รับผลประโยชน์” โดยจะจ่ายคืนเป็นเงินก้อนครั้งเดียวเท่านั้น

มาถึงตรงนี้ ก็ต้องบอกว่า จริงๆ แล้วความคุ้มค่าอาจขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล และความเหมาะสมในการเลือกใช้ เพราะ กอช. ก็ถือเป็นตัวช่วยในการออมเงินไว้ใช้หลังเกษียณได้ มีความมั่นคงปลอดภัย เพราะรัฐบาลเป็นผู้รับประกัน อีกทั้ง กองทุนฯ ยังคาดหวังผลตอบแทนที่ได้ มากกว่าเงินฝากประจำ 2 ปี เฉลี่ย 7 ธนาคารพาณิชย์ ทำให้ปิดโอกาสในการลงทุนแล้วขาดทุนด้วย

และแม้ว่าสมาชิกจะจ่ายเงินไม่เต็มเพดานของเงินสะสม สุดท้ายแล้ว ก็ยังมีโอกาสได้เงินบำนาญเช่นเดียวกัน มากน้อบแตกต่างกันไป และที่สำคัญยังสามารถใช้สิทธิในการลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย