ถ้าพูดถึงการเตรียมตัวเพื่อเกษียณ หลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องไม่ต้องรีบ โดยเฉพาะวัยที่เพิ่งเริ่มต้นทำงาน เพราะมองว่าอีกหลายปีกว่าจะถึงอายุ 60 ปี แต่ในโลกความเป็นจริงแล้วการเกษียณ ไม่ได้ง่ายขนาดนั้น
คนที่พร้อมจะเกษียณล้วนเตรียมตัวมาเป็นอย่างดี และยิ่งเหลืออีกไม่กี่ปีข้างหน้าก็ต้องเกษียณ ยิ่งต้องวางแผนให้รัดกุม มาดูกันว่าถ้ามีแผนเกษียณอีก 10 ปีข้างหน้า ต้องเตรียมตัวอย่างไรเพื่อช่วยให้มีสถานะทางการเงินแข็งแรงและเป็นตามเป้าหมายที่วางเอาไว้
1. ออมเพิ่มตามอายุที่เพิ่มขึ้น
ถ้าต้องการสำรวจดูว่าแผนการออมเงินของตัวเองเป็นไปตามแผนที่วางเอาไว้หรือไม่ วิธีง่ายที่สุดก็ให้ดูอายุตัวเองแล้วเปรียบเทียบจำนวนเงินออมกับเงินเดือนปัจจุบัน โดยสัดส่วนการออมจะสูงขึ้นตามเงินเดือน ดังนั้น ถ้าเชื่อว่าเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น รายได้จะเพิ่มขึ้นตาม แสดงว่ายิ่งอายุมากขึ้นก็ต้องแบ่งเงินไปออมสูงตามไปด้วย
ตัวอย่าง
อายุต่ำกว่า 40 ปี ออมเงินเดือนละ 20% ของเงินเดือน
อายุ 41 - 45 ปี ออมเงินเดือนละ 30% ของเงินเดือน
อายุ 46 - 50 ปี ออมเงินเดือนละ 40% ของเงินเดือน
อายุ 51 - 59 ปี ออมเงินเดือนละ 50% ของเงินเดือน
หรืออาจใช้สูตรคำนวณพื้นฐานอื่น ๆ เพื่อประเมินเงินออมที่ควรมีและนำไปวางแผนการเงินให้เหมาะกับตัวเอง
เช่น ใช้สูตร 2 x (อายุปัจจุบัน – อายุเริ่มงาน) x (เงินเดือนปัจจุบัน + เงินเดือนที่เริ่มงาน) ผลลัพธ์ที่ได้ คือ “จำนวนเงินออมที่ควรมีในปัจจุบัน”
ตัวอย่าง
เริ่มทำงานมาอายุ 23 ปี เงินเดือนเริ่มต้น 15,000 บาท ปัจจุบันอายุ 30 ปี มีเงินเดือน 30,000 บาท
ปัจจุบันเราควรมีเงินออม = 2 x (30 - 23) x (30,000 + 15,000) = 630,000 บาท
การติดตามแผนการเงินอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้เห็นถึงจำนวนเงินเป้าหมายที่เตรียมเอาไว้ใช้หลังเกษียณยังเป็นไปตามแผนหรือไม่ ถ้าเริ่มไม่เป็นไปตามแผนก็ต้องปรับ เช่น ปัจจุบันอายุ 49 ปี แต่ออมเงินได้เดือนละ 30% ของเงินเดือน ก็ต้องเพิ่มเงินออมให้ได้ 40% ของเงินเดือน เป็นต้น หรือเมื่อคิดคำนวณดูแล้ว พบว่า ไม่สามารถเพิ่มเงินออมได้ ก็ต้องปรับเป้าหมายอื่น ๆ เช่น เลื่อนแผนการเกษียณออกไป ลดค่าใช้จ่าย หารายได้เพิ่ม เป็นต้น
2. เลือกสินทรัพย์ลงทุนให้เหมาะสม
นอกจากการวางแผนการออมเงินให้เป็นไปตามแผนแล้ว สิ่งสำคัญ คือ การติดตามพอร์ตลงทุนให้เหมาะสม ตรวจสอบให้แน่ใจว่ากลยุทธ์ลงทุนเป็นไปตามแผนที่วางเอาไว้หรือไม่
โดยให้พิจารณาจาก 2 ประเด็นนี้
(1) การจัดสรรสินทรัพย์
เป็นการวางแผนกระจายเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ลงทุนหลายประเภทที่แตกต่างกันไปเพื่อบรรลุเป้าหมายการลงทุน โดยพิจารณาจากอัตราผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับ จากสินทรัพย์ลงทุนแต่ละประเภทเพื่อกำหนดสัดส่วนการลงทุนให้สอดคล้องกับความสามารถในการรับความเสี่ยงของผู้ลงทุนและระยะเวลาที่ต้องการลงทุน เช่น ผู้ที่มีอายุน้อย ควรมีสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงสูงมาก เช่น หุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ และเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้นก็ค่อยๆ เพิ่มสัดส่วนสินทรัพย์ลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำให้มากขึ้น เช่น ตราสารหนี้ เป็นต้น
การจัดสรรสินทรัพย์แบ่งเป็น 2 ระดับ คือ การกำหนดสัดส่วนการลงทุนในระดับยุทธศาสตร์ เพื่อบรรลุเป้าหมายการลงทุนระยะยาว และการปรับสัดส่วนการลงทุนไปตามสภาวะตลาดในแต่ละช่วงเวลา เพื่อรักษาระดับความเสี่ยงและผลตอบแทนให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดและสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ
(2) การกระจายความเสี่ยง
นอกเหนือจากการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงแล้ว ควรคำนึงสินทรัพย์ลงทุนแต่ละประเภทว่ามีระดับความเสี่ยงหรือโอกาสในการขาดทุนที่สามารถยอมรับได้หรือไม่ เพราะผลตอบแทนที่สูงมักมาพร้อมความเสี่ยงหรือโอกาสในการขาดทุนที่สูงด้วยเช่นเดียวกัน ดังนั้น ควรกระจายความเสี่ยงในการลงทุนหรือแบ่งเงินลงทุนในสินทรัพย์มากกว่า 1 ประเภท ที่มีลักษณะของความเสี่ยงและผลตอบแทนแตกต่างกัน จะช่วยลดความเสี่ยงหรือโอกาสขาดทุนได้ เพราะหากขาดทุนในสินทรัพย์หนึ่ง ก็ยังมีเงินเหลือในสินทรัพย์ลงทุนอื่นๆ
ตัวอย่าง การกระจายความเสี่ยงในการลงทุน
- เพื่อรักษาสภาพคล่อง เน้นความเสี่ยงต่ำ ผลตอบแทนต่ำ (เช่น บัญชีเงินฝาก กองทุนรวมตลาดเงิน)
- เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนสม่ำเสมอ (เช่น พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ กองทุนรวมตราสารหนี้ ซึ่งมีความเสี่ยงต่ำถึงปานกลาง ผลตอบแทนต่ำถึงปานกลาง)
- เพื่อสร้างโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้น (เช่น หุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ กองทุนรวมหุ้นทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งมีความเสี่ยงปานกลางถึงสูง ผลตอบแทนปานกลางถึงสูง)
3. เลือกทำเลที่อยู่อาศัย
หากวางแผนอีก 10 ปีจะเกษียณ สิ่งสำคัญประการหนึ่งที่ควรคำนึง คือ ที่อยู่อาศัย โดยเบื้องต้นก็ต้องถามตัวเองว่าต้องการใช้ชีวิตหลังเกษียณที่ไหน เช่น กรุงเทพฯ หัวเมืองใหญ่ หัวเมืองรอง หรือบ้านเกิดตัวเอง ขณะที่บางคนมีความตั้งใจเกษียณในทำเลที่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ อยู่ใกล้สถานพยาบาล ใกล้ระบบขนส่งมวลชนเพื่อความสะดวกในการเดินทาง ขณะที่บางคนอาจตัดสินใจลักษณะที่อยู่อาศัย เช่น บ้านเดี่ยว คอนโดมิเนียม ซึ่งแต่ละทำเลและการวางแผนต่าง ๆ จะมีค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกัน ซึ่งจะมีผลต่อการวางแผนการเงิน ดังนั้น หากเริ่มต้นวางแผนเป็นขั้นตอนจะช่วยให้การวางแผนที่อยู่อาศัยเป็นไปอย่างราบรื่น
4. อย่าลืมสร้างหลักประกันให้ชีวิต
ในช่วงชีวิตที่เหลืออยู่ก็ยังต้องการความมั่นคงหรือหลักประกันให้กับตัวเอง จึงต้องเตรียมความพร้อมไว้ล่วงหน้าโดยการแบ่งเงินส่วนหนึ่งไว้เป็นเงินออม และลดการใช้จ่ายเงินที่มีความเสี่ยงสูงเมื่อใกล้เกษียณ โดยทางเลือกที่น่าสนใจเพื่อทำให้วัยเกษียณสามารถพึ่งพิงได้ คือ การทำประกัน ด้วยการเลือกซื้อประกันที่มีความเสี่ยงต่ำและสามารถสร้างผลตอบแทนสม่ำเสมอเพื่อใช้ในช่วงเกษียณอายุ ได้แก่ ประกันชีวิตแบบบำนาญ ประกันสุขภาพ ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ ประกันชีวิตแบบผู้สูงอายุ