ก่อนหน้านี้หลายคนมักจะคิดว่า การทำประกันสุขภาพคือสิ่งที่ไม่จำเป็น และเสียเงินโดยเปล่าประโยชน์ แต่สมัยนี้ที่มีโรคต่างๆที่เข้ามารุมเร้าให้เราป่วยได้ง่ายๆ ทั้ง PM 2.5 ภูมิแพ้ ไข้หวัด หรือ โควิด เราก็เริ่มเห็นความสำคัญของประกันสุขภาพกันมากขึ้น เพราะไม่มีใครรู้ว่าจะป่วยเมื่อไหร่...จริงไหมครับ ถ้าวันหนึ่งเราเกิดแจ็กพ็อตป่วยหนักขึ้นมา หากไม่มีประกันสุขภาพ ก็คงต้องหมดค่ารักษาหลักหมื่น-หลักแสนแน่นอน

การทำประกันสุขภาพจึงเป็นสิ่งที่ช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะจากการเจ็บป่วย หรืออุบัติเหตุก็ตาม แต่ก่อนจะเลือกซื้อประกันสุขภาพได้ ก็มี 2 คำที่เราควรรู้จัก นั่นคือ “OPD” และ “IPD” มันหมายความว่าอะไรกันนะ?

ความแตกต่างระหว่าง OPD และ IPD

“OPD” มาจากคำว่า Out Patient Department หมายถึง ผู้ป่วยที่รับการรักษาที่คลินิกหรือโรงพยาบาล โดยไม่ต้องนอนพักรักษาตัว หรือที่เรียกว่า “ผู้ป่วยนอก”

ส่วน “IPD” มาจากคำว่า In Patient Department หมายถึง ผู้ป่วยที่ต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลตั้งแต่ 6 ชั่วโมงขึ้นไป หรือที่เรียกว่า “ผู้ป่วยใน” นั่นเอง

ประกันสุขภาพที่คุ้มครองกรณี OPD คืออะไร?

“ประกันสุขภาพที่คุ้มครองกรณี OPD” คือประกันสำหรับผู้ป่วยนอก โดยให้ความคุ้มครองเมื่อเราไปรักษาที่โรงพยาบาลหรือคลินิก แล้วไม่ต้องนอนพัก ไม่ว่าจะป่วยเล็กๆ น้อยๆ หรือหมอนัดดูอาการ พูดง่ายๆ ก็คือไปหาหมอ ตรวจเสร็จ รับยา แล้วกลับบ้านเลย โดยไม่ต้องสำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลเอง แต่ต้องจ่ายส่วนต่างกรณีที่ค่าใช้จ่ายเกินวงเงินความคุ้มครองตามกรมธรรม์

ถ้ามีประกันสุขภาพ OPD ต้องเจ็บแค่ไหนถึงจะจ่าย?

ปกติแล้วประกันสุขภาพ OPD จะให้ความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาล รวมถึงค่าธรรมเนียมปรึกษาแพทย์ ค่าวินิจฉัยอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเจ็บมากหรือเจ็บน้อยก็ตาม (ขอแค่ไม่ต้องนอนพัก)

มีประกันสังคมอยู่แล้ว ควรทำประกันสุขภาพ OPD เพิ่มอีกไหม?

คำตอบก็คือ “ได้อยู่ครับ” ได้อยู่ ...แปลว่าได้ ก็คือถ้าเราเจ็บป่วยทั่วไป แล้วมีเวลาว่างมากพอที่จะรอคิวในโรงพยาบาลได้ทั้งวัน แบบนี้แค่มีประกันสังคมก็โอเคแล้วครับ

แต่ถ้ามีกำลังพอจ่ายไหว aomMONEY แนะนำว่าควรทำประกันสุขภาพที่มี OPD ไว้สักตัวดีกว่า เพราะ 2 ข้อดีต่อไปนี้

1. เป็นอีกทางเลือกหนึ่งนอกจากประกันสังคม

เผื่อช่วยคัฟเวอร์ค่าใช้จ่ายกรณีเจ็บป่วย/อุบัติเหตุ หรือถ้าวันไหนมีเวลาน้อย ก็เดินเข้าโรงพยาบาลเอกชนที่สะดวกรวดเร็วกว่าได้เลย เพราะยังไงประกันสุขภาพ OPD ก็จ่ายค่ารักษาพยาบาลให้อยู่แล้ว

แต่การเลือกซื้อ ต้องแน่ใจว่าดูเงื่อนไขความคุ้มครองที่ครอบคลุม คุ้มค่า มีหลายกรณีที่เราจะเจอว่า ความคุ้มครองที่ได้มีข้อจำกัด เช่น ครั้งละไม่เกิน 1,000 บาท หรือปีละไม่เกิน 12 ครั้ง ถ้าเงื่อนไขเหล่านี้ ซึ่งจะทำให้เวลาที่ต้องใช้ เราต้องออกส่วนต่างเองเพิ่มเติม ทำให้อาจจะไม่คุ้มค่าเท่าที่ควรจะเป็น

2. นำไปลดหย่อนภาษีได้

ทำไมประกันสุขภาพ OPD ถึงสำคัญกับเงินออม?

เพราะไม่มีใครรู้อนาคต วันหนึ่งเราอาจเจ็บป่วย ถึงแม้จะเป็นโรคเล็กๆ น้อยๆ แต่ถ้าบ่อยครั้งมันก็จะรบกวนเงินออมของเราไปเรื่อยๆ ดังนั้นถ้าอยากวางแผนการเงินให้มั่นคง ก็ควรทำประกันสุขภาพ OPD เพื่อลดความเสี่ยงจากค่าใช้จ่ายที่ไม่คาดฝัน และเป็นเหมือนการลงทุนกับสุขภาพนั่นเอง

ตอนนี้เพื่อนๆ คงได้คำตอบกันแล้วว่า “ถ้ามีประกันสังคมอยู่แล้ว ควรทำประกันสุขภาพ OPD เพิ่มอีกไหม?” ในมุมมองของ aomMONEY ก็คือ “ควรอย่างยิ่ง” เพราะถ้าเราเจ็บป่วย ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ก็จะทำให้มีทางเลือกในการรักษามากขึ้นครับ