เคยได้ยินคำว่า What the hell? มั้ย หลายคนบอกนี่มันคำสบถของฝรั่ง ซึ่งค่อนข้างหยาบคาย แปลว่า อะไรกันเนี่ย!!

แต่พอนำ What the hell มาใช้กับเรื่องของเงินๆ ทองๆ เชื่อมั้ย มันกลับกลายเป็นอีกความหมายหนึ่ง พูดง่ายๆ คือ เป็นภาวะที่ คนเราพอเผลอใจ ทำสิ่งที่ไขว้เขวจากเป้าหมาย แบบ “รู้นะว่ามันผิด” แต่ยังปล่อยให้มันถลำลึกไปเรื่อยๆ สุดท้ายกู่ไม่กลับซะแล้ว

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ เช่น ตั้งใจจะเก็บออม แต่จู่ๆ ก็มีของที่อยากได้ เลยแอบเอาเงินเก็บมาซื้อ แน่นอนมีครั้งแรก ก็ต้องมีครั้งที่ 2 คราวนี้ พอมารู้ตัวอีกที เงินออมก็ถูกใช้หมดซะแล้ว

พฤติกรรมแบบนี้ นักจิตวิทยาเรียกมันว่า "What the hell Effect" หรือ ปรากฎการณ์ ที่ มนุษย์ เผลอไผล ปล่อยตัวปล่อยใจ หรือ กระทำบางสิ่งให้ผิดพลาด หรือ ไขว้เขวไปจากเป้าหมาย พอรู้สึกผิดกลับชดเชยด้วย "การทำผิดมากกว่าเดิม"

สาเหตุเกิดจากอะไรนะ?

ดร.เคลลี่ แมคกอนิกัล นักจิตวิทยา จากมหาวิทยาลัยสแตนด์ฟอร์ด เคยเขียนอธิบายไว้ในหนังสือ ชื่อ “The Willpower Instinct” ซึ่งถูกแปลมากกว่า 10 ภาษาว่า การยอมแพ้ต่อเป้าหมายทำให้คนเรารู้สึกแย่กับตัวเอง และจูงใจให้เรากระทำบางอย่างเพื่อชดเชย แต่เชื่อมั้ย คนส่วนใหญ่กลับเลือกกระทำในสิ่งที่ผิด ให้มันถลำลึก หรือ เลวร้ายกว่าเดิมอีก

นักจิตวิทยา ชี้ว่า นั่นก็เป็นเพราะ พอคนเรารู้สึกผิดหวังในตัวเอง ก็จะตำหนิตัวเองซ้ำๆ กระทั่งเชื่อว่า ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่เหนือการควบคุม หรือ ไม่สามารถแก้ไข หรือ ทำอะไรให้ดีขึ้นมาได้ คราวนี้ เลยปล่อยตัวปล่อยใจให้ตัวเองทำสิ่งที่ผิดจากความตั้งใจเดิมต่อไป จนทุกอย่างแย่ลงไปเรื่อยๆ

แล้วรับมือยังไงดีล่ะ?

ดร.เคลลี่ มีเคล็ดลับดีๆ มาบอก นั่นคือ ถ้าเราพอเผลอทำผิดพลาดไปจากเป้าหมายแล้ว อย่างแรกเลย ต้องเลิกตำหนิตัวเอง และเปลี่ยนมาให้อภัย หรือ เห็นอกเห็นใจตัวเอง แม้ว่าการกระทำเหล่านี้ อาจดูเหมือนเปิดทางให้เราทำผิดซ้ำสอง แต่เชื่อมั้ย มีงานวิจัย เมื่อปี 2007 ชี้ชัดว่า ผู้ที่ได้รับกำลังใจ และ เห็นอกเห็นใจตัวเอง จะสามารถแก้ไขในสิ่งที่ผิดได้ดีกว่าเดิม

ถ้าดูแล้วยังยากไปอีก ดร.เคลลี่ แนะนำว่า ให้ลองสังเกตตัวเองว่าเรากำลังตำหนิตัวเองอยู่หรือเปล่า จากนั้น ลองเปลี่ยนคำตำหนิมาเป็นการยอมรับว่า "คนเราผิดพลาดกันได้" พร้อมตั้งคำถามกับตัวเองว่า ฉันแก้ไข หรือ ทำอะไรที่สิ่งที่ผิดพลาดไปแล้ว เพื่อแก้ไขให้ดีขึ้นได้บ้าง?

เชื่อเถอะคำถามเหล่านี้ จะช่วยดึงเราให้กลับมาโฟกัสที่วิธีแก้ไข

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณเผลอนำเงินเก็บมาใช้ซื้อของฟุ่มเฟือย อย่างแรกให้เลิกตำหนิ หรือ โทษตัวเอง จากนั้นให้ คิดว่า คนเราทำผิดกันได้นะ แต่เราจะต้องไม่ผิดซ้ำอีก

บอกเลยวิธีนี้จะช่วยให้คุณเลิกตอกย้ำความผิดของตัวเอง ที่อาจนำไปสู่ข้อสรุปที่ผิดพลาด เช่น ไหนๆ ก็ใช้เงินเก็บไปแล้ว ก็ตัดสินใช้ให้มันให้หมดแล้วกัน ควรหันกลับมาโฟกัสเรื่องการเก็บเงินให้เข้ารูปเข้ารอยมากขึ้น

มาถึงขั้นนี้ถ้ายังมูฟออนไม่ได้อีก ก็ลองปรึกษากับผู้รู้ เพื่อหารือถึงแนวทางแก้ไขที่ถูกต้อง แต่ถ้าอายก็ลองนึกถึงสิ่งที่ตัวเราจะพูดกับเพื่อนเมื่อเขาทำบางอย่างไม่สำเร็จ และลองบอกตัวเองด้วยคำพูดเดียวกันนี้ เชื่อมั้ยนี่เป็นวิธีที่หลายคนใช้สำเร็จมาแล้ว โดยเฉพาะกับการเก็บออมเงินนะ

ไม่มีใครอยากพลาดจากเป้าหมายที่วางเอาไว้ เพียงแต่กว่าจะสำเร็จก็อาจต้องเจอกับอุปสรรค หรือ สิ่งยั่วยวนให้หลงทางไปบ้าง เพียงแค่ยอมรับผิด ให้อภัยตัวเอง และแก้ไขมันให้ถูกต้อง แค่นี้ คุณก็ก้าวสู่ความสำเร็จได้ โดยเฉพาะกับเป้าหมายการเก็บออมเงิน เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับชีวิต

อ้างอิง :

- https://www.psychologytoday.com/us/blog/pressure-proof/201701/how-the-what-the-hell-effect-impacts-your-willpower

- https://www.thecut.com/2022/03/is-it-worth-trying-to-save-money-when-i-make-so-little.html

- https://moodle.liedm.net/pluginfile.php/2060/mod_resource/content/1/libro%20-%20the_willpower_instinct_how_self_control_works_why_.pdf

- https://positiveprescription.com/what-the-hell-effect/