เราอาจจะเคยได้ยินเพื่อนคุยกันว่าตอนนี้กำลังทยอยซื้อกองทุนรวมทุกเดือนเพื่อเก็บสะสมไว้ใช้ตอนเกษียณ อีกคนก็กำลังปล่อยเช่าที่พักให้กับคนต่างชาติ เพื่อนคนอื่นๆ กำลังเอาเงินไปลงทุนโน้นนี่นั่นเต็มไปหมด ในขณะที่เราได้แต่ฟังแล้วก็ถอนหายใจแล้วคิดว่าจะทำอย่างไรให้มีเงินใช้ถึงสิ้นเดือนนี้ พร้อมกับภาวนาว่าอย่าให้ตอนนี้ต้องมีเรื่องรีบใช้เงิน ไม่อย่างนั้นหมุนเงินไม่ทันชีวิตลำบากแน่ๆ

มันก็น่าแปลกนะที่เรากับเพื่อนมีเงินเดือนไม่ต่างกัน แต่ทำไมมีเงินเก็บแตกต่างกันม๊าก!! บทความนี้จะมาเฉลยความลับให้ว่ามันเกิดจากอะไรพร้อมกับวิธีแก้ไขเพื่อจะได้ลองนำไปปรับใช้กันได้

เรามีรายจ่ายอะไรบ้าง?

เราสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงหน้าแล้ง ถ้าเขื่อนมีรูรั่ว มีน้ำกัดเซาะก็ทำให้เขื่อนแตก มวลน้ำมหาศาลก็จะไหลทะลักออกมาได้ “การควบคุมรายจ่าย” ก็เหมือนการดูแลเขื่อนให้แข็งแรงตลอดเวลา เงินออมของเราก็จะอยู่รอดปลอดภัย แต่ถ้าใช้จ่ายแบบไม่ยั้งคิด ซื้อทุกอย่างที่ขวางหน้า มันไม่ต่างกับเขื่อนที่เกิดรอยรั่ว อีกไม่นานเขื่อนก็พังทลายลงมาได้ เงินไหลออกมาจนหมดเกลี้ยงไม่มีเหลือเลี้ยงตัวเองในอนาคต

ใครที่บ่นว่าตัวเองมีรายจ่ายเยอะ น่าจะเขียนออกมาว่ามีรายจ่ายอะไรบ้าง ซึ่งแต่ละคนอาจจะมีรายจ่ายมากหรือน้อยไม่เท่ากัน ถ้าจะให้ดีควรเขียนจำนวนเงินออกมาด้วยว่าแต่ละรายการกี่บาท ทำให้รู้สัดส่วนรายจ่ายของเราในแต่ละเดือนว่าเน้นหนักไปที่อะไร

แยกและลดรายจ่าย

หลายคนอยากลดรายจ่ายเพื่อจะได้มีเงินเหลือมากขึ้น ในขณะที่บางคนมีรายจ่ายเยอะ แต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มตัดทิ้งตรงไหน ก็เลยเลือกอันที่ใกล้ตัวที่สุดก่อน นั่นคือ เน้นกินประหยัด ด้วยการซื้อมาม่ากินทุกวัน แหม!! กินทุกวันแบบนี้อาจจะเสียเงินค่าดูแลสุขภาพมากขึ้น ทางที่ดีเราควรแยกรายจ่ายออกเป็น 2 แบบ แล้วเริ่มต้นที่รายจ่ายที่เราจัดการได้ก่อน คือ

1. รายจ่ายคงที่

เป็นรายการที่เราจะต้องจ่ายทุกเดือน ไม่ว่าจะใช้มากหรือน้อยก็จ่ายเท่าเดิม เช่น ค่าผ่อนบ้าน ค่าเช่าห้องพัก ค่าผ่อนรถยนต์ ผ่อนมอเตอร์ไซค์

วิธีลดรายจ่ายคงที่ของแต่ละแบบนั้นแตกต่างกัน เช่น

- การผ่อนรถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์นั้นจะต้องจ่ายค่างวดเท่ากันทุกเดือน ไม่สามารถโป๊ะหนี้เพื่อให้หมดเร็วๆ ได้ ในขณะที่การผ่อนบ้าน เราสามารถรีไฟแนนซ์ได้เมื่อครบกำหนด 3 ปี หรือผ่อนต่องวดมากกว่าที่ตกลงไว้ เพื่อจะได้หมดหนี้เร็วๆ ประหยัดดอกเบี้ยจ่ายได้

- ค่าเช่าห้องพัก ราคาถูกหรือแพงนั้น ควรเปรียบเทียบกับค่าเดินทางและความสะดวกอื่นๆ ประกอบกันด้วย บางครั้งเช่าที่พักราคาถูก แต่ต้องเดินทางไกลมาทำงาน รวมแล้วค่าใช้จ่ายไม่ต่างกับเช่าที่พักราคาแพงใกล้ที่ทำงานก็ได้

2. รายจ่ายไม่คงที่ (จัดการส่วนนี้ก่อน)

เป็นรายจ่ายที่ขึ้นอยู่กับการใช้งานของเรา “ยิ่งใช้มาก ยิ่งจ่ายมาก” เช่น ผ่อนบัตรเครดิต ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเตอร์เน็ต ค่ากิน ค่าเดินทาง ท่องเที่ยว ของเล่น โหลดแอพ ซื้อเกมส์ ค่าสมาชิฟิตเนส เข้าสปา เลี้ยงเพื่อน ฯลฯ

วิธีลดรายจ่ายไม่คงที่ ที่เห็นผลชัดเจนมาก คือ การประหยัดและการตั้งงบ

- ประหยัด | ใช้น้ำไฟอย่างประหยัด เลือกแพ็กเกจมือถือให้เหมาะกับการใช้งานของเรา เปลี่ยนจากโทรเสียเงินมาโทรผ่าน FB หรือ Line เปลี่ยนวิธีการชำระค่าบริการ (ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรฯ) จากเคาน์เตอร์ที่เสียค่าธรรมเนียม มาเป็นแบบออนไลน์ที่ไม่เสียค่าธรรมเนียม

- ตั้งงบลั้นลาและเรียงลำดับตามความจำเป็น | ตั้งมาเลยว่าแต่ละเดือนจะใช้งบเพื่อความบันเทิง ผ่อนคลายความเครียด ปาร์ตี้กับเพื่อนเท่าไหร่ เช่น เดือนละ X% ของรายได้ ถ้าเรื่องที่จะต้องใช้เงินมันมากกว่าเงินที่มี เราควรเรียงลำดับตามความจำเป็นก่อนหลัง หากใช้เงินส่วนนี้หมดแล้วก็เลื่อนไปซื้อในเดือนต่อไป แต่ถ้าเงินเหลือเราก็นำไปออมเพิ่มขึ้นได้

ถ้าทำหลายทางแล้วยังไม่ได้ผล แนะนำวิธีสุดท้าย คือ ตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นทิ้งไป ให้เหลือแต่สิ่งที่จำเป็น เช่น ค่ากินและค่าเดินทาง ที่จะทำให้เราเดินทางไปทำงานได้เท่านั้น

การวางแผนรายจ่ายสำคัญไม่แพ้การหารายได้ ตอนนี้เราจะเห็นภาพรวมของรายจ่ายมากขึ้นว่าเงินแต่ละบาทของเราหมดไปกับอะไรและเท่าไหร่บ้าง ถ้าเราต้องการปรับลดค่าใช้จ่าย ควรเริ่มทำสิ่งที่เราจัดการได้ก่อนที่รายจ่ายไม่คงที่เพราะทำง่ายกว่า หลังจากนั้นค่อยตัดรายจ่ายคงที่ต่อไป

เริ่มออมเงินกันเถอะ

เมื่อเราทำเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างการวางแผนรายจ่ายสำเร็จแล้ว เรื่องใหญ่ๆ อย่างการออมก็ทำสำเร็จได้ไม่ยาก ถ้าเรามีรายจ่ายลดลง เงินออมของเราจะเพิ่มขึ้นทันตาเห็นเลย