การไม่มีโรคถือเป็นลาภอันประเสริฐ แต่ในความเป็นจริงแล้ว เกิด แก่ เจ็บ ตาย ถือเป็นสัจธรรมที่ทุกคนต้องเจอ เพียงแต่ปัญหาคือ “เราไม่รู้ว่ามันจะเกิดขึ้นวันไหน?”

วันหนึ่งเราอาจป่วยเป็นโรคร้าย ต้องใช้เงินรักษาก้อนใหญ่

วันหนึ่งเราอาจประสบอุบัติเหตุ ต้องพักรักษาตัว ขาดรายได้จากการทำงาน

เหล่านี้คือความเสี่ยงทางการเงินที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งหลังจากที่เกิดวิกฤติการระบาดใหญ่ คนไทยจำนวนมากก็หันมาสนใจทำ “ประกันสุขภาพ” กันมากขึ้น เพื่อเป็นหลักรับรองว่าหากเจ็บป่วยขึ้นมา อย่างน้อยก็มีคนจ่ายค่ารักษาให้ หรือได้เงินชดเชย

แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่คิดว่า การทำประกันสุขภาพนั้นไม่คุ้มค่า เพราะถ้าไม่เจ็บป่วยก็จะไม่ได้ใช้ เท่ากับว่าเราเสียเงินค่าเบี้ยทิ้งไปเปล่าๆ

ทั้งที่จริงแล้วการซื้อประกันสุขภาพ ก็ถือว่าเป็น “ความฉลาดทางการเงิน” อย่างหนึ่ง ซึ่งจะช่วยให้เราวางแผนการเงินได้อย่างรัดกุมมากขึ้น เพราะอะไรไปดูกันครับ

1. อุตส่าห์เก็บเงินแทบตาย แต่ถ้าป่วยขึ้นมาก็หมดตัวได้!

คนเรามักจะโฟกัสที่การสร้างความมั่งคั่ง ทำอย่างไรเราถึงจะรวย? แต่ลืมคิดไปว่าต่อให้อุตส่าห์ออมเงินเป็นล้าน แต่ถ้าเจ็บป่วยขึ้นมา อาจต้องใช้เงินรักษามากกว่านั้น หลายคนถึงขั้นหมดตัวเลยทีเดียว ถ้าไม่อยากให้ความพยายามสูญเปล่า ต้องปิดความเสี่ยงนี้ตั้งแต่แรก ด้วยการซื้อประกันสุขภาพ

2. จ่ายเบี้ยหลักร้อย หลักพัน แต่คุ้มครองหลักล้าน

อย่างที่บอกไปว่า หลายคนคิดว่าการซื้อประกันสุขภาพนั้นไม่คุ้ม เพราะมันคือการจ่ายเบี้ยทิ้ง แต่ลองคิดในมุมกลับกันดูครับ ถ้าเราเจ็บป่วยขึ้นมา เบี้ยประกันหลักร้อย-หลักพันต่อเดือน มันสามารถเปลี่ยนเป็นวงเงินค่ารักษาหลักแสน-หลักล้านได้ โดยที่เราไม่ต้องควักเนื้อจ่ายเอง ฟังแล้วดูคุ้มค่าขึ้นมาทันที

3. ประกันสุขภาพ ใช้ลดหย่อนภาษีได้ด้วย

จริงๆ แล้วการซื้อประกันสุขภาพ ก็ใช่ว่าจะเสียเงินทิ้งไปซะทีเดียว เพราะถ้าเราเป็นผู้เสียภาษีเงินได้ เราก็สามารถนำเบี้ยประกันสุขภาพของตัวเอง มาใช้ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดปีละไม่เกิน 25,000 บาท และเมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตทั่วไปและเงินฝากแบบมีประกันชีวิต จะต้องไม่เกิน 100,000 บาท

ข้อควรรู้เกี่ยวกับการซื้อประกันสุขภาพ

โดยปกติแล้ว การคิดเบี้ยประกันสุขภาพจะขึ้นอยู่กับ "ความเสี่ยง" ของคนในช่วงวัยนั้นๆ ค่าเบี้ยประกันจึงมักปรับขึ้นตามอายุ เช่น ทุกๆ 5 ปี หรือบางแห่งอาจจะปรับขึ้นตามอายุที่ลงท้ายด้วยเลข 1 หรือ 6 ตัวอย่างเช่น 26, 31, 36, 41, 46 เป็นต้น

ซึ่งคนที่อายุมาก มักจะต้องจ่ายค่าเบี้ยสูงขึ้น เพราะร่างกายเสื่อมถอย มีโอกาสป่วยเป็นโรคต่างๆ มากกว่า ยิ่งถ้ามีประวัติรักษาโรคเรื้อรังอย่างต่อเนื่อง ประกันสุขภาพอาจปฏิเสธ หรือยกเว้นความคุ้มครองบางอย่าง หรือหากรับทำประกันก็ต้องจ่ายค่าเบี้ยสูงขึ้นราว 25-50% เลยทีเดียว

สุดท้ายนี้ aomMONEY อยากฝากไว้ว่า ไม่ว่าจะซื้อประกันประเภทใด ก็ช่วยปิดความเสี่ยงทางการเงินได้เช่นกันครับ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะให้น้ำหนักกับเรื่องไหนมากกว่า หากใครต้องการปิดความเสี่ยงค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้โดยไม่คาดฝัน "ประกันสุขภาพ" ก็ถือว่าตอบโจทย์ครับ

ด้วยความปรารถนาดี จาก aomMONEY