ถ้าให้ยกตัวอย่างชื่อโรคร้ายแรงมาสักหนึ่งชื่อ หลายท่านอาจจะนึกถึงโรคมะเร็ง มาเป็นอันดับต้น ๆ แต่ในปัจจุบันมีโรคร้ายแรงอีกมากมาย บางชื่อโรคก็คุ้นหูหรือไม่เคยได้ยินมาก่อน ที่สำคัญโรคร้ายแรงบางโรคอาจรักษาหายในเวลาไม่นาน แต่บางโรคอาจจะต้องรักษาอย่างต่อเนื่อง ค่ารักษารวมทั้งหมดอาจเป็นหลักแสนหรือทะลุหลักล้านบาท

อย่างไรก็ตาม คนไทยแต่ละคนมีสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลแตกต่างกันไป เช่น สิทธิบัตรทอง สิทธิประกันสังคม สิทธิข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือได้วางแผนทำประกันสุขภาพส่วนบุคคลกับบริษัทประกันภัยหรือบริษัทประกันชีวิต

ซึ่งสิทธิ์การรักษาพยาบาลข้างต้น อาจครอบคลุมค่ารักษาโรคร้ายแรงบางส่วนหรือทั้งหมด บางคนเลือกไปรักษานอกสิทธิที่มีอยู่ เพราะต้องการความรวดเร็วหรือความสะดวกสบาย แต่ก็ต้องแลกมาด้วยการใช้เงินค่อนข้างสูง

นอกเหนือจากค่ารักษาแล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อีก เช่น ค่ายานอกบัญชีที่ใช้ในการรักษา ค่าเครื่องมือแพทย์ วิธีการรักษาด้วยเทคโนโลยีอันทันสมัยกว่าเดิมหรือค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ของผู้ป่วยเอง รวมถึงคนในครอบครัวที่ต้องดูแลผู้ป่วย อาทิ ค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่ากิน เป็นต้น ซึ่งเหล่านี้ ล้วนต้องใช้เงินทั้งสิ้น

ผู้เขียน มีเพื่อนสมัยเรียนมหาวิทยาลัย ซึ่งคุณแม่ของเพื่อน ตรวจพบว่าเป็นโรคไต ต้องทำการฟอกไตสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ทุกวันจันทร์และ วันพฤหัสบดี โดยขับรถเดินทางจากบ้านที่อำเภอเชียงแสนไปโรงยาบาลเอกชน เป็นระยะทางไปและกลับ เกือบ 130 กม.

โดยจ่ายค่าฟอกไตด้วยตนเอง ครั้งละ 1,500 บาท คิดเป็นต่อสัปดาห์ละ 3,000 บาท เดือนละ 12,000 บาท ปีละ 144,000 บาท เป็นเวลา 5 ปี สุดท้ายเพื่อให้มีเงินมารักษาจึงต้องแบ่งขายที่นา แต่เพื่อลดค่าใช้จ่าย ปัจจุบันต้องเปลี่ยนมาฟอกไตโดยใช้สิทธิจากบัตรทอง ที่โรงพยาบาลของรัฐ

อีกตัวอย่างหนึ่งของการมีวงเงินรักษาพยาบาล กรณีเกิดโรคร้ายแรง คือ การทำประกันโควิด 19 แบบ เจอ จ่าย จบ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีหลายคนได้เคลมสินไหมฯ จากการทำประกันโควิด 19 แบบ เจอ จ่าย จบ ไว้ ได้รับวงเงินเป็นจำนวน หลักหมื่นหรือหลักแสนบาท ซึ่งเงินจำนวนนี้ได้ช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายค่ารักษาพยาบาลจากการเจ็บป่วยและการขาดรายได้จากการทำงานหากติดโควิด

ประกันภัยโรคร้ายแรงก็เช่นเดียวกัน หากผู้เอาประกันภัยตรวจพบว่าเป็นโรคร้ายแรง ก็จะสามารถเคลมสินไหมฯ เป็นเงินก้อน (คล้ายประกันโควิด แบบเจอ จ่าย จบ) ซึ่งเงินที่ได้จากประกันภัยโรคร้ายแรงจะช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย ความเป็นอยู่ในการดำรงชีวิตต่อไปได้ หากผู้เอาประกันภัยต้องหยุดทำงาน เช่น อาชีพค้าขาย หรือต้องลาออกจากงานประจำเพื่อไปรักษาตัวเอง ทำให้ไม่มีรายได้หรือรายได้ลดลง แต่ค่าใช้จ่ายประจำในครอบครัวยังคงมีเช่นเดิม

ในระยะยาว หากการรักษาโรคร้ายแรงยังไม่หายหรือต้องรักษาอย่างต่อเนื่อง โดยที่ไม่มีรายได้เข้ามาหรือรายได้ลดลง หลายครอบครัวจำเป็นจะต้องขายทรัพย์สินที่มี เช่น แบ่งขายที่ดิน ขายบ้าน คอนโดมีเนียม ทองคำ ขายหุ้น ขายกองทุน หรือเวนคืนกรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีมูลค่ากรมธรรม์ ทำให้ความมั่งคั่งที่เคยเป็นอยู่ลดลงหรือบางครอบครัวอาจจะต้องไปกู้หนี้ยืมสินมาใช้จ่าย กลายเป็นภาระที่ตามมาในการคืนชำระหนี้

ดังนั้น การวางแผนประกันภัยโรคร้ายแรง เป็นการเตรียมความพร้อมไว้ล่วงหน้า หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด ซึ่งสามารถวางแผนทำทุนประกันที่เหมาะสมได้ 3 วิธี

วิธีที่1

คำนวนจากรายได้ใน 1 ปี แล้วประมาณการระยะเวลาไปอีก 10 ปี หรือ 20 ปี หากเราไม่เป็นโรคร้ายแรงเสียก่อนเราจะสามารถทำงานมีรายได้ เป็นจำนวนเงินเท่าไหร่

เช่น นายเอ ปัจจุบันมีรายได้เดือนละ 20,000 บาท ใน 1 ปีจะมีรายได้ 240,000 บาท และหาก 10 ปีจะมีโอกาสทำงานได้เงินถึง 2,400,000 บาท ซึ่งเรียกว่า ค่าความสามารถในการทำงาน

วิธีที่2

คำนวณทุนประกันภัยจากค่าใช้จ่ายต่อเดือน แล้วประมาณการรวมเป็น 1 ปี, 10 ปีหรือ 20 ปี ถ้าหากต้องหยุดทำงานและไม่มีรายได้ควรจะมีเงินจำนวนหนึ่งเป็นจำนวนเท่าไหร่ ให้เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายเหล่านี้

เช่น นายเอ มีค่าใช้จ่ายเดือนละ 10,000 บาท รวมปีละ 120,000 บาท หาก10 ปี เป็นเงิน1,200,000 บาท

วิธีที่3

วางแผนทำทุนประกัน โดยอ้างอิงกับค่ารักษาโรคร้ายแรงในปัจจุบัน เช่น โรคมะเร็ง ค่ารักษาโดยประมาณ 500,000 - 2,000,000 บาท เป็นต้น

ดังนั้น นายเอ สามารถวางแผนประกันภัยโรคร้ายแรงด้วยทุนประกัน แนะนำเบื้องต้นที่ 500,000 – 2,400,000 บาท

ปัจจุบัน บริษัทประกันมีผลิตภัณฑ์ประกันภัยโรคร้ายแรงให้เลือกหลากหลาย ซึ่งมีรายละเอียดที่คล้ายคลึงหรือแตกต่างกัน จึงควรเลือกพิจารณา ดังนี้

1. ชนิดหรือจำนวนโรคร้ายแรงที่ระบุในความคุ้มครอง

บางบริษัทประกัน คุ้มครอง 30 โรคร้ายแรง บางบริษัทประกันคุ้มครอง 36 โรคร้ายแรงหรือ 50 โรคร้ายแรง

2. เงื่อนไขการเคลมสินไหมฯ อาจแบ่งเป็นช่วงระยะของโรค

เช่น โรคร้ายแรงระยะเริ่มต้นจ่าย 25% โรคร้ายแรงระยะกลางจ่าย 50% โรคร้ายแรงระยะรุนแรงจ่าย 100% ของทุนเอาประกัน หรือบางบริษัทฯ คุ้มครองเฉพาะระยะรุนแรงจ่าย 100% ของทุนเอาประกัน เป็นต้น

สมมุติ นายเอ ทำประกันโรคร้ายแรงด้วยทุนประกัน 2,000,000 บาท หากตรวจพบเป็นโรคมะเร็งลำไส้ระยะลุกลาม บริษัทประกันก็จะจ่ายค่าสินไหมฯให้นายเอ 2,000,000 บาท

3. เงื่อนไขการพิจารณารับประกัน

บางบริษัทฯ อาจจะพิจารณาจากประวัติสุขภาพที่ผ่านมา หรือบางบริษัทฯ ต้องตรวจสุขภาพใหม่ ประกอบด้วย

4. เบี้ยประกันภัย

มีปัจจัยเรื่องเพศ อายุ อาชีพ ในการคำนวณเบี้ยประกันภัยแต่ละบุคคล บางบริษัทฯ มีส่วนลดหรือโปรโมชั่นในการทำประกัน

หากสนใจวางแผนและออกแบบประกันภัย โรคร้ายแรงให้เหมาะสมกับตนเองและครอบครัว การเลือกขอรับคำปรึกษาจากตัวแทนประกันหรือนักวางแผนการเงินมืออาชีพจะทำให้ท่านได้รับความคุ้มครองที่ครอบคลุมตามความจำเป็น และสอดคล้องกับความสามารถในการชำระเบี้ยที่เหมาะสมที่สุด

ท้ายสุดนี้ มีประกันแล้วไม่ได้เป็น (โรคร้ายแรง) ก็ดีกว่าเป็น (โรคร้ายแรง) แล้วไม่มีประกัน เพราะโรคร้ายแรง (อาจ) รักษาหาย แต่เงิน (อาจ) มลายหายเกลี้ยงไปด้วยเช่นกัน

เขียนโดย: ธนภัทร จินดาหลวง ที่ปรึกษาการเงิน AFPT™