ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา อภินิหารเงินออมมีกิจกรรมการออมเงินที่หน้าเพจ เพราะต้องการให้หลายๆคนเริ่มออม แล้วคิดว่าการออมเงินเป็นเรื่องสนุกและท้าทายตัวเอง อืม...ว่าแต่จะมีคนสนุกเหมือนเรามั๊ยเนี่ย ^^!

ทุกสิ้นเดือนเราจะเปิดนับเงินในกระปุกออมสินพร้อมกัน หลังจากนั้นจะนำเงินนั้นไปทำอะไรก็แล้วแต่แฟนเพจเลยจ้า บางคนเอาไปจ่ายหนี้ เก็บสะสมเริ่มต้นทำธุรกิจเล็กๆ เก็บไว้ดาวน์บ้านหรือดาวน์รถ ในขณะที่หลายคนมองหาการลงทุน เพราะต้องการให้เงินเติบโตงอกงาม แต่สุดท้ายไม่รู้จะเลือกอะไรดี เพราะมีให้เลือกเยอะเกิ๊น เลือกไม่ถูกกันเลยทีเดียว

วิธีการลงทุนที่เหมาะกับมือใหม่ เพิ่งก้าวเท้าเข้ามาสู่โลกของการลงทุนครั้งแรก ขอแนะนำให้เริ่มที่ “กองทุนรวม” เพราะใช้เงินเริ่มต้นลงทุนที่น้อยกว่า มีผู้เชี่ยวชาญการลงทุนมาดูแลพอร์ตการลงทุนและกระจายความเสี่ยงได้มากกว่า มีให้เลือกตั้งแต่ความเสี่ยงต่ำไปถึงความเสี่ยงสูง (ในภาพข้างล่างนี้เป็นกองทุนรวมหุ้น ที่มีความเสี่ยงสูงและผลตอบแทนสูง)

เปรียบเทียบการลงทุนหุ้นรายตัวและกองทุนรวมหุ้น SET50

ขออธิบายแนวคิดของกองทุนรวมด้วยภาพนี้นะคะ ส่วนหลักการเบื้องต้นของกองทุนรวมว่าลงทุนแบบไหน ผลตอบแทนเป็นอย่างไร เขียนไว้ในย่อหน้าถัดไป

ข้อมูลเพิ่มเติม : SET 50 คือ หุ้น 50 ตัวแรกที่มีมูลค่าตามราคาตลาดสูง การซื้อขายมีสภาพคล่องสูงอย่างสม่ำเสมอ และมีสัดส่วนผู้ถือหุ้นรายย่อยผ่านเกณฑ์ที่กำหนด มีการปรับหุ้นเข้าออกทุก 6 เดือน ติดตามหุ้นที่เข้าออกจาก SET 50 ได้ที่ลิงค์ https://www.set.or.th/th/products/index/setindex_p3.html

ทำไมมือใหม่ควรเริ่มลงทุนที่กองทุนรวม

การเปรียบเทียบ 2 วิธีการลงทุนนี้จะทำให้เข้าใจมากขึ้น

1. เลือกลงทุนหุ้นด้วยตัวเอง

เหมาะกับคนที่มีเวลาอัพเดทเรื่องการลงทุนตลอดเวลา ดูภาพรวมเศรษฐกิจ อ่านบทวิเคราะห์หุ้นรายตัว อ่านงบการเงิน ดูกราฟจับจังหวะการลงทุนรู้ว่าควรซือหรือขายตอนไหน ยอมรับความเสี่ยงได้ค่อนข้างสูง ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก เพราะการลงทุนหุ้นต้องซื้อขั้นต่ำ 100 ตัว จากภาพจะเห็นว่าถ้าเราต้องการกระจายความเสี่ยงจากการลงทุน โดยการซื้อหุ้น 5 ตัว ต้องใช้เงินขั้นต่ำ 136,800 บาท

แม้ว่าปัจจุบันมีโปรแกรมออมหุ้นด้วยเงิน 1,000 บาท สะสมหุ้นได้ 1 บริษัท ซึ่งเป็นเศษหุ้นที่ทยอยเก็บสะสมไว้เรื่อยๆ ถ้าหุ้นที่เราเลือกราคาเพิ่มขึ้นก็จะมีกำไร แต่ถ้าอยู่ในช่วงขาลงก็จะขาดทุน

ตัวอย่าง ลงทุนหุ้น AOT ราคา 68.50 บาท เรามีเงิน 1,000 บาท จะซื้อได้ 14 หุ้น (แบบนี้เรียกว่า “เศษหุ้น” เพราะไม่เต็มจำนวนขั้นต่ำ 100 หุ้น) ถ้าราคาขึ้นไปที่ 70 บาท เราก็ได้กำไร แต่ถ้าราคาลงมา 60 บาท เราก็ขาดทุน เรียกง่ายๆว่ามีลุ้นอยู่ตัวเดียวนั่นเองจ้า

2. ซื้อผ่านกองทุนรวม

เหมาะกับคนที่เริ่มต้นการลงทุน ยอมรับความเสี่ยงได้สูง ยังไม่ค่อยชำนาญเรื่องการลงทุนด้วยตัวเอง (จากตัวอย่างนี้อาจจะตัดสินใจไม่ได้ว่าจะซื้อหุ้นตัวไหน) ไม่ค่อยมีเวลาติดตามข่าวสารต่างๆ มีเงินลงทุนน้อย แต่อยากให้เติบโตมากกว่าการฝากออมทรัพย์ทิ้งไว้เฉยๆ

จากภาพเราจะเห็นว่าการลงทุนในกองทุนรวมหุ้น SET 50 จะทำให้เงินหลัก 1,000 บาท ซื้อหุ้นได้เกือบ 50 บริษัท ในขณะที่บางกองทุนรวมใช้เงิน 1 บาทก็เริ่มลงทุนได้ ซึ่งแต่ละกองทุนรวมจะมีขั้นต่ำไม่เท่ากัน เมื่อเงินของเรากระจายการลงทุนไปไว้ที่หุ้นหลายตัว เช่น  AOT ราคาขึ้น , PTT ราคาลดลง , CPALL ราคาไม่เปลี่ยนแปลง มีการขึ้นลงสลับกันไป เรียกง่ายๆว่าลงทุนน้อยและมีลุ้นหลายตัวนั่นเองจ้า

ตัวอย่างการลงทุนในกองทุนรวม

เงินหลักพันเริ่มต้นได้ที่กองทุนรวม ทยอยสะสมทีละเล็กละน้อย เดี๋ยวก็กลายเป็นเงินก้อนโตได้ ภาพนี้อภินิหารเงินออมทำกิจกรรมออมเงินวันหวยออก ทุกวันที่ 1 และ 16 สะสมได้เกิน 1,000 บาท นำไปเก็บไว้ที่กองทุนรวม ผ่านมาปีนิดๆผลตอบแทนก็เป็นแบบนี้จ้า ^^

ภาพจากบทความ เล่น(กับ)หวยก็มีเงินออมได้ (คลิกที่นี่)

เอาล่ะ มาถึงตรงนี้เราน่าจะพอเห็นภาพของกองทุนรวมกันบ้างแล้ว ตอนนี้มารู้จักกลไกการทำงานของกองทุนรวมกันบ้างดีกว่าว่าทำอะไร มีผลตอบแทนอย่างไร ใครมีหน้าที่ดูแลส่วนไหนบ้าง

ขั้นตอนการลงทุนในกองทุนรวม

  1. นักลงทุนรายย่อย(ตัวเรา) เมื่ออ่านหนังสือชี้ชวนจนเข้าใจแล้วก็เริ่มลงทุน โดยนำเงินไปซื้อหน่วยลงทุนจากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) ซึ่งมีนโยบายการลงทุนให้เลือกเยอะมาก ตั้งแต่ความเสียงต่ำไปสูง ระดับ 1 - 8  เรารับความเสี่ยงได้ระดับไหนก็เลือกแบบนั้น (กองทุนรวมหุ้น SET 50 ที่ยกตัวอย่างในบทความี้มีความเสี่ยงระดับ 6)

  1. บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) เป็นโรงงานผลิตกองทุนรวมออกมาให้เราลงทุน ไม่ใช่ใครอยากทำก็ทำได้นะคะ เพราะต้องได้รับใบอนุญาตตามกฎหมายก่อนถึงจะทำได้ ซึ่งมีหลายส่วนที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
    1. ก.ล.ต. เป็นพี่ใหญ่ที่ดูแล บลจ. ต่างๆ
    2. สมาคมบริษัทจัดการกองทุน (AIMC) 
    3. ผู้ดูแลผลประโยชน์ เป็นผู้ที่รักษาผลประโยชน์ให้นักลงทุน

  1. การลงทุนในรูปแบบต่างๆ ทาง บลจ. ก็จะนำเงินของเราไปลงทุนในที่ต่างๆตามหนังสือชี้ชวน ที่มีความเสี่ยงต่ำไปจนถึงความเสี่ยงสูง เช่น เงินฝาก ตราสารหนี้ ตราสารทุน ฟิวเจอร์ ทองคำ น้ำมัน อสังหาฯ การลงทุนต่างประเทศ ฯลฯ เพื่อนำผลตอบแทนกลับมาในกองทุน เช่น เงินปันผล ดอกเบี้ยรับ กำไรจากการขาย

  1. ผลตอบแทนที่เราได้รับ กองทุนรวมก็จะผลประโยชน์กลับมาให้ตามสัดส่วนที่เราลงทุน ทั้งในรูปแบบกำไรจากการขายและเงินปันผล ซึ่งกองทุนรวมมีทั้งจ่ายเงินปันผลและไม่จ่ายเงินปันผล หากเราลงทุนกองทุนรวมที่จ่ายเงินปันผลจะต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% ถ้าปีนี้เรามีฐานภาษี 5% เราขอคืนภาษีที่ถูกหักกลับมาได้ แต่ถ้าฐานภาษีของเราเกิน 10% ก็ไม่ต้องนำเงินปันผลนี้มายื่นภาษี

อยากลงทุนกองทุนรวมต้องทำอย่างไร 

“ซื้อกองทุนรวมไหนดีคะ” เป็นคำถามที่ได้ยินบ่อยมากและเป็นเรื่องที่ตอบยากมาก เพราะคำว่า “ดี” ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน

  • ดีของเราอาจจะเป็นเงินปันผลและผลตอบแทน
  • ดีของเราอาจจะเป็นช่องทางการซื้อขายที่มีกองทุนให้เลือกหลากหลาย
  • ดีของเราอาจจะความเสี่ยงต่ำ ปานกลางหรือสูงก็ว่ากันไป 

การซื้อกองทุนรวมไม่ยาก แต่การเลือกกองทุนรวมให้ตรงกับ “เป้าหมายทางการเงิน” นั้นยากกว่า แปลว่าเราต้องรู้เป้าหมายของการลงทุนก่อนถึงจะเลือกได้ว่าจะให้เงินของเราไปสะสมไว้ที่กองทุนรวมอะไร

มีขั้นตอนการลงทุนอย่างไรบ้าง ตามนี้เลยจ้า ^^

ข้อแรก คือ การเปิดบัญชี

เราลงทุนกองทุนรวมที่แหล่งผลิต คือ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) โดยตรงเลยก็ได้ แต่ถ้าไม่สะดวกก็ซื้อผ่านคนกลางที่เป็น ธนาคาร บริษัทหลักทรัพย์หรือที่ปรึกษาการเงิน (ได้รับใบอนุญาต) ซึ่งช่องทางทั้งหมดนี้ไม่ได้เก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด

ความแตกต่างอยู่ที่จำนวนกองทุนที่เลือกซื้อได้

  • ถ้าซื้อโดยตรง ผ่าน บลจ.หรือธนาคาร ก็จะซื้อกองทุนรวมได้เฉพาะบริษัทขายเท่านั้น 
  • ถ้าซื้อผ่านตัวกลาง ผ่านบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ผู้แนะนำการลงทุน หรือที่ปรึกษาการเงิน จะมีกองทุนรวมให้เลือกหลากหลายมากกว่า ซึ่งบาง บล. มีให้เลือกมากกว่า 1,500 กองทุน 

ข้อสอง เป้าหมายการลงทุน

เราจะต้องกำหนดมาว่าเงินก้อนนี้จะใช้ทำอะไร เท่าไหร่และเมื่อไหร่ในระยะสั้น กลางหรือยาว เพื่อจะได้รู้ว่าควรซื้อกองทุนรวมที่มีความเสี่ยงต่ำ กลางหรือสูง แล้วจัดพอร์ตการลงทุนของตัวเองออกมาได้ โดยเปรียบเทียบผลตอบแทน ค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่ายให้กองทุนรวม เช่น

  • ต้องการเก็บเงินฉุกเฉิน 50,000 บาท ใช้เวลาเก็บ 5 เดือน เราก็จะรู้ว่าเป็นเงินที่มีความเสี่ยงไม่ได้ ก็จะต้องเก็บไว้ที่กองทุนรวมความเสี่ยงต่ำ เช่น กองทุนรวมตลาดเงิน
  • ต้องการเก็บเงินดาวน์บ้าน 500,000 บาท ภายในระยะเวลา 5 ปี เป็นเงินก้อนที่จะต้องใช้ในระยะปานกลาง ควรลงทุนในกองทุนรวมความเสี่ยงปานกลาง เช่น กองทุนรวมผสม

ข้อสาม วิธีการลงทุน

เมื่อวางแผนแล้วว่าจะซื้อกองทุนรวมอะไรบ้าง จากนั้นก็ตัดสินใจว่าจะลงทุนแบบไหน เช่น ซื้อครั้งเดียวเป็นก้อน ทยอยสะสมทุกๆเดือน(สมัครใช้บริการ DCA ซื้อรายเดือนกับ บล.เป็นการลงทุนแบบอัตโนมัติ) หรือว่าลงทุนเฉพาะบางเดือน สะสมมากบ้าง น้อยบ้างสลับกันไป ทั้งหมดนี้มีผลกับต้นทุนราคาของกองทุนรวมที่เราซื้อ 

ข้อสี่ การติตตามผลการลงทุน

เราดูข้อมูลกองทุนรวมได้จากเอกสารของกองทุนรวมที่ส่งไปที่บ้าน ดูผ่านคอมพิวเตอร์หรือดูผ่านแอพบนมือถือก็ได้ เพื่อจะได้ติดตามว่าการลงทุนเป็นอย่างที่เราคิดมั๊ย สัดส่วนการลงทุนที่ตั้งไว้ตั้งแต่แรกตอนนี้เปลี่ยนไปรึเปล่า

สมมติว่าเราซื้อกองทุนรวมหุ้นและกองทุนรวมตราสารหนี้ สัดส่วน 60 : 40 เวลาผ่านไปสัดส่วนกลายเป็น 80 : 20 เราอาจจะต้องขายกองทุนรวมหุ้นออกมาเพื่อซื้อกองทุนรวมตราสารหนี้ เพื่อปรับสัดส่วนให้กลับไปเหมือนเดิม รวมถึงการปรับพอร์ตลงทุนให้ตรงกับชีวิตครอบครัวที่เปลี่ยนไป เช่น มีครอบครัว มีลูก อายุมากขึ้น ก็ต้องปรับพอร์ตให้เหมาะกับการยอมรับความเสี่ยงที่เปลี่ยนไปด้วยนะจ๊ะ

มาถึงตรงนี้น่าจะทำให้เราเริ่มเห็นภาพของกองทุนรวมมากขึ้น รู้ว่ามีการทำงานอย่างไร เราได้รับประโยชน์อะไรบ้าง สุดท้ายผลลัพธ์ที่ดีจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องลงมือทำนะคะ ตอนนี้ควรศึกษาข้อมูลให้เข้าใจก่อน เมื่อมั่นใจแล้วค่อยลงทุน ขอให้ทุกคนโชคดีกับการเริ่มต้นในกองทุนรวมนะคะ^^

ข้อมูลเพิ่มเติม

ความรู้เรื่องกองทุนรวม

https://www.set.or.th/set/education/html.do?name=mutualfund&showTitle=F