"การเป็นหนี้" ทำให้ฉันรู้สึกเข็ดหลาบกันเลยทีเดียว เมื่อวานก่อน ฉันเคลียร์งานลูกค้าเสร็จเร็วเลยนัดกับเพื่อนๆ ไปเจอกันที่ห้างสรรพสินค้าใจกลาง กทม. แหล่งช้อปแหล่งชิมที่ฉันเดินเล่นมาตั้งแต่สมัยเสื้อนักเรียนปกบัวแขนสั้น (อย่าริถามอายุฉันตอนนี้ล่ะ หยิก!) ด้วยความที่ฉันเดินทางด้วยบีทีเอสจึงมาถึงที่หมายก่อนใครอื่นเลยถือโอกาสเดินเล่นแถวๆ ชั้น 2 เป็นการฆ่าเวลารอเพื่อนๆ ซักหน่อย

อุ๊! แค่ร้านแรก ก็เจอของถูกใจเข้าซะแล้ว! สูทผ้าลูกผูกสีอิฐที่ฉันอยากได้ หมายตามาตั้งแต่ต้นเดือนที่แล้วว่าต้องมี #ตัวนี้น่ะสวยจริ๊ง ตอนนี้ทางร้านขึ้นป้าย Discount ด้วย! ว่าแล้วก็ไปดูซักหน่อย ลด 20% จะเหลือกี่บาทน้าาา..

ลดแล้วเหลือ 3,992 บาท

อุ๊!! (อีกรอบ) วางก่อนจ้ะ ขอบาย นี่ลดแล้วเหรอ งงนะ ปลายเดือนอย่างนี้ ไม่ง่ายเลยนะที่จะหยิบของราคาหลักนี้ไปจ่ายเงินที่เคาน์เตอร์น่ะ สูดหายใจเข้าลึกๆ อยากได้ก็จริง แต่ต้องมีเงินกินข้าวจนถึงสิ้นเดือนนะ

ฉันเดินเข้าไปดูราวเสื้อผ้าด้านในอีกนิดหน่อย ก่อนจะค่อยๆ เฟดตัวออกมาจากร้านอย่างเงียบๆ พยายามก้มหน้าก้มตาเดินผ่านป้ายลดราคาของร้านกระเป๋าอีกสองสามร้าน แล้วไปพักใจที่แผนกผักสดในกูร์เมต์ มาร์เก็ต

หูยยย! ถ้าเป็นเมื่อก่อนนะ เจอของดี ลดราคาขึ้นป้าย Final Sale แค่ 5% ฉันก็จัดการรูดบัตรเครดิตแล้ว Shoppaholic เว่อร์! แต่ด้วยประสบการณ์การเป็นหนี้ (ขนหัวลุก!) เมื่อสมัยเริ่มต้นทำงานใหม่ๆ มันย้ำเตือนฉันว่าไม่ควรกลับไปยืนอยู่ในจุดที่ต้องทำงานหาเงินผ่อนของอีก

เพราะมันเหนื่อยมากเลยค่ะคุณขา!

ตอนนั้นถ้านับเปอร์เซ็นต์จากเงินเดือนที่หาได้ ฉันยอมเทกระจาด 50% (+ รูดบัตรเครดิต) เพื่อซื้อเครื่องสำอาง เสื้อผ้าและรองเท้า คนเพิ่งหาเงินใช้เองได้อ่ะเนอะ ก็ต้องเอาหน่อย! เมื่อหักค่าช้อปปิ้งออกไปแล้ว ฉันก็จะเหลือเงินสำหรับใช้จ่ายต่อเดือนอยู่แค่หยิบมือ เลยต้องไปประหยัดในส่วนของมื้ออาหารแทน วันหยุดไหนที่เพื่อนไม่ได้นัดออกไปเจอ ก็จะอยู่ห้อง ต้มมาม่ากินสามมื้อ #คิดจะสวยต้องอดทนค่ะ ส่วนเดือนไหนเงินไม่พอใช้จริงๆ ก็จะโทรไปขอที่บ้าน โดนแม่เฉ่งเป็นชั่วโมงเพราะเรื่องการใช้เงินแบบมือเปิบของฉัน แต่ตอนนั้นฉันยังไม่รู้สึกว่ามันเป็นปัญหา เพราะยังสนุกกับการช้อปปิ้งอยู่

กว่าฉันจะรู้ตัว มันก็ตอนที่มีใบแจ้งหนี้บัตรเครดิตส่งตรงมาที่คอนโดฯพร้อมกัน 4 ใบ รวมๆ แล้วเป็นเลขห้าหลักที่ฉันต้องผ่อนจ่ายต่อเดือน เข่าแทบทรุดตรงล็อกเกอร์จดหมายค่ะคุณ!

แต่ตอนนี้ฉันเคลียร์หนี้หมดแล้วจ้ะ เลยเดินเฉิดฉายเชิดคอได้! (Standing Ovation)

อาจดูเหมือนฉันพลิกเรื่องเร็วเกิ๊น แต่ในความเป็นจริงกว่าจะมีวันนี้ได้ ฉันก็ต้องบากบั่น กัดฟัน ฝืนทน นานเกือบสองปีกว่าจะใช้หนี้หมด!

หลังจากได้รับใบแจ้งหนี้ ฉันก็สติแตกอยู่สัปดาห์หนึ่ง ไม่กล้าปรึกษาใคร เพราะกลัวโดนด่าแล้วจิตตกกว่าเดิม ก่อนจะนึกขึ้นได้ว่าฉันจะปล่อยให้ตัวเองตกอยู่ในภาวะอย่างนี้ต่อไปไม่ได้แล้ว!

วันอาทิตย์ในเดือนกันยาฯนั้นหลังจากมื้อกลางวันมาม่าต้มยำกุ้งน้ำข้น ฉันกางสลิปเงินเดือนเทียบกับยอดหนี้บัตรเครดิตแล้วเริ่มต้นคำนวณสัดส่วนหนี้ที่ต้องจ่ายชำระ ได้ความว่าทุกๆ เดือนนับจากวันนั้นฉันต้องหักเงินออกมาเพื่อจ่ายหนี้เป็นจำนวน 55% ของเงินเดือน นั่นเท่ากับว่าฉันต้องหยุดพฤติกรรม ‘นักช้อปปิ้ง’ ของตัวเองลง

1. หยุดสร้างหนี้เพิ่ม

#หยุดสร้างหนี้เพิ่ม คือสิ่งแรกที่ฉันเริ่มต้นทำเมื่อคิดจะปลด "การเป็นหนี้" อย่างจริงจัง ต้องยอมรับว่าช่วงแรกมันเป็นอะไรที่ฝืนใจมากกก เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่เดินผ่านร้านค้าที่มีป้าย Summer Sale / Midnight Sale / End of The Year Sale / Final Sale นะคุณเอ้ย! ฉันมักจะเกิดอาการอยากช้อปฯ ปฏิกิริยาคล้ายๆ ตอนคุณเห็นเนื้อมะนาวที่ถูกบีบ มันเปรี้ยวจี๊ด อยากเข้าไปเลือกซื้อซะเหลือเกิน! ทีแรกฉันไม่ยอมปล่อยให้ตัวเองเข้าไปในร้านพวกนั้นเลยเพราะกลัวเผลอเรอหยิบติดไม้ติดมือไปจ่ายตังค์ที่เคาน์เตอร์ แต่พักหลังชักทนไม่ไหว เลยปล่อยให้ตัวเองเข้าไปเลือกดูได้บ้าง แต่ฉันมีวิธีการชะงักความอยากของตัวเองนะ เมื่อไหร่ก็ตามที่ฉันเจอเสื้อผ้าที่ถูกใจ สิ่งที่ฉันจะทำนั่นก็คือ หยิบไปลองค่ะ.. หยิบไปลองให้มันรู้ว่ามันสวยขนาดนั้นไหน แล้วคิด

ต่อว่าในตู้เสื้อผ้าที่คอนโดฯมีชุดที่คล้ายกันนี้มั้ย ถ้ามี.. ถอดแล้วเอาไปคืนพนักงานขายค่ะ!

2. จดรายการหนี้

#จดรายการหนี้ ฉันแจงรายละเอียดส่วนนี้เพื่อที่จะได้รู้ว่าตัวเองเป็นหนี้บัตรเครดิตแต่ละเจ้าอะไร-เท่าไหร่ แล้วแต่ละงวดฉันจะกั้นใจจ่ายเต็มจำนวน ไม่จ่ายขั้นต่ำ เพื่อกันไม่ให้เกิดหนี้งอก

3. วางแผนการเงิน

ต่อไปเป็นเรื่องของ #การวางแผนการเงิน ต้องยอมรับว่าก่อนหน้าที่ฉันจะเป็นหนี้ ฉันมีสนใจเรื่องการเงินน้อยมาก เพราะคิดไว้แค่ว่า ‘หาได้ ก็ต้องใช้ไป’ สมัยเรียนก็ไม่เห็นมีใครเคยสอน เลยไม่ค่อยเห็นความสำคัญของมันซักเท่าไหร่ แต่เมื่อเป็นหนี้ สิ่งที่ฉันบังคับให้ตัวเองทำจนเป็นนิสัยนั่นก็คือการจดบันทึกรายรับ-รายได้ เพื่อที่จะได้เห็นรายการการเดินบัญชีของตัวเองทั้งหมด ตัดรายจ่ายจุกจิกที่ไม่จำเป็นออก

* ตามหลักการแล้ว ยอดหนี้ไม่ควรเกิน 40% ของรายได้ และเอาเข้าจริง 40% เนี่ยก็นับเป็น Maximum สุดๆ ถ้ายอดหนี้ของใครแตะตัวเลขนี้ได้ ก็จะลำบากเหมือนที่ฉันเป็นในตอนนั้น (ร้องไห้) ทางที่ดีถ้าคิดจะมีหนี้ก็ควรมีให้น้อยกว่านี้ หรือไม่.. ก็ไม่ควรมีเลยจ้ะ

4. หารายได้เสริม

ถ้าอยากปลดหนี้เร็วๆ ก็ต้องหาเงินมาโปะเพิ่มด้วยการ #หารายได้เสริม โชคดีนะที่ฉันพอจะมีทักษะในการเขียนอยู่บ้าง ฉันเลยรับจ๊อบเขียนบทความลงนิตยสารและเว็บไซต์ไปด้วย (อย่าไปบอกบอสฉันนะ) บางเดือนก็มีงาน 2-3 ชิ้น พอประทังชีวิต ให้ได้กินบุฟเฟต์ดีๆ ซักมื้อเป็นของขวัญให้ตัวเอง ส่วนเดือนไหนงานชุกหน่อย ฉันก็ยอมทำงานหามรุ่งหามค่ำเพื่อเอาเงินจากงานนอกนั้นมาโปะหนี้ให้หมดเร็วๆ

5. ลงทุนเพื่ออนาคต

เมื่อฉันสามารถประครองสเตตัสทางการเงินของตัวเองได้บ้างแล้วหลังจากปิดหนี้บัตรเครดิตไปได้หนึ่งใบ ฉันก็เริ่มมองหาการลงทุน ตอนที่ยังไม่ได้ศึกษาแบบลงลึกมากนัก ฉันเลือกฝากเงินในบัญชีเงินฝากแบบประจำ 2 ปี เดือนละ 2,000 บาท มันเป็นส่วนหนึ่งของแผนการลงทุนที่ฉันวางไว้.. ฉันอยากมีเงินซักก้อนไว้สำหรับลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้นในวันที่ฉันปลดหนี้เรียบร้อยแล้ว (ฉันอยากมีเงินเย็นค่ะคุณขา) ซึ่งปัจจุบันฉันถือกองทุนรวมอยู่สามสี่ตัวพอสวย ในอนาคตก็เล็งๆ เพิ่มสินทรัพย์เข้าไปในพอร์ตลงทุนอีกนิดหน่อยจากเงินโบนัสที่ใกล้จะออก

ทุกวันนี้ฉันแฮปปี้กับการปลอดหนี้ (บัตรเครดิต) ของตัวเองมาก รู้สึกไม่มีห่วงโซ่คล้องคอ เดินไปไหนก็เชิดหน้าได้ #คนนี้น่ะสวยจริ๊ง เสื้อผ้า เครื่องสำอาง ถ้าอยากได้ก็จะคำนึงถึงความจำเป็นก่อน ถ้าของมันต้องมี ก็จำเป็นต้องซื้อ แต่ก็ไม่หว่านซื้อเหมือนเมื่อก่อนแม้จะมีป้าย Discount แปะอยู่

นี่ถ้าพูดกันตามความจริง ฉันก็ต้องขอบคุณ Final Sale และการเป็นหนี้นะที่ทำให้ฉันรู้จักการจัดการการเงิน (ควรขอบคุณมั้ยอ่ะ ยัง-งง)

ติดตามความรู้เรื่องการเงินการลงทุนจาก aomMONEY

Website : www.aomMONEY.com

 Youtube : https://www.youtube.com/AommoneyTH

กลุ่มกองทุนไหนดี : https://www.facebook.com/groups/SelectedFund/

ทีมกองบรรณาธิการ aomMONEY