ตัวเลขเป้าหมายการเงินของคุณในชีวิตคือเท่าไหร่?

หลายคนอาจจะตอบว่า 10 ล้าน 20 ล้าน 100 ล้าน ว่ากันไป

แต่ถ้าถามต่อว่า “ทำไมถึงต้องมีเท่านี้?”

หลายคนอาจจะไม่เคยคิดถึงคำถามนี้ เพราะรู้สึกว่า มีเยอะก็ดีมากกว่ามีน้อย ทำงานหามรุ่งหามค่ำ เพื่อจะไปให้ถึงเป้าหมายตัวเลขทางการเงินที่ตั้งเอาไว้

ผิดไหม? ไม่ผิดหรอกครับ

แต่มันอาจจะมีทางที่ดีกว่านี้

เป้าหมายการเงินที่มีความหมาย

ครั้งหนึ่งก่อนที่ “พี่หนุ่ม-Money Coach” จะกลายเป็นมันนี่โค้ชเหมือนอย่างที่เรารู้จักกันในตอนนี้ เขาก็เคยสับสนเรื่องเป้าหมายการเงินของตัวเองมาก่อน

พี่หนุ่มเล่าในหนังสือ “Money 101” ว่าในงานสัมนาเรื่องการเงินครั้งหนึ่งเคยถูกไมค์จ่อปากถามว่า “เป้าหมายการเงินของคุณคืออะไร?”

ตอนนั้นพี่หนุ่มตอบไปว่า “100 ล้านภายใน 5 ปี”

ประเด็นคือเขาไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าทำไมถึงอยากมีเงิน 100 ล้าน

หลังจากวันนั้นเขาก็มานั่งถามตัวเองว่าที่จริงแล้วอยากได้ 100 ล้านจริงๆ เหรอ?

ทั้งๆ ที่จริงแล้ว วิถีชีวิตหรือความต้องการของตัวเองก็ไม่จำเป็นต้องใช้เงินขนาดนั้นก็ได้

หลังจากนั่งเขียนสิ่งที่จะเอาเงิน 100 ล้านไปซื้อบนกระดาษ A4 พี่หนุ่มก็เริ่มเห็นภาพชัดขึ้น ขีดฆ่าออกไปก็หลายอัน เพราะรู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้ ไม่มีก็ไม่ตาย หรือมีก็ไม่ได้มีความสุขอะไรขนาดนั้น

รายการบนกระดาษ A4 แผ่นนั้น เหลือแค่ไม่กี่อย่าง

สุดท้ายก็เริ่มตกผลึกว่า

“คนเราต้องตั้งเป้าหมายชีวิตเสียก่อน แล้วจึงตั้งเป้าหมายการเงิน ไม่ใช่เอาเป้าหมายการเงินเป็นตัวตั้ง

เริ่มต้นจากกำหนดรูปแบบชีวิตที่ต้องการให้ชัดเจนเสียก่อน ตั้งคำถามกับตัวเองว่า "ต้องการใช้ชีวิตแบบไหนอย่างไร" แล้วจึงค่อยมาดูว่า "รูปแบบชีวิตที่อยากได้นั้น จำเป็นต้องใช้เงินสนับสนุนมากน้อยแค่ไหน””

เพราะฉะนั้นที่จริงแล้วถ้าเป็นเรื่องเป้าหมายการเงิน ขั้นตอนแรกที่เราต้องทำคือมีเป้าหมายก่อนว่าชีวิตที่อยากได้นั้น หน้าตามันเป็นยังไง แล้วค่อยดูว่าต้องใช้เงินเท่าไหร่

อาจจะเป็นการซื้อบ้านให้แม่อยู่สักหลัง อาจจะเป็นที่ดินสักผืนเพื่อทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์ที่บ้านต่างจังหวัด อาจจะเป็นเงินก้อนสำหรับการไปเรียนต่อต่างประเทศ ฯลฯ

เมื่อมีตัวเลข xx บาทในหัว และ เหตุผลว่าทำไมต้องมีตัวเลข xx บาท ตอนนี้เป้าหมายการเงินนั้นก็มี ‘ความหมาย’ เข้ามาผูกด้วย

หากเป้าหมายเป็นเพียงแค่ตัวเลข ไม่ได้มีความหมายอะไร เราอาจจะคิดว่า ‘อนาคตยังอีกไกล เดี๋ยวค่อยเก็บใหม่ก็ได้’ แล้วก็ใช้เงินไปเรื่อยๆ เพราะมันไม่ชัดเจน

แต่เมื่อนั้นเป้าหมายชัด มันจะส่งผลไปถึงพฤติกรรมและการตัดสินใจของเราเรื่องเงินทันที

เราจะแยกออกระหว่าง “สิ่งที่จำเป็น” กับ “สิ่งที่อยากได้”

เริ่ม ‘วางแผนการเงิน’ เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายที่วางเอาไว้ การใช้จ่ายแต่ละครั้งก็จะเริ่มมีเหตุผลมารองรับ

แน่นอนว่ามันไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเราอยู่ในโลกที่ความสุขแบบเฉียบพลันสามารถซื้อหาได้ด้วยการแตะหน้าจอเพียงไม่กี่ครั้ง ไม่นานของพวกนี้จะมาถึงหน้าบ้าน

แม้การจ่ายเงินเล็กๆ น้อยๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของตัวเองจะช่วยให้เรารู้สึกดี แต่การบรรลุเป้าหมายทางการเงินที่ยิ่งใหญ่นั้นจะทำให้เราฟินกว่าหลายเท่าเลย เพราะมันมีความหมายต่อเรามากกว่า

มีคำกล่าวหนึ่งที่บอกว่า ‘ทำวันนี้ให้ตัวเราในอนาคตจะต้องกลับมาขอบคุณ’

ประโยคนี้ใช้ได้กับทุกเรื่อง ความสัมพันธ์ สุขภาพ การงาน และโดยเฉพาะการเงิน

เชื่อสิว่าหากเราสามารถเก็บออมเงินหรือลงทุนจนไปถึงเป้าหมายได้ ตัวเราในอนาคตต้องอยากกลับมาขอบคุณเราในวันนี้อย่างแน่นอน

ทำยังไงไม่ให้ตบะแตก

ยิ่งเป้าหมายใหญ่ ยิ่งต้องใช้เวลานานขึ้น และการใช้ชีวิตโดยใช้เงินกับสิ่งที่จำเป็นอย่างเดียว โดยไม่มีความสุขกับเงินที่หามาเลยก็ไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก

อดกลั้นนานๆ จนทนไม่ไหว เราอาจจะตัดสินใจพลาดแล้วใช้เงินอย่างไม่คิดหน้าคิดหลังอีกเลยก็ได้ (ลองคิดถึงคนที่อดอาหารนานๆ แล้วโยโย่กินแหลกก็ได้ครับ)

แล้วระหว่างทางที่ไปถึงเป้าหมายการออมเงินนี้จะทำยังไงไม่ให้ตบะแตกไปเสียก่อน?

มีเทคนิคหนึ่งจากหนังสือการเงินชื่อ “How to Money” ที่บอกว่าระหว่างทางให้เรา ‘ฉลองกับความสำเร็จเล็กๆ’ ซึ่งเป็นเทคนิคที่จะช่วยทำให้เรายึดมั่นในเส้นทางสู่เป้าหมายใหญ่และเพิ่มโอกาสในการไปถึงเป้าหมายนั้นได้

ทำยังไง? ยกตัวอย่างเช่นคุณมีเป้าหมายเก็บเงิน 100,000 บาท เพื่อจะดาวน์รถยนต์มือสองสักคันหนึ่ง

สมมุติคุณเก็บเงินได้เดือนละ 5,000 บาท นั่นก็หมายความว่าจะต้องใช้เวลา 20 เดือน

ทีนี้ระหว่างทางเราอาจจะตั้งเป้าเพื่อฉลองเล็กๆ

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเก็บเงินได้ 30,000 บาท จะขอกินอาหารญี่ปุ่นสักมื้อ หรือ เมื่อเก็บได้ครบ 50,000 บาท จะซื้อกางเกงยีนส์ตัวใหญ่ที่เล็งไว้สักตัวหนึ่ง อะไรประมาณนี้

คือรางวัลก็อย่าไปเว่อร์จนเงินหายไปทั้งก้อน เอาที่มันพอดี นิดๆ หน่อยๆ ถือเป็นกำลังใจให้ตัวเอง

บันไดสามขั้นของการออมเงินเพื่อไปถึงเป้าหมาย

บันไดสามขั้นสู่การตั้งเป้าหมายการเงินให้สำเร็จ

1. ระบุเป้าหมายให้ชัดเจน เอาไปทำอะไร พร้อมเขียนกำกับว่าต้องใช้เงินเท่าไหร่

2. กำหนดกรอบเวลาที่ต้องการบรรลุเป้าหมาย

3. ลองคำนวณ: หารจำนวนเงินด้วยระยะเวลา ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่เป็นเป้าหมาย เพื่อให้ได้เงินก้อนเล็ก ๆ ซึ่งเราเรียกเงินจำนวนนี้ว่า ค่ามาตรฐาน (benchmarks)

ตัวอย่างเช่น

ต้องการเก็บเงินไปเที่ยวกับเพื่อนในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ทริปนี้ต้องใช้เงิน 10,000 บาท ในอีก 3 เดือนข้างหน้า

เราสามารถคำนวณได้ว่า 10000 บาท ต่อ 3 เดือน = 3,333 ต่อเดือน หรือ 833 บาทต่อสัปดาห์

เราอาจออมเงินจำนวนนี้ทุกสัปดาห์ (หากทำได้ ตั้งโอนเงินก้อนนี้เก็บในแอปฯธนาคารเป็นอัตโนมัติเลย) หรือถ้าไม่ได้เปิดบัญชีเอาไว้ก็แบ่งเงินส่วนนี้ไปเก็บไว้ในลิ้นชักหรือที่ซ่อนอื่น ๆ เพื่อช่วยหักห้ามใจไม่หยิบเงินไปใช้ได้ง่าย ๆ

ถ้าเป็นเป้าหมายการเงินระยะยาวก็สามารถใช้วิธีเดียวกันได้ หาช่องทางการนำเงินนั้นไปลงทุนต่อยอดให้งอกเงยด้วย

ส่ิงที่ต้องคำนึงคือต้องดูเป้าหมายและระยะเวลา เช่นหากเป็นเงินค่าเทอมลูกที่ต้องใช้ในอีก 5-10 ปี ก็ต้องเก็บไว้ในที่ที่ความเสี่ยงต่ำ เช่นธนาคารหรือพันธบัตรรัฐบาล

หากเป็นเงินก้อนเป้าหมายเพื่อการลงทุนการเกษียณ 20-30 ปี ก็อาจจะเสี่ยงสูงขึ้นมาหน่อยเช่นกองทุน หรือ หุ้น (ตามความรู้และความสามารถในการรับความเสี่ยงของเราด้วย)

สร้างนิสัยการออมเงิน

การออมเงินเริ่มได้เท่าที่มี ไม่จำเป็นต้องเริ่มเยอะ มีเท่าไหร่ก็เริ่มเก็บออม

สิ่งสำคัญคือการฝึกวินัยการออม หัวใจของมันคือทำจนติดเป็นนิสัย

หากทำเองไม่ได้ ก็ลองตั้งแอปธนาคารให้โอนเงินเก็บเอาไว้ในบัญชีเป็นรายสัปดาห์แบบอัตโนมัติก็ได้

เหมือนเด็กที่ค่อยๆ เรียนรู้และฝึกนิสัยการเงินของตัวเองให้ดีขึ้น

ในหนังสือ “How to Money” บอกว่า เคล็ดลับในการสร้างนิสัยการเงินที่ดี 3 ข้อคือ

1. ทำให้เป็นกิจวัตร

อย่างเช่นเราอยากจะสร้างนิสัยการออกกำลังกาย เราไม่จำเป็นต้องกดดันตัวเองให้วิ่งมาราธอนได้ในเช้าวันพรุ่งนี้ แต่ลองตั้งเป้าง่ายๆ ดู เช่นออกไปเดินในหมู่บ้านวันละ 5 นาที 3 วันต่อสัปดาห์

ทำให้มันง่าย จนชนิดที่ว่าไม่มีทางเลยที่จะทำไม่ได้

นี่คือสิ่งที่เรียกว่า ‘Micro Habits’

หลังจากนั้นก็ค่อยๆ ทำให้ยาวขึ้นทีละนิด บ่อยขึ้น จนติดเป็นนิสัย

การเงินก็เช่นกัน ออมทีละนิดวันละ 10 บาท 20 บาท แล้วค่อยๆ เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ

เจมส์ เคลียร์ (James Clear) นักเขียนหนังสือขายดีระดับโลกอย่าง ‘Atomic Habits’ บอกว่า

"นี่คือความจริงที่ลึกซึ้งเกี่ยวกับนิสัยซึ่งคนส่วนใหญ่มักจะมองข้าม นั่นคือนิสัยจำเป็นต้องถูกสร้างขึ้นมาก่อน จากนั้นจึงค่อยปรับปรุงให้ดีขึ้น มันจะต้องมีมาตรฐานในชีวิตของคุณก่อน จากนั้นคุณจึงจะสามารถขยายและเพิ่มประสิทธิภาพ เพื่อให้กลายเป็นสิ่งที่ดียิ่งขึ้นไปได้"

"เรามักจะมุ่งเน้นไปที่การหาโปรแกรมออกกำลังกายที่ดีที่สุด กลยุทธ์การขายที่สมบูรณ์แบบ แผนการควบคุมอาหารที่ดีที่สุด - เรามุ่งเน้นไปที่การทำให้ดีที่สุดมากเกินไป จนลืมอนุญาตให้ตัวเองเริ่มต้นแม้เพียงเล็กน้อยก็พอแล้ว”

2. จับคู่กับสิ่งที่เราชอบ

เช่นเราอยากเก็บเงินเดือนละ 5,000 บาท แต่รู้สึกว่ามันยากจัง ก็ลองย่อยเงินก้อนนั้นให้เล็กลง เป็นสัปดาห์ละ 1,250 บาท ซึ่งตัวเลขนี้ดูเป็นไปได้

ทีนี้ทุกครั้งที่เราโอนเงินก้อนนี้ไปเก็บ เราก็อาจจะอนุญาตให้ตัวเองทำสิ่งที่ชอบอย่างหนึ่งเล็กๆ เช่นดื่มกาแฟจากร้านโปรด หรือ กินไอศกรีมที่ชอบสักก้อนหนึ่ง

มันเป็นการปรับทัศนคติให้มองว่ากิจกรรมที่เราทำนั้นไม่ได้เลวร้ายนัก และมันจะง่ายขึ้นเรื่อยๆ

3. ยอมรับความผิดพลาดและก้าวต่อไป

เราทุกคนล้วนเคยผิดพลาด เผลอออกนอกลู่นอกทางบ้างเป็นธรรมดา อย่าโบยตีตัวเองเกินไป อย่าดูถูกตัวเอง อย่าไปคิดว่าตัวเองล้มเหลวและจะไม่มีทางทำได้

เมื่อผิดพลาดให้ยอมรับ อย่าปล่อยปละละเลย มองมันเป็นหนึ่งในกระบวนการเรียนรู้ เพื่อที่จะก้าวต่อไปข้างหน้าจะดีกว่า

ตอนนี้ไม่ว่าเป้าหมายการเงินของคุณจะเป็นเท่าไหร่ ขอให้มันเป็นเป้าหมายที่มีความหมาย และเริ่มออมเงินให้ตัวเราในอนาคตอยากกลับมาขอบคุณเราในวันนี้กันเถอะครับ