ถ้าเราไปคุยกับนักลงทุนไม่ว่าหน้าใหม่หน้าเก่าเมื่อพูดคำว่า ‘ดอกเตอร์’ ทุกคนจะเข้าใจในหัวเลยว่าคือ ‘ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร’ และถ้าเจาะลึกลงไปถึงแนวทางการลงทุนแบบ VI (Value Invester) ยิ่งจะหนีจากชายผู้เป็นต้นแบบของนักลงทุนแนวนี้ของประเทศไทยไปไม่ได้เลย

ถ้าให้พูดถึง ดร.นิเวศน์ ความทรงจำแรกที่เข้ามาในหัวคือหนังสือ ‘ตีแตก’ ที่ได้รับมาจากพี่สาวเพราะตอนนั้นผมเพิ่งเริ่มต้นลงทุนในตลาดหุ้นไทย พี่บอกว่าหนังสือเล่มนี้เขียนดีและอ่านสนุกมาก ซึ่งก็เป็นแบบนั้นจริง ๆ เป็นหนังสือที่ไม่ได้ใช้ภาษาที่แพรวพราวเข้าใจยาก อันที่จริงแล้วภาษาออกจะเป็นแบบบ้าน ๆ เหมือนคุณลุงใจดีคนหนึ่งมาแบ่งปันเล่าให้ฟังซะด้วยซ้ำ นั่นอาจจะเป็นเหตุผลว่าทำไมผมถึงติดตามงานของ ดร.นิเวศน์ มาโดยตลอด แม้ว่ายังไม่มีโอกาสเจอตัวจริงสักที แต่ก็รู้สึกว่ารู้จักตัวเขาผ่านผลงานทางด้านการเขียนและการลงทุนมาไม่น้อย

แต่หนังสือ ‘เด็กวัดดอน’ เป็นเล่มที่ต่างออกไป มันคือหนังสือชีวประวัติของ ดร.นิเวศน์ ผ่านการเล่าจากตัวดอกเตอร์เองและเขียนถ่ายทอดโดยคุณ ชัชวนันท์ สันธิเดช ซึ่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คลับ วีไอ จำกัด และมีผลงานเขียนและงานแปลหนังสือมาแล้วหลายสิบเล่ม มันจึงเป็นหนังสือที่ฉายภาพด้านอื่น ๆ ของชีวิตของดอกเตอร์ที่ไม่ใช่การลงทุนหรือแนวคิดเชิงธุรกิจเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ชีวิตเบื้องหลัง พื้นเพที่ยากลำบากตั้งแต่เกิด การตัดสินใจครั้งใหญ่ ๆ ในชีวิต ตั้งแต่การเรียนต่อมัธยมปลาย มหาวิทยาลัย ทำงาน ไปเรียนเมืองนอก แนวคิดทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไประหว่างทาง การถูกปลดออกจากงาน นอกจากนั้นยังด้านชีวิตส่วนตัว ความรัก และปรัชญาการใช้ชีวิตจนประสบความสำเร็จในปัจจุบันนี้ได้

พูดได้อย่างเต็มปากว่า ถ้าใครอยากรู้จัก ดร.นิเวศน์ เล่มนี้แหละคือตัวตนของเขาเลย

จุดเริ่มต้นที่ไร้แต้มต่อ

แน่นอนว่าหนังสือมีเนื้อหาที่เยอะมาก (อยากแนะนำให้อ่านทั้งเล่มจริง ๆ ครับ) แต่ละส่วนไล่ตั้งแต่ช่วงชีวิตในวัยเด็ก ความทรงจำของเด็กวัดดอนที่วิ่งเล่นในสลัมและป่าช้าวัดดอน การเติบโตมาในครอบครัวที่ยากจน พ่อแม่เป็นชาวจีนอพยพพูดภาษาไทยไม่ได้ด้วยซ้ำ ต้องทำงานเป็นช่างไม้ก่อสร้างแบบรายวัน วันไหนมีงานก็มีเงิน วันไหนพ่ออยู่บ้านก็รู้เลยว่าวันนี้ไม่มีงาน

ความทรงจำในวัยเด็กของเขาคือ ‘ความยากจน’ แต่นั่นก็เป็นแรงผลักที่ทำให้เขาต้องเอาตัวรอด ออกมาจากตรงนั้นให้ได้ ต้องเรียนหนังสือ ต้องเก่ง เพื่อจะอยู่รอดในสังคมที่มีการแบ่งชนชั้นอย่างชัดเจน ดร.นิเวศน์กล่าวว่า

“เราถูกเหยียด เราก็เลยต้องดิ้นรน ทำยังไงถึงจะก้าวขึ้นมา”

มันเป็นการแหกกรอบที่สังคมวางเอาไว้ว่าเขาควรอยู่ตรงไหน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราต้องอยู่เหมือนที่สังคมบอกเอาไว้ เขาบอกว่ามันคือการ ‘ปรับไปเรื่อย ๆ เกาะกลุ่มกับอีลีต (คนที่สถานะทางสังคมดีกว่า) เราค่อย ๆ ไต่จากวัดดอน ไปวัดสุทธิฯ ไปเตรียมฯ ไปวิศวะ (จุฬาฯ) เราเกาะกลุ่มอีลีตมาตลอดแต่เราอยู่ในส่วนล่างของเขา’

เขาเปรียบเทียบชีวิตตัวเองเหมือนการเตะบอลว่า “เหมือนฟุตบอล เราค่อย ๆ ไต่ขึ้นมาทีละลีก แต่ว่าเป็นท้าย ๆ ของลีก ถ้าเป็นพรีเมียร์ลีก เราก็อยู่ท้ายของลีก”

แม้จะไม่ได้มีแต้มต่อ แต่ก็ไม่ยอมออกจากเกม เอาตัวรอดไปเรื่อย ๆ เพราะยังไงอยู่ตรงนี้ก็ ‘ได้’ มากกว่า ‘เสีย’ นี่คือหลักแนวคิดที่ทำให้นักลงทุนมหาเศรษฐีชื่อดังมายืนอยู่ตรงนี้ได้

“ผมจะไม่ยอมทำตามสิ่งที่ผมถูกตีกรอบเอาไว้ว่าคุณต้องเป็นอย่างนี้ ชีวิตคุณได้แค่นี้ คุณอย่าไปคิดแข่งกับคนอื่นที่เขาอยู่ในสเตตัสที่สูงกว่า”

ดร.นิเวศน์ กล่าวถึงแนวคิดที่เขาใช้อยู่เรื่อยมาตั้งแต่ยังเด็ก

วางแผน ลงมือทำ

หนังสือเล่มนี้นอกจากจะทำให้เข้าใจแนวคิดของการฉีกกรอบออกจากจุดที่ตัวเองอยู่แล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงแนวคิดที่สำคัญอีกอย่างของ ดร.นิเวศน์ ที่เป็นรากฐานของความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นชีวิตส่วนตัว การเรียน หรือการลงทุน นั่นก็คือการวางแผนและทำอย่างสม่ำเสมอ แม้จะช้า แต่ถ้าเตรียมตัวให้ดี คุณมีโอกาสที่จะชนะในเกมนี้ได้

ดร.นิเวศน์เล่าถึงช่วงเวลาที่เขารู้สึกภูมิใจมากครั้งหนึ่งตอนที่อยู่มหาวิทยาลัย ด้วยความที่เขาเป็นคนพูดไม่เก่ง แม้จะพยายามฝึกพูดก็ยังไม่เชี่ยวชาญเท่ากับเพื่อนสนิทอย่าง ดร.ไพบูลย์ เสรีวิวัฒนา (นักลงทุนเน้นคุณค่าอีกท่านหนึ่งที่รู้จักกันมาตั้งแต่มหาวิทยาลัยและยังคงเป็นเพื่อนสนิทกันจนถึงตอนนี้) แต่ได้เป็นตัวแทนกล่าวสุนทรพจน์ ‘รับน้องใหม่’ ของจุฬาฯ ที่จัดขึ้นปีละครั้ง ซึ่งเป็นการคัดเลือกโดยชมรมโต้วาที

ซึ่งในปีนั้นมีความพิเศษอีกอย่างคือ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นนิสิตใหม่ด้วย เขาเล่าว่าคนเลยไปสมัครกันเยอะมากในปีนั้น เพราะทุกคนอยากขึ้นไปกล่าว แต่เขาก็ได้รับคัดเลือกให้เป็นคนขึ้นไปพูด

“ผมชนะเลิศทั้งที่พูดไม่เก่งเลย แต่ผมท่องไป ผมชนะคนที่พูดเก่ง ๆ รวมถึงชนะอาจารย์ไพบูลย์ด้วย”

แต่ ดร.นิเวศน์ก็ยอมรับครับว่าที่ชนะไม่ใช่เพราะความสามารถอะไร ไม่มีวาทศิลป์ที่เหนือกว่าคนอื่น แต่เพราะ ‘ท่องไป’ เตรียมตัวมาอย่างดีเลยเอาชนะคนที่พูดเก่ง ๆ อย่าง ดร.ไพบูลย์ ได้ด้วย เขาเล่าต่อว่าถ้าจู่ ๆ เรียกเขาขึ้นไปพูดเลยทำไม่ได้แน่นอน แต่การไปหาอาจารย์ที่คณะต่าง ๆ เพื่อถามความเห็น หาข้อมูล แล้วก็ฝึกอย่างหนัก สุดท้ายเลยได้เป็นตัวแทน

นี่กลายเป็นจุดสำคัญในชีวิตของ ดร.นิเวศน์ เช่นเดียวกัน มันทำให้เขาเห็นว่าชีวิตเราสามารถประสบความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ได้ยังไง

“ตรงนี้ทำให้ผมเกิดความคิดขึ้นมาว่า คุณไม่ต้องเก่งมากหรอก แต่ถ้าคุณเตรียมตัวให้ดี วางแผนให้ดี คุณชนะได้ คุณเปิดโอกาสให้ผมเมื่อไร ผมชนะคุณ”


ชนะแบบเต่า เชื่องช้าแต่มั่นคง

อันที่จริงแนวคิดนี้สะท้อนมายังการลงทุนของ ดร.นิเวศน์เช่นกัน ตอนที่เขาเริ่มลงทุนในหุ้น เขาถูกปลดออกจากงานเนื่องจากวิกฤติต้มยำกุ้ง มีเงินก้อนหนึ่งสิบล้านหลังจากทำงานมาหลายปีและเก็บออมมาเรื่อย ๆ (แนวทางการใช้ชีวิตของ ดร.นิเวศน์ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เขามีเงินก้อนเก็บเยอะขนาดนั้น) ตอนนั้นเขาต้องชั่งน้ำหนักว่าจะทำยังไงต่อดี เพราะลูกสาวก็ยังเด็ก ส่วนตัวเขาก็เข้าวัยสี่สิบสี่ปีแล้ว

เขาลองหาวิธีที่จะทำให้เงินก้อนนี้งอกเงย จะซื้อที่ดินปลูกคอนโดฯให้คนอื่นเช่าก็กลัวเจ๊ง จะทำธุรกิจเองก็กลัวจะไม่รอด ทางเดียวที่เขารู้สึกว่าเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดตอนนั้นก็คือหุ้น หุ้นที่มั่นคง ให้ปันผล อย่างน้อย ๆ ก็ได้เงินไปเป็นค่าเทอมลูกและเหลือเก็บนิดหน่อยก็โอเคแล้ว แต่จะไม่ซื้อมาขายไป จะลงทุนแบบเน้นคุณค่า (Value Investing) แบบที่เคยศึกษามาตอนไปเรียนปริญญาเอกที่อเมริกา เลือกซื้อหุ้นไทยที่ดี ๆ ราคาถูกเก็บเอาไว้แค่นั้น

แต่กว่าที่เงินของ ดร. นิเวศน์ จะงอกเงยจนร่ำรวยนั้นใช้เวลาหลายปี หลังจากได้ปันผลเขาก็เอากลับไปลงทุนเรื่อย ๆ ไม่ได้เอาออกมาใช้ เพราะเข้าใจเรื่องดอกเบี้ยทบต้นว่ามันจะแสดงผลก็ต่อเมื่อมีระยะเวลาที่นานพอแล้ว (ซึ่งที่จริงตอนที่ ดร.นิเวศน์ เข้าซื้อหุ้นไทยคือที่ 800 กว่าจุด ร่วงจาก 1700 กว่าจุด และหลังจากที่ซื้อมันก็ยังร่วงลงไปต่อต่ำสุดที่ 200 กว่าจุดเลย คนมักเข้าใจว่าเขาซื้อช่วงต่ำสุด แต่ที่จริงแล้วไม่ใช่)

เพราะฉะนั้นความสำเร็จของการลงทุนอันยิ่งใหญ่นี้ก็มาจากการวางแผนเช่นเดียวกัน เติบโตอย่างช้า ๆ ชนะแบบเต่า แต่มั่นคงอย่างแท้จริง

หนังสือเล่มนี้เป็นเล่มหนึ่งที่สำหรับผมเองในฐานะผู้อ่านที่ติดตามงานของ ดร.นิเวศน์ มาได้สักพักและเป็นนักลงทุนแนว VI เฉกเช่นเดียวกันรู้สึกว่า ‘ครบรส’ ไม่หนักไปทางประวัติชีวิตดราม่าจนเกินไป ไม่เอียงไปทางแนวคิดการเมือง และ ไม่ใช่หนังสือแนะแนวการลงทุน เป็นหนังสือที่ช่วยทำให้เห็นภาพเต็มของ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ว่าเป็นไปเป็นมายังไง และปรัชญาการใช้ชีวิต ความสำเร็จ แนวคิดของเขามาจากไหน

อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วจะเห็นว่าชีวิตดั่งเทพนิยายของเขา จากเด็กสลัมสู่นักลงทุนพันล้านที่เขาเป็นในวันนี้มีรากหยั่งลึกมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ความสมถะ เรียบง่าย การทำงานหนัก เลือกเล่นเกมชีวิตที่ตัวเองมีโอกาสชนะ แพ้ให้น้อย วางแผน และลงมือทำ ค่อยเป็นค่อยไป ไม่ต้องรีบรวย แต่มีเป้าหมายที่ชัดเจน

เหมือนที่เขากล่าวไว้ในหนังสือว่า

“ชีวิตผมดีขึ้น ซึ่งรวมถึงความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นเกือบทุกปี เป็นเวลาเกือบ 70 ปีแล้ว และแม้ว่าการดีขึ้นในแต่ละปีนั้นมักจะเกิดขึ้นทีละน้อย แต่มันก็ทบต้นมาตลอด”