ตลาดปี 65 ที่ผ่านมาเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากของบริษัทมากมาย อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น การขึ้นดอกเบี้ยของรัฐบาลกลางของสหรัฐฯและประเทศไทย ยังมีเรื่องสงครามรัสเซีย-ยูเครน และการปิดเมืองแบบ zero-covid ของประเทศจีนอีก จึงไม่แปลกใจที่ตลาดหุ้นส่วนใหญ่นั้นจะร่วงและทำผลงานได้ไม่ดีมากนัก

ในบ้านเราเองก็ได้รับผลกระทบไม่น้อย แม้ว่าตลาดหุ้นทั้งปีจะถือว่าเพิ่มขึ้น แต่ก็เป็นการเพิ่มแบบเล็กน้อยเท่านั้น (0.66%) เพราะฉะนั้นจะเรียกว่าย่ำอยู่กับที่ก็คงไม่ผิดนัก แต่สำหรับบางธุรกิจอย่างขนส่งและ e-Commerce ดูเหมือนว่าจะได้รับผลกระทบที่ค่อนไปทางลบซะเป็นส่วนใหญ่

วันที่ 14 กุมภาพันธ์ KEX หรือ บริษัท เคอรี่เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ได้มีการเปิดเผยตัวเลขผลการดำเนินการของปี 2565 ที่ผ่านมาไม่ค่อยสดใสสักเท่าไหร่ ขาดทุนไปกว่า 2,829.8 บาท คิดเป็นการลดลงกว่า 6,114.6% ของกำไรต่อหุ้น (จาก 0.027บาท/หุ้น เป็น -1.624บาท/หุ้น) และมีเงินสดและเงินลงทุนในสินทรัพย์สภาพคล่องรวมทั้งสิ้น 2,963.1 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2565 ลดลง 59.4% จาก สิ้นปี 2564 อีกด้วย

สาเหตุและประเด็นสำคัญที่เกิดขึ้น

  • ความขัดแย้งของรัสเซีย-ยูเครน การเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ จนนำมาสู่การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางในประเทศต่าง ๆ รวมถึงไทยด้วย รวมไปถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนเกือบทั้งปีจากนโยบาย Zero-Covid สิ่งเหล่านี้แปลงมาเป็นต้นทุนของการดำเนินงานของบริษัท โดยเฉพาะค่าน้ำมันที่สูงขึ้นและกำลังซื้อลดลงไปด้วย
  • สถานการณ์รอบ ๆ ที่ดูไม่ค่อยดี ส่งผลให้ตลาด e-Commerce เริ่มมีการชะลอตัว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่ามูลค่าตลาด B2C e-Commerce ปี 2565-2566 จะเติบโตชะลอลง หลังจากเติบโตแบบก้าวกระโดดในช่วงแรก ๆ ของโควิด-19 ตรงนี้ก็ส่งผลกระทบโดยตรงกับธุรกิจจัดส่งพัสดุอย่างไม่ต้องสงสัย
  • เมื่อมีการเปิดประเทศมากขึ้น คนก็กลับไปซื้อของแบบ Offline มากขึ้นด้วย ยิ่งทำให้การขนส่งพัสดุน้อยลงไป
  • การแข่งขันในตลาดที่ดุเดือด จำนวนผู้เล่นในตลาดที่สู้กันด้วยราคาอย่างรุนแรงต่อเนื่องเพื่อเพิ่มปริมาณพัสดุที่จัดส่งและส่วนแบ่งของตลาด
  • ข่าวดีเล็ก ๆ คือว่า แม้การแข่งขันจะสูงมาก แต่ทาง KEX ก็ยังสามารถเพิ่มจำนวนพัสดุที่จัดส่งได้ถึง 18% เทียบกับปีก่อน แต่การเติบโตดังกล่าวก็นำมาซึ่งต้นทุนที่สูงขึ้นเช่นกัน กลายเป็นรายได้ที่ลดลงจากการขายและการให้บริการจาก 18,817 ล้านบาท ในปี 2564 มาเป็น 17,003 ล้านบาทในปี 2565
  • เมื่อน้ำมันขึ้น พัสดุภัณฑ์ขึ้น ตลาดแรงงานที่ตึงตัว สิ่งเหล่านี้กลายเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นด้วย จาก 18,858.1 ล้านบาท ในปี 2564 มาเป็น 20,681.5 ล้านบาทในปี 2565 เพิ่มขึ้นกว่า 9.7%
  • โดยรวมแล้ว รายได้จากการขายและการให้บริการลดลง ต้นทุนสูงขึ้น ค่าใช้จ่ายในการขายและการบริหารสูงขึ้น จนสุดท้ายทั้งปี 2565 ขาดทุน 2,829.8 ล้านบาท กำไรต่อหุ้นลดลงกว่า 6,114.6%

แผนดำเนินการต่อจากนี้

  • ในปี 2566 ทาง KEX กล่าวว่าจะเริ่มวางแผนปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน กระบวนการและอุปกรณ์ต่าง ๆ โดยจะพึ่งพาแรงงานคนให้น้อยลง และที่สำคัญคือการปรับปรุงคุณภาพของการให้บริการซึ่งตรงนี้จะช่วยรักษาส่วนแบ่งของตลาดเอาไว้ด้วย
  • ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 65 เริ่มมีการปรับลดค่าใช้จ่ายมากขึ้น ลดค่าใช้จ่ายส่วนเกิน ปรับโครงสร้างของพนักงานในองค์กร ปิดสาขา จุดให้บริการ และศูนย์กระจายพัสดุที่มีต้นทุนสูงและประสิทธิภาพต่ำ สุดท้ายคือปรับปรุงกระบวนการดำเนินงานด้วย (ซึ่งตรงนี้ก็กลายเป็นค่าใช้จ่ายกว่า 384.2 ล้านบาทสำหรับค่าชดเชยพนักงานที่ปิดสาขาและศูนย์บริการต่าง ๆ ด้วย)
  • โครงการไหนที่ยังไม่สามารถทำกำไรหรือสร้างผลประโยชน์ในระยะสั้นได้จะถูกชะลอเอาไว้ก่อนเพื่อกลับมาโฟกัสกับการสร้างผลกำไรอีกครั้งในปี 2566
  • นอกจากนั้นแล้วยังจะมีการปรับปรุงระบบอัตโนมัติที่มีประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และการพึ่งพาการใช้แรงงานคน ที่สำคัญคือพยายามรักษาส่วนแบ่งของตลาดโดยการปรับปรุงคุณภาพในการให้บริการที่ดีด้วย

สำหรับ KEX แล้วการแข่งขันยังคงเข้มข้น ตลาดที่เริ่มเปลี่ยนแปลงจะกลายเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ การปรับตัวโดยนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อลดต้นทุนการทำงานจะเป็นกุญแจสำคัญในการพลิกฟื้นธุรกิจให้กลับมากำไรในปีนี้ด้วย แน่นอนอย่าลืมว่าคู่แข่งเจ้าอื่น ๆ ในตลาดก็ยังคงพัฒนาในด้านอื่น ๆ (อย่างเราเห็น Flash ทำ F-Commerce ที่ให้อินฟลูเอนเซอร์/KOL มาไลฟ์สดขายของ) เพราะฉะนั้นจะหวังว่าลดต้นทุนเพื่อให้กำไรอย่างเดียวไม่ได้ ต้องพยายามขยายไปยังตลาดใหม่ ๆ เพื่อหารายได้ที่มาเพิ่มเติมในส่วนที่ลดลงไปพร้อมกันด้วย

https://weblink.set.or.th/dat/news/202302/23014989.pdf

https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-social-media/Pages/B2C-FB-02-12-2022.aspx