จากสถานการณ์เศรษฐกิจไม่สู้ดีในตอนนี้จาก "วิกฤตโควิด-19" อีกทั้งธนาคารแห่งประเทศไทยได้คาดการณ์ว่า GDP ประเทศใน 63 มีโอกาสติดลบสูงถึง -5.3% ทำให้หลายคนนึกหวนไปถึงวิกฤตเศรษฐกิจของไทยปี 40 หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อของ “วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง” และกลัวว่ามันจะเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยเดิม วันนี้ บ.ก.aomMONEY เลยขอหยิบประเด็นนี้มาพูดคุยกันครับ

ย้อนรอยวิกฤตต้มยำกุ้งปี 40 ตอนนั้นเกิดอะไรขึ้น?

บ.ก.ขอเล่าเป็น Timeline ให้เข้าใจง่ายๆ แบบนี้นะครับ

  1. ตอนนั้นค่าเงินของญี่ปุ่นแข็ง ทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิตมาที่ประเทศไทย เนื่องจากมีต้นทุนที่ถูกกว่าทั้งค่าเงิน ค่าจ้างแรงงาน ทำให้ไทยเป็นฐานการผลิตใหม่ และเศรษฐกิจเกิดการเติบโตอย่างรวดเร็ว
  2. พอประเทศเราร่ำรวยขึ้น รัฐบาลก็เล็งเห็นโอกาสที่อยากให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการเงินของภูมิภาค จึงมีนโยบายเปิด “เสรีทางการเงิน” ให้ธนาคารพาณิชย์เปิดบริการ “วิเทศธนกิจ” หรือ BIBF ในการกู้เงินจากต่างประเทศมาปล่อยกู้ในประเทศ เพราะการกู้ต่างประเทศตอนนั้นดอกเบี้ยถูกกว่า ทำให้เราเข้าถึงเงินทุนจากต่างประเทศได้ง่ายขึ้น
  3. ตอนนั้นไทยก็มีอัตราแรกเปลี่ยนเป็นแบบคงที่จากนโยบาย “ตรึงอัตราแลกเปลี่ยน” เพราะพอเศรษฐกิจไทยดีทำให้ค่าเงินเราแข็ง การส่งสินค้าออกก็อาจเกิดการชะลอตัว ดังนั้นจึงมีการตรึงอัตราแลกเปลี่ยนไว้ที่ 25 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ แต่การจะรักษาอัตราแลกเปลี่ยนให้คงที่ มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยน่ะสิครับ เพราะถ้าเงินไทยแข็งค่าขึ้น จาก 25 บาทแลกได้ 1 ดอลลาร์ เป็น 20 บาทแลกได้ 1 ดอลลาร์ ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ต้องเอาเงินมาอุดในส่วนต่างครับ ในทางกลับกันถ้าเงินดอลลาร์แข็งค่าธนาคารแห่งประเทศไทยก็ต้องเอาเงินไปอุดเช่นกัน
  4. และด้วยความที่ในตอนนั้น เรากู้เงินกันง่ายมาก แถมการกู้เงินจากต่างประเทศก็ดอกเบี้ยถูก ทำให้คนแห่กันกู้เงินจากต่างประเทศ เอามาทำธุรกิจ เอาไปเก็งกำไร เช่น กู้เงินมาเล่นหุ้น กู้เงินมาซื้ออสังหาฯ อย่างบ้าน คอนโด เพื่อขายต่อเก็งกำไร ทำให้ราคาพุ่งสูงเกินกว่ามูลค่าจริง และภาวะที่สินค้ามีราคาแพงกว่าความเป็นจริงนี่แหละครับ ทำให้ประเทศเราเข้าสู่ “ภาวะฟองสบู่” 
  5. ต่อมาพี่จีนได้ทำการลดค่าเงินลง ทำให้ส่งออกสินค้าที่เหมือนกับเรา แต่ดันได้ในราคาที่ถูกกว่า จนไทยส่งออกได้น้อยลง ตลาดอสังหาฯ ก็เริ่มชะลอตัว โครงการใหม่เริ่มขายไม่ออก ความเชื่อมั่นในประเทศเราก็ลดลง เพราะเจ้าหนี้ไม่มั่นใจว่าประเทศเราจะมีเงินคืนเขามั้ย นักลงทุนต่างชาติจึงเริ่มถอนเงินลงทุนออก ทำให้เงินค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น 
  6. ธนาคารแห่งประเทศไทยเราก็สู้ครับ พยายามเอาเงินสำรองที่มีไปอุด จนอุดต่อไม่ไหว ซึ่งเงินสำรองในตอนนั้นจาก 40,000 ล้านดอลลาร์ ใช้อุดจนเหลือแค่ 2,500 ล้านดอลลาร์อ่ะครับ 
  7. พล.อ.ชวลิต นายกรัฐมนตรี ณ ขณะนั้นจึงทำการยกเลิกการตรึงอัตราแลกเปลี่ยน “ลอยตัวค่าเงินบาท” หลังจากลอยค่าเงินบาทให้เป็นราคาตามจริง ก็กลายเป็นแบบนี้ครับ จากเดิมอัตราแลกเปลี่ยน คือ  25 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์ กลายเป็น 56 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์ เท่ากับว่า คนที่กู้เงินมาจากต่างประเทศมาลงทุนอสังหาฯ มาเล่นหุ้นต่างๆ นานา มีหนี้เพื่มขึ้นเป็น 2 เท่า ทำให้ตอนนั้นเกิดหนี้เสีย หรือ NPL พุ่งสูงถึง 47% เลยล่ะครับ 
  8. ด้วยเหตุนี้จึงเกิดผลกระทบต่อๆ กันไปยังธุรกิจต่างๆ ครับ ธุรกิจอสังหาบ้าน คอนโด ที่เคยราคาสูงขึ้นมาก ๆ ก็เกิดฟองสบู่แตกขายไม่ได้ นักลงทุนเองก็เจ๊ง ธุรกิจก็ต้องเลิกกิจการ คนงานก็ถูกเลิกจ้าง สถาบันการเงินต้องปิดตัวลงหลายแห่งเพราะลูกหนี้ไม่มีเงินคืน เป็นที่มาของคำว่า "เศรษฐกิจพังในช่วงนั้น" เรียกได้ว่ารสชาติเผ็ดร้อนสมกับชื่อ “ต้มยำกุ้ง” และคงไม่มีใครอยากให้มันเกิดขึ้นอีก

แล้ว "วิกฤตโควิด-19" จะทำเศรษฐกิจพังซ้ำรอยปี 40 มั้ย?

สำหรับคำถามนี้ บ.ก.ได้ไปพูดคุยกับกูรูออมมันนี่ทั้งสองท่านอย่างพี่ปิ่น เจ้าของเพจ เรื่องเงิน เข้าใจง่าย by ดร.ปิ่น กูรูคนสวย และ ปั้นเงิน นายปั้นเงิน กูรูเพื่อนซี้สุดหล่อของ บ.ก. และขอสรุปให้เพื่อนๆ อ่านกันตามนี้ครับ

นายปั้นเงิน : ผมมองว่ามันคนละกรณีนะ เป็นวิกฤตคนละแบบ วิกฤตต้มยำกุ้งปี 40 มีเหตุการณ์ฟองสบู่แตกผสมอยู่ด้วย ความเสียหายเป็นวงกว้าง แต่ปีนี้มันพังแบบซบเซา ล้มกันหมด วิกฤตต้มยำกุ้งปี 40 เหมือนฟ้าผ่าคนมีเงิน กลุ่มนายทุน ทำให้ครั้งนั้นเสียหายหนัก ส่วนปีนี้เศรษฐกิจซบเซาอยู่แล้ว GDP ประเทศก็ไม่ได้โตอะไรมากมาย สำหรับผมมองว่า ปี 40 เหมือนฟ้าผ่า แต่ปีนี้คือเศรษฐกิจต้มกบครับ

ดร.ปิ่น : ขออธิบายเพิ่มแบบนี้แล้วกันค่ะ ตอนวิกฤตต้มยำกุ้งปี 40 ธุรกิจในเมืองล่ม เพราะเรากู้เงินกันมากเกินไป แต่ตอนนั้นเรามีภาคการเกษตรเป็นตัวหนุน คนตกงานจาก กทม. ยังสามารถกลับไปทำงานที่ชนบทได้

แต่ในตอนนี้แตกต่างกัน เพราะก่อนที่เชื้อโควิด-19 จะแพร่ระบาดไปทั่วแบบนี้ GDP ของประเทศไทยเองก็ไม่ได้โตมาก อย่างปี 62 ที่ผ่านมา GDP ประเทศเราโตแค่ 2.4% ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดในรอบ 5 ปีเลย สาเหตุสำคัญเป็นเพราะประเทศเราพึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยวมากเกินไป พอการค้าโลกชะลอตัวลง แถมเงินบาทยังแข็งค่าในช่วงปีที่แล้วอีก การส่งออกของประเทศเราก็เลยลำบากค่ะ ที่สำคัญ คือ ครั้งนี้ภาคเกษตรไม่สามารถเป็นตัวหนุนได้เหมือนครั้งที่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้งปี 40 เพราะในปีนี้เกษตรกรก็กำลังเจอปัญหาภัยแล้งที่แย่ที่สุดในรอบ 40 ปี

คราวนี้เมื่อเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 อีก ธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวจึงได้รับผลกระทบ พอเชื้อลุกลามมากขึ้น ก็ส่งผลให้ร้านต่างๆ ต้องปิดหรือหยุดให้บริการ การผลิตและกิจกรรมต่างๆ ต้องหยุดชะงัก

ความแตกต่างของทั้งสองวิกฤตอีกข้อ คือ โควิด-19 ครั้งนี้เป็นวิกฤตโลก เศรษฐกิจทั่วโลกมีปัญหา เพราะเชื้อโควิด-19 ระบาดไปทั่ว โดยเฉพาะในฝั่งอเมริกาและฝั่งยุโรป การค้าและการผลิตโลกก็พลอยหยุดชะงักไปด้วย แต่สิ่งที่แย่กว่าตอนวิกฤตต้มยำกุ้งปี 40 คือ ตอนนี้คนรายได้น้อยกำลังได้รับผลกระทบมากที่สุด ไหนจะเรื่องการขาดรายได้ ไหนจะต้องเรื่องระวังสุขภาพของตัวเอง หน้ากากอนามัยก็หายาก แม้แต่ไข่ไก่ก็ยังแพง

ถ้าจะให้สรุปความแตกต่างให้เข้าใจง่ายๆ วิกฤตต้มยำกุ้งปี 40 เป็นเหมือนฟ้าผ่า แต่ตอนนี้เศรษฐกิจบ้านเราเป็นเหมือนการต้มกบ มีโควิด-19 เป็นตัวเร่งไฟ กว่าจะรู้ตัวอีกที กบก็สุกตายคาหม้อ  แต่สิ่งที่น่ากังวลกว่านั้น คือ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตต้มยำกุ้งปี 40 หรือวิกฤตโควิด-19 กลุ่มคนทำงานและกลุ่มแรงงาน ก็คือ กลุ่มคนที่ลำบากที่สุด และปัญหาที่จะตามมาหลังโควิด-19 จบก็คือ คนจะผิดนัดชำระหนี้กันมหาศาล เพราะไม่รู้จะหาเงินที่ไหนมาจ่ายทั้งต้นทั้งดอก อย่างที่ประเทศจีนกำลังเจอปัญหาอยู่ในตอนนี้

แล้วเราจะผ่านช่วงนี้ไปได้อย่างไรล่ะ?

บ.ก.ว่าคงไม่มีใครตอบได้หรอกครับว่า "วิกฤตโควิด-19" จะอยู่กับเราไปนานเท่าไหร่ และต้องใช้เวลาอีกนานแค่ไหนในการฟื้นตัว แต่สิ่งที่ aomMONEY อยากจะแนะนำในช่วงนี้เลยก็คือ  3 เรื่องนี้ครับ

1. ควบคุมค่าใช้จ่าย

ไม่ว่าวันนี้เราจะมีงานทำอยู่ ถูกลดเงินเดือน หรือตกงาน แนะนำว่าให้ลดค่าใช้จ่ายลงและวางแผนการเงินสำหรับช่วงนี้ใหม่ครับ ตัดรายจ่ายไม่จำเป็น และอาจจะหางานเสริมที่ทำได้ในช่วงนี้ บ.ก.เคยเขียนบทความแนะนำงานเสริมที่ทำได้ในช่วงโควิด-19 ในบทความนี้ครับ ลองอ่านดูได้ https://bit.ly/2Jrnc7v

2. เช็คสิทธิ์มาตราการช่วยเหลือของภาครัฐ

อย่างการพักชำระหนี้ ค่าน้ำ ค่าไฟ ประกัน หรือถ้าตกงานก็สามารถรับเงินชดเชยจากประกันสังคมได้ ใช้สิทธิให้ครบครับ มันเป็นสิทธิของเรา

3. รักษาสุขภาพทั้งกายและใจของเราไว้ให้ดี

นาทีนี้คงไม่มีอะไรสำคัญมากว่าสุขภาพ เพราะถ้าป่วยในช่วงนี้นอกจากเรื่องค่ารักษาที่ต้องจ่าย ยังมีเรื่องของการขาดรายได้หรือโอกาสอีกด้วย เพราะฉะนั้นดูแลตัวเองให้ดีครับ เชื่อรัฐเถอะครับกับการ Social Distancing

สุดท้ายไม่ว่าวิกฤตครั้งนี้จะอยู่กับเราอีกนานแค่ไหน ขอให้ทุกคนมีสติ อย่ายอมแพ้ aomMONEY ขอเป็นกำลังใจให้กับพี่น้องชาวไทยทุกคนผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกันนะครับ

ขอบคุณครับ

บ.ก.aomMONEY


ขอบคุณกูรูทั้งสองท่าน


ติดตามความรู้เรื่องการเงินการลงทุนจาก aomMONEY

Website : www.aomMONEY.com

? Youtube : https://www.youtube.com/AommoneyTH

? กลุ่มกองทุนไหนดี : https://www.facebook.com/groups/SelectedFund/


ขอบคุณข้อมูลจาก

http://www.fleth.co.th/th/news-and-promotions-th/article-main-th/544-544https://www.moneybuffalo.in.th/%E0%B8%98%E0%B8%B8%E0%B8%A3%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%88%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%A8%E0%B8%A3%E0%B8%A9%E0%B8%90%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%88/gdp-%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%A5%E0%B8%9A%E0%B9%80%E0%B8%A8%E0%B8%A3%E0%B8%A9%E0%B8%90%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%88%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%95%E0%B8%81%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%B3

https://www.prachachat.net/finance/news-426856