อย่างที่ทราบกันดีว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลกระทบต่อมนุษย์เงินเดือนอย่างเรา ๆ โดยเฉพาะผู้มีเครดิตและแอบยืมเงินในอนาคตอย่าง “บัตรเครดิต” มาหมุนใช้ก่อน ทำให้การใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในแต่ละเดือนพุ่งสูงขึ้น สวนทางกับรายรับ

และเมื่อถึงกำหนดชำระ เมื่อเงินสดไม่เพียงพอ บางคนก็ต้องใช้วิธีรักษาเครดิตและสภาพคล่องของตัวเอง ด้วยวิธีการ “จ่ายขั้นต่ำ” ไปก่อน…

ทาง aomMONEY ต้องขอบอกก่อนนะครับ การจ่ายขั้นต่ำเป็นวิธีที่เราไม่แนะนำ ถ้าเป็นไปได้อยากให้มีวินัยจ่ายเต็มจำนวนและตรงเวลาเสมอ เว้นแต่ว่าจะไม่มีสภาพคล่องแล้วจริงๆ และต้องการรักษาเครดิต เราอยากให้ “การจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิต”เป็นทางเลือกสุดท้ายครับ

แม้ในความจริงแล้ว “การจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิต” ไม่ใช่เรื่องผิดแปลกอะไร แต่เราก็ต้องแบกรับภาระรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น นั่นก็คือ “ดอกเบี้ย” และสำหรับเพื่อนๆ ที่ยังไม่รู้ว่าถ้าเราจ่ายขั้นต่ำแล้ว จะต้องคำนวณดอกเบี้ยแบบไหน อย่างไร

วันนี้ aomMONEY ได้หาวิธีคำนวณอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตเมื่อจ่ายขั้นต่ำมาฝากผู้อ่านทุกคนแล้วครับ ส่วนรายละเอียดจะเป็นอย่างไรไปติดตามกันครับ

จ่ายขั้นต่ำอัตราดอกเบี้ยที่ 18% ต่อปี การคิดดอกเบี้ยจะถูกคิดเป็น 2 ส่วน คือ

  1. ดอกเบี้ยที่ใช้จ่าย
  2. ดอกเบี้ยที่ค้างชำระ

ยกตัวอย่าง

หากคุณรูดซื้อของในวันที่ 5 เมษายน ด้วยจำนวน 18,000 บาท โดยมีรอบปิดยอดการใช้จ่ายทุกวันที่ 25 ของเดือน พอถึงวันที่ 9 พฤษภาคม เราตัดสินใจจ่ายแค่ขั้นต่ำ 10% เป็นจำนวน 1,800 บาท = เงินต้นจะเหลือ 16,200 บาท

  • ในรอบแรกของบิล “ดอกเบี้ย” ยังไม่ถูกคิด
  • แต่ในรอบเดือนปิดยอดการใช้จ่ายในเดือนต่อไป คือ รอบบิล 25 พฤษภาคม
  • คุณจะโดนคิด “ดอกเบี้ย” ตามนี้ครับ

1. ดอกเบี้ยส่วนแรก คือ ดอกเบี้ยที่ใช้จ่าย

โดยคิดจากวงเงินที่รูดคือ 18,000 บาท นับจำนวนวันในงวด ด้วยอัตราดอกเบี้ยสูงสุดไม่เกิน 18% ผลที่ออกมา คือ 

จากสูตร : ดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย = เงินต้นคงเหลือ X อัตราดอกเบี้ยต่อปี X จำนวนวันในงวด / จำนวนวัน 1 ปี

ดอกเบี้ยที่ใช้จ่าย = 18,000 บาท X ดอกเบี้ย 18% X 15วัน / 365 วัน = 133.15 บาท

2. ดอกเบี้ยส่วนที่สอง คือ ดอกเบี้ยที่ค้างชำระ

ดอกเบี้ยค้างชำระ คิดจากเงินต้นคงเหลือที่จ่ายขั้นต่ำไป คือ 16,200 บาท โดยคิดจากวันที่เราชำระไปคือ 9 พฤษภาคม ถึงวันปิดยอดในรอบล่าสุดคือ 25 พฤษภาคม รวม 17 วัน โดยระหว่างวันดังกล่าวไม่มีการใช้จ่ายเพิ่ม และคิดกับดอกเบี้ยสูงสุดไม่เกิน 20% ออกมาเป็นสูตรดังนี้ 

สูตร : ดอกเบี้ยค้างชำระ = เงินต้นคงเหลือที่จ่ายขั้นต่ำไป X ดอกเบี้ย 18% x (จำนวนวันที่ชำระ-วันปิดยอดในรอบล่าสุด)/ 365 วัน

ดอกเบี้ยที่ค้างชำระ = 16,200 บาท X ดอกเบี้ย 18% X 17 วัน / 365 วัน = 135.81 บาท

สรุป

จากตัวอย่างที่ aomMONEY ยกมา จะเห็นได้ว่า จำนวนดอกเบี้ยที่เราต้องจ่าย มี 2 ส่วน คือ

1. ดอกเบี้ยที่ใช้จ่าย 133.15 บาท

2. ดอกเบี้ยที่ค้างชำระ 135.81 บาท

บวกกับเงินต้นที่ค้างอยู่ 16,200 บาท

หลังจากที่เราจ่ายขั้นต่ำครั้งแรกในเดือนเมษา รอบบิลเดือนพฤษภาคมต่อมา ยอดที่เราจะต้องชำระ คือ 16,468.96 บาท โดยจำนวนหนี้จะพอกพูนขึ้น หากเรายังทยอยจ่ายขั้นต่ำต่อเดือนไปเรื่อยๆ เพราะเงินต้นไม่ลดลง และท้ายที่สุดหากไม่รีบปิดหนี้เต็มจำนวน ในที่สุดอาจบานปลายไป จนเป็น “หนี้เสีย”

คำแนะนำจาก aomMONEY

การจ่ายเงินขั้นต่ำไปเรื่อยๆ จะเป็นการจ่ายดอกเบี้ยไปเรื่อยๆ จนทำให้เงินต้นไม่หมดสักที ฉะนั้นข้อคิดที่เราควรจัดการทาง aomMONEY ขอเสนอไว้ 3 ประเด็น ดังนี้

  1. คิดก่อนรูด ใช้อย่างระมัดระมัง เพราะถ้าจ่ายไม่ไหวจะโดนดอกเบี้ยที่สูง
  2. เวลาใช้บัตรเครดิตทุกครั้ง หักเงินเก็บไว้ในเลยทุกครั้ง (ในบัญชีออมทรัพย์ก็ได้)
  3. จ่ายเต็มจำนวนและตรงเวลาทุกรอบบิล หลีกเลี่ยงการเจอดอกเบี้ยระยะยาว
  4. วางแผนการชำระให้ดี หากวิกฤตจริงๆ จ่ายขั้นต่ำได้ เพราะเป็นการรักษาเครดิต แต่ควรรีบปิดหนี้ ไม่ทยอยจ่ายขั้นต่ำไปเรื่อยๆ หรือกดเงินออกมาใช้เพิ่ม

สุดท้าย aomMONEY อยากบอกว่าบัตรเครดิตเป็นสิ่งที่อำนวยความสะดวกและเพิ่มความคุ้มค่าในการใช้จ่ายให้กับเราได้ หากเราเลือกใช้และวางแผนการใช้อย่างรัดกุมและรอบคอบ ส่วนคราวหน้าจะนำบทความด้านการเงินเรื่องใดมาแชร์กัน รอติดตามเราด้วยนะครับ :)

ขอบคุณครับ

บ.ก.aomMONEY

ติดตามความรู้เรื่องการเงินการลงทุนจาก aomMONEY

Website : www.aomMONEY.com

Youtube : https://www.youtube.com/AommoneyTH

กลุ่มกองทุนไหนดี : https://www.facebook.com/groups/SelectedFund/