เรื่องของ "การบินไทย" มีการพูดถึงบ่อยครั้งตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากผลประกอบการติดลบหรือขาดทุนเป็นจำนวนมาก ที่สำคัญเมื่อต้องมาเผชิญกับสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ก็เหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัดครั้งใหญ่ เพราะทุกธุรกิจการบินต้องจอดนิ่งอยู่บนลานจอด และเดิมการบินไทยก็เป็นธุรกิจที่มีปัญหาเรื่องขาดทุนอยู่แล้ว

เรื่องดังกล่าวจึงถูกหยิบมาพูดไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร 

โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า "การบินไทยล้มละลาย"

เพราะไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ที่คนไทยเพิ่งพูดคุยกัน แต่ไม่นานมานี้หรือประมาณเดือนเมษายนที่ผ่านมาคอลัมน์ข่าวจาก นิกเกอิของญี่ปุ่น รายงานว่า การบินไทยกำลังตกอยู่ในภาวะอันตรายจนใกล้จะกลายเป็น "สายการบินแห่งชาติที่ล้มละลายเป็นรายแรกของโลกในช่วงการระบาดของ COVID-19 

โดยรายงานจากบทความดังกล่าว ยังเปิดเผยถึงรายละเอียดด้วยความเข้มข้นที่ว่า "Down to its last 10 billion baht ($307 million), according to local reports, which is enough to pay its employees for one month" หรือ “การบินไทยเหลือเงินสดอยู่เพียง 1 หมื่นล้านบาท พอสำหรับจ่ายเงินเดือนพนักงานเพียงเดือนเดียว”

และไม่เพียงแต่สื่อดังกล่าว สื่อจากประเทศอื่นๆ ก็มองคล้ายกันว่า สายการบินรัฐวิสาหกิจของไทย ส่อเค้าเป็นหนึ่งในสายการบินที่จะหายสาบสูญจากอุตสาหกรรมการบินภายในปีนี้เร็วที่สุด

ฉะนั้นแล้วจากประเด็นดังกล่าว ในวันนี้ aomMONEY ก็จะขอหยิบยกประเด็นนี้มาสรุปเล่าให้เพื่อนๆ อ่านกันว่า สถานการณ์ของ “การบินไทย” ในขณะนี้เป็นอย่างไร จะได้ไปต่อ หรือ ถูกปล่อยให้ล้มละลาย ?

“การบินไทย” สายการบินภาพลักษณ์ของชาติกว่า 6 ทศวรรษ?

“การบินไทย” คือ รัฐวิสาหกิจที่มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เริ่มก่อตั้งในปี 2503 หรือ 6 ทศวรรษแล้วในการดำเนินธุรกิจ โดยในช่วง 10 ปีแรก มีเส้นทางบินครอบคลุมเมืองสำคัญในเอเชียทั้งหมด ไม่เพียงเท่านั้นในปี 2515 เที่ยวบินข้ามไปยุโรปเที่ยวแรก ในไฟลท์ กรุงเทพ-โคเปนเฮเกน

เหตุที่เป็นสายการบินแห่งชาตินั้น เพราะรัฐวิสาหกิจเป็นผู้ถือใหญ่ในที่นี้คือ กระทรวงการคลัง เหตุที่รัฐต้องถือหุ้นใหญ่ก็เพราะเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสาธารณูปโภคพื้นฐานของประเทศ ซึ่งหากปล่อยให้เอกชนเป็นเจ้าของอาจปรับราคาสูงทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงยาก แต่ในขณะนี้ก็ไม่ได้เข้าถึงง่ายแต่อย่างใด อีกนัยยะที่สำคัญคือ มีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมวัฒนธรรม และสังคม เช่นการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

“30 ปีของการดำเนินธุรกิจ” การบินไทยเคยทยานคว้าผลกำไรได้สูงถึง 6,753.6 ล้านบาท ถือเป็นหนึ่งในรัฐวิสาหกิจที่ทำกำไรมากที่สุดในประเทศ และเพื่อให้การบินไทยไปไกลกว่านั้น รัฐบาลในยุคนั้นจึงได้ แปรรูปบริษัท ด้วยการนำการบินไทยเข้าสู่ตลาดหุ้นให้กลายเป็นบริษัทมหาชน โดยจุดแข็งของการบินไทยในขณะนั้น คือ เป็นสายการบินชั้นนำของเอเชียที่สามารถส่งผู้โดยสารจากเมืองต่อเมืองโยงใยไปได้ทั่วโลก

ยุคคุณธรรมนูญ หวั่งหลี เป็น DD การบินไทยมีรายได้รวม 112,020 ล้านบาท

DD ที่เราได้ยินจนคุ้นหู คือ ตำแหน่งบิ๊กบอสหรือกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (DD) ของการบินไทย ซึ่งในยุคคุณธรรมนูญ หวั่งหลี เป็น DD การบินไทยมีรายได้รวม 112,020 ล้านบาท เป็นบริษัทที่มีผลประกอบการสูงที่สุด ในบริษัททั้งหมดที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ณ เวลานั้น ทำให้สิ่งที่ตามมา คือ สวัสดิการที่ดีเยี่ยมที่น่าถวิลหา

“การบินไทย...รักคุณเท่าฟ้า” แต่ไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้า คำนี้ห้ามลืม!

หลังจากปี 2542 เป็นต้นมา ดูเหมือนว่า การบินไทย ต้องพบเจอกับปัญหาทั้งในเชิงโครงสร้างภายในและการเติบโตของคู่แข่ง การตัดสินใจผิดพลาด อาทิ เปิดเส้นทางบินตรง กรุงเทพฯ – นิวยอร์ก สัปดาห์ละ 6 เที่ยวบิน แต่มีผู้โดยสารเฉลี่ยต่อไฟลท์ แค่ไม่ถึง 100 คน รวมทั้งปัญหาใหญ่ที่สุด คือ วิกฤติเศรษฐกิจโลก ซึ่งมาพร้อมกับ ราคาน้ำมันโลกที่ถีบสูงขึ้น ทุกอย่างทำให้การบินไทยเข้าสู่ภาวะขาดทุน

การบินไทยประสบปัญหาภาวะขาดทุนอย่างต่อเนื่อง

  • ปี 2556 ขาดทุน 12,047 ล้านบาท
  • ปี 2557 ขาดทุน 15,611 ล้านบาท
  • ปี 2558 ขาดทุน 13,067 ล้านบาท
  • ปี 2559 กำไร 15 ล้านบาท
  • ปี 2560 ขาดทุน 2,072 ล้านบาท
  • ปี 2561 ขาดทุน 11,605 ล้านบาท
  • ปี 2562 ขาดทุน 12,017 ล้านบาท

มุมมองปัญหาของการบินไทยจากมุมมองอดีต DD และทีมผู้บริหาร

คุณธรรมนูญ หวั่งหลี เผยว่า สิ่งที่ทำให้สายการบินไทยอยู่ได้ คือ การบินไทยมีเส้นสายภายใน แต่การบินไทยเคลื่อนตัวช้า โดยเฉพาะในทุกๆ การตัดสินใจ และสิ่งที่การบินไทยทำไม่ได้ คือ ลดคน

ด้านคุณบรรยง พงษ์พานิช อดีตที่ปรึกษา DD ของการบินไทย ออกมาแสดงทรรศนะว่า อีกหนึ่งปัญหาของการบินไทยคือ มีต้นทุนที่สูงเกินไป มากกว่าสายการบินอื่น เช่น การจัดซื้อเครื่องบิน, ต้นทุนการโฆษณา, ค่าใช้จ่ายพนักงาน ฯลฯ ซึ่งเมื่อมีต้นทุนสูง แต่ไม่มีความสามารถในการลดต้นทุนให้ต่ำลงได้ ทำให้การบินไทยแก้ปัญหาด้วยการตั้งราคาขายสูงมากกว่าที่อื่น ซึ่งนั่นทำให้เจอปัญหาทันที

ขณะที่คุณกนก อภิรดี อดีต DD ของการบินไทย วิจารณ์ว่า “บางตำแหน่งระดับสูง แต่มี Job Value (คุณค่าในเนื้องาน) ต่ำ และทั้งๆ ที่ Job Value บางคนอาจมีคุณค่ามากกว่า แต่ค่าตอบแทนที่ได้รับ เป็นตามกระบอกเงินเดือนของตำแหน่งนั้นๆ”

โดยความเห็นดังกล่าวสะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างภายในได้เป็นอย่างดีในเรื่องของ “คน” คือการมีตำแหน่งของพนักงานในองค์กรที่ทับซ้อนกันมากจนเกินไป ในขณะที่พนักงานระดับปฏิบัติการมีปริมาณไม่ได้เพิ่มขึ้นจากเดิม แต่พนักงานในระดับบริหารนั้นมีจำนวนมากขึ้น ซึ่งมีหลายครั้งที่ฝั่งบอร์ดบริหาร พยายามจะลดค่าใช้จ่ายในส่วนของพนักงาน เพื่อลดต้นทุน แต่ก็มีปัญหากับกลุ่มสหภาพแรงงานของการบินไทย

สรุปปัญหาการบินไทย

ประเด็นการบินไทยที่เป็นปัญหา aomMONEY มองว่ามาจากการแข่งขันที่สูงมากในอุตสาหกรรมการบินซึ่งการบินไทยสู้รายอื่นไม่ได้ โดยมี 2 ปัจจัยที่สำคัญ คือ

1. การเป็นรัฐวิสาหกิจทำให้การทำงานไม่คล่องตัวเหมือนสายการบินเอกชน

2. พนักงานที่มีมากเกินไป ซึ่งในขณะนี้มีกว่า 2 หมื่นคน ทำให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายที่สูง

ด้าน บล.เอเซีย พลัส วิเคราะห์ว่าปัญหาหลัก ๆ ของการบินไทยมาจากต้นทุนที่สูงเกินไป ซึ่งปัจจุบันแบ่งเป็นต้นทุนพลังงานประมาณ 30%, ต้นทุนพนักงาน 19%, ต้นทุนเครื่องบิน 18%, ต้นทุนค่าซ่อมและอะไหล่ 14% และต้นทุนงบโฆษณา 5%

แล้วทางออกของ “การบินไทย” คือ อะไรกัน?

คุณปริญทร์ กิจจาทรพิทักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.เคจีไอ จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นว่า  "ขาย" หุ้นการบินไทย จนกว่าจะเห็นความชัดเจนเรื่องแผนฟื้นฟู ไปจนถึงความชัดเจนเรื่อง การปฏิบัติตามแผน แล้วถ้าขายหุ้นสิ่งที่น่าคิดตามต่อไปว่า คลังจะลดสัดส่วนการถือหุ้นลงต่ำกว่า 50% หรือไม่ เพราะถ้าต่ำกว่าการบินไทยจะไม่เป้นรัฐวิสาหกิจอีกต่อไป

ด้านนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แกนนำคณะก้าวหน้า อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ แสดงความเห็นต่อเรื่องนี้ทางเฟซบุ๊กไลฟ์เมื่อวันที่ 10 พ.ค. ระบุว่าเขาไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลอุ้มการบินไทย เพราะไม่เชื่อมั่นในแผนฟื้นฟูของการบินไทยซึ่งคาดว่าต้องใช้เงินมากถึง 1.3 แสนล้านบาท

ถ้ารัฐบาล “อุ้ม” การบินไทยต่อ?

1. รัฐบาลจะให้การบินไทยกู้เงิน 50,000 ล้านบาท 

2. การบินไทยยังคงเป็นสายการบินประจำชาติต่อไป

3. การบินไทยยังมีอนาคต สามารถพลิกกลับมาเป็นองค์กรที่ทำกำไร รัฐเองก็จะได้ประโยชน์ มีเงินเข้าคลังเรื่อยๆ ทุกปี ยิ่งถ้าหากอนาคตธุรกิจการบินกลับมาบูมอีกครั้ง

และหากยึดตามคำสั่งของพล.อ.ประยุทธ์ นี่จะเป็นการอุ้มครั้งสุดท้ายแล้ว ถ้าหากการบินไทยยังไม่สามารถมีแผนธุรกิจที่จะหยุดการขาดทุนได้ ก็มีแนวโน้มเช่นกัน ที่รัฐบาลจะตัดสินใจปฏิรูปการบินไทย ให้ออกจากรัฐวิสาหกิจในอนาคต

หากการบินไทยไม่ใช่รัฐวิสาหกิจอีกต่อไป จะเกิดอะไรขึ้น?

1. ประเทศไทยจะไม่มีสายการบินที่เป็นของไทยอย่างแท้จริง

2. การบินไทยไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ เท่ากับรัฐบาลไม่ช่วยเหลือ และนั่นคือ "ปล่อยให้ล้มละลาย"

3. การบินไทยต้องคืนสิทธิการบินในแต่ละเส้นทางให้องค์กรการบินระหว่างประเทศ เท่ากับไทยจะไม่สามารถบินเข้าสู่หลายประเทศได้เหมือนเดิม

แบบนั้นทางออกที่น่าจะดีที่สุด คือ การล้มละลาย งั้นหรือ?

ถ้ารัฐบาล “ปล่อย” การบินไทยเข้าสู่การฟื้นฟู

1. การบินไทยยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อขอฟื้นฟูกิจการ

2. สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้

3. พักชำระหนี้ได้ เพราะเจ้าหนี้ไม่สามารถบังคับให้การบินไทยชำระหนี้ในช่วงเวลาฟื้นฟูกิจการได้

ผลสรุปสุดท้าย

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติให้แผนฟื้นฟูกิจการ บมจ.การบินไทย (THAI) ด้วยการเข้าสู่กระบวนการล้มละลายโดยยื่นต่อศาลล้มละลาย รวมทั้งให้กระทรวงการคลังปรับลดการถือหุ้น THAI ต่ำกว่า 50% จากปัจจุบันถืออยู่ 51% ทั้งนี้ต้องมาพิจารณาในรายละเอียดว่า สามารถยื่นคำขอเข้าฟื้นฟูทั้งศาลล้มละลายในไทยและสหรัฐ ได้หรือไม่ รวมทั้งรายละเอียดเกี่ยวกับหนี้สินของ THAI จากกระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม และ การบินไทยจะร่วมหารือกันต่อไป

เพื่อนๆ อ่านแล้วคิดว่ายังไง ก็แสดงความเห็นกันเข้ามาได้นะครับ


ติดตามความรู้เรื่องการเงินการลงทุนจาก aomMONEY

Website : www.aomMONEY.com

Youtube : https://www.youtube.com/AommoneyTH

กลุ่มกองทุนไหนดี : https://www.facebook.com/groups/SelectedFund/


ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจากคอลัมน์ข่าวนิกเกอิ

https://s.nikkei.com/2LsZ4Co