เพื่อนๆ เคยได้ยินชื่อ สถาบันคุ้มครองเงินฝาก สคฝ. หรือว่า DPA กันไหม?

และเพื่อนๆ รู้ไหมครับว่าสถาบันคุ้มครองเงินฝากมีหน้าที่สำคัญอย่างไร ?

เมื่อวันจันทร์ที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา ทีมงาน aomMONEY ได้มีโอกาสไปร่วมงานอีเวนต์ของทางสถาบันคุ้มครองเงินฝาก โดยในงานได้มีการกล่าวถึงประเด็นที่น่าสนใจอย่างเรื่อง "พฤติกรรมการฝากเงินที่เปลี่ยนไปในสภาวะการแพร่ระบาด Covid-19 รวมถึงตอกย้ำความมั่นใจเรื่องการคุ้มครองเงินฝากของประชาชนในสภาวะที่เศรษฐกิจผันผวนแบบนี้" ส่วนรายละเอียดจะเป็นอย่างไรนั้น เดี๋ยว aomMONEY ขอสรุปให้ดังนี้ครับ

เนื้อหาภายในงานจะแบ่งออกเป็น 3 หัวข้อด้วยกันครับ

  1. ภาพรวมเศรษฐกิจและการเงินของไทยที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ Covid-19 และลักษณะการคุ้มครองเงินฝากของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก
  2. เปิดเผยข้อมูลการฝากเงินของคนไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 
  3. ข้อแนะนำและแนวทางการบริหารจัดการการเงินของประชาชน

1. ภาพรวมเศรษฐกิจและการเงินของไทยที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ Covid-19 และลักษณะการคุ้มครองเงินฝากของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจและการเงินของไทย นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) หรือ DPA กล่าวว่า จากการแพร่ระบาดของ Covid-19 ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของทุกคนทั่วทุกมุมโลก โดยสถาบันคุ้มครองเงินฝาก มีบทบาทสำคัญในการคุ้มครองเงินฝากแก่ผู้ฝาก ทั้งที่เป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่ฝากเงินเป็นสกุลเงินบาทกับสถาบันการเงินภายใต้กฎหมาย ว่าด้วยสถาบันคุ้มครองเงินฝากทั้ง 35 แห่ง ซึ่งจะแบ่งเป็น 4 หมวดได้แก่

1. ธนาคารพาณิชย์ (19 แห่ง)

  • 1. ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) 
  • 2.ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) 
  • 3.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
  • 4. ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) 
  • 5.ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) 
  • 6.ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) 
  • 7.ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) 
  • 8.ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน) 
  • 9.ธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน) 
  • 10.ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) 
  • 11.ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) 
  • 12.ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) 
  • 13.ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) 
  • 14.ธนาคารไอซีบีซี (ไทย) จำกัด (มหาชน) 
  • 15.ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน) 
  • 16.ธนาคารเมกะ สากลพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) 
  • 17.ธนาคารแห่งประเทศจีน (ไทย) จำกัด (มหาชน) 
  • 18.ธนาคารเอเอ็นแซด (ไทย) จำกัด (มหาชน)
  • 19.ธนาคารซูมิโตโม มิตซุย ทรัสต์ (ไทย) จำกัด (มหาชน)

2. สาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ (11 แห่ง)

  • 1.ธนาคารเจพีมอร์แกน เชส 
  • 2.ธนาคารโอเวอร์ซี-ไชนีส แบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น จำกัด 
  • 3.ธนาคารซิตี้แบงก์ ธนาคารอาร์ เอช บี จำกัด 
  • 4.ธนาคารแห่งอเมริกา เนชั่นแนล แอสโซซิเอชั่น 
  • 5.ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น จำกัด 
  • 6.ธนาคารดอยซ์แบงก์ ธนาคารมิซูโฮ จำกัด 
  • 7.ธนาคารบีเอ็นพี พารีบาส์ 
  • 8.ธนาคารซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น 
  • 9.ธนาคารอินเดียน โอเวอร์ซีส์

3. บริษัทเงินทุน (2 แห่ง)

  • 1.บริษัทเงินทุน ศรีสวัสดิ์ จำกัด (มหาชน) 
  • 2.บริษัทเงินทุน แอ็ดวานซ์ จำกัด (มหาชน)

4. บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ (3 แห่ง)

  • 1.บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ เอสเบ จำกัด 
  • 2.บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ เวิลด์ จำกัด 
  • 3.บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ แคปปิตอล ลิ้งค์ จำกัด

ซึ่งทางสถาบันคุ้มครองเงินฝากจะคุ้มครองทันทีในลักษณะ 1 รายชื่อผู้ฝากต่อ 1 สถาบันการเงิน ในบัญชีเงินฝาก 5 ประเภท ได้แก่

  • 1. เงินฝากกระแสรายวัน 
  • 2. เงินฝากออมทรัพย์ 
  • 3. เงินฝากประจำ 
  • 4. บัตรเงินฝาก 
  • 5. ใบรับฝากเงิน 

อย่างไรก็ตาม ในกรณีสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้การคุ้มครองถูกเพิกถอนใบอนุญาต ผู้ฝากจะได้รับเงินฝากคืนภายใน 30 วัน ตามวงเงินที่กฎหมายกำหนด แต่ก็จะมีการเข้าใจผิดอยู่บ้างสำหรับผลิตภัณฑ์ทางการเงินหรือเงินฝากบางประเภทที่ไม่ได้รับการคุ้มครองจากสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ยกตัวอย่างเช่น

  • 1. เงินฝากประเภทที่เป็นเงินตราต่างประเทศ  
  • 2. เงินลงทุนในตราสารต่างๆ เช่น พันธบัตร หุ้นกู้ หน่วยลงทุน (SSF) (RMF) 
  • 3. เงินฝากสหกรณ์ 
  • 4. แคชเชียร์เช็ค ตัวแลกเงิน 
  • 5. เงินอิเล็กส์ทรอนิกส์ (e-MONEY)

โดยปัจจุบัน "วงเงินคุ้มครองเงินฝากอยู่ที่ 5 ล้านบาท ทั้งนี้ วงเงินคุ้มครองดังกล่าว สามารถครอบคลุมการคุ้มครองเงินฝากเต็มจำนวนของผู้ฝาก 80.51 ล้านราย หรือคิดเป็นร้อยละ 99.63 ของผู้ฝากทั้งระบบ สำหรับเงินฝากที่เกินวงเงินการคุ้มครอง ผู้ฝากมีโอกาสได้รับเงินฝากคืนเพิ่มเติม จากการชำระบัญชีสถาบันการเงินที่ถูกปิดกิจการในภายหลัง"

2. เปิดเผยข้อมูลการฝากเงินของคนไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2563

จากข้อมูลสถิติการฝากเงินในสถาบันการเงิน ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเงินฝากย้อนหลัง 3 ปี พบแนวโน้มจำนวนเงินฝากที่ได้รับความคุ้มครองของระบบสถาบันการเงินเป็นไปในทิศทางที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยระหว่างปี 2560 – 2562 มีเงินฝากที่ได้รับความคุ้มครอง จำนวน 12.54 ล้านล้านบาท 13.02 ล้านล้านบาท และ 13.56 ล้านล้านบาท ตามลำดับ

และจากข้อมูลในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563 ระหว่างเดือนมกราคม - มิถุนายน พบว่า ประเทศไทย มีจำนวนผู้ฝากในระบบสถาบันการเงินภายใต้ความคุ้มครองของ สคฝ. รวม 80.82 ล้านราย โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.38 หรือราว 1.1 ล้านราย และมีจำนวนเงินฝากที่ได้รับความคุ้มครองมีจำนวนทั้งสิ้น 14.67 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.12 เมื่อเทียบกับข้อมูลเมื่อสิ้นปี 2562 โดยกว่าร้อยละ 98 เป็นผู้ฝากรายย่อยที่มีเงินฝากไม่เกิน 1 ล้านบาท

“สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (DPA) เผยสถิติผู้ฝาก 6 เดือนแรก รวม 80 ล้านราย ย้ำมาตรการคุ้มครองเงินฝากมั่นคงสูง พร้อมเปิดศูนย์บริการให้ความรู้การคุ้มครองเงินฝาก 1158 และช่องทางออนไลน์ ให้ข้อมูลการคุ้มครองแก่ประชาชน”

3. ข้อแนะนำและแนวทางการบริหารจัดการการเงินของประชาชน

จากข้อมูลพบว่า ปัจจุบันปริมาณเงินฝากมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้ฝากเกือบทุกกลุ่ม โดยปริมาณเงินฝากเพิ่มขึ้นสูงสุดในกลุ่ม “ผู้ฝากบุคคลธรรมดา” และ “ผู้ฝากภาคธุรกิจ องค์กรภาครัฐ และกองทุนต่าง ๆ” อีกทั้งมีการขยายตัวในทุกระดับวงเงินฝาก โดยเกือบครึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของเงินฝากในระดับเงินฝากวงเงินสูงกว่า 25 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี จากปริมาณเงินฝากที่ขยายตัวในอัตราสูง เป็นผลมาจากความผันผวนในตลาดการเงิน ทำให้นักลงทุนโยกย้ายเงินลงทุนมาเข้าเงินฝากมากขึ้นเพื่อความปลอดภัย เนื่องจากเงินฝากมีความปลอดภัยสูง เมื่อเทียบกับการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่นในตลาดเงินที่ผลตอบแทนลดลง และยังมีแนวโน้มการออมเพื่อสำรองการใช้จ่ายในอนาคต

อย่างไรก็ดี จากข้อมูลผลตอบแทนตามประเภทสินทรัพย์เฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปี ระหว่าง 2553 – 2562 พบว่า

  • ผลตอบแทนการฝากเงินประเภทออมทรัพย์อยู่ที่ร้อยละ 0.72 
  • ประเภทฝากประจำ 1 ปีอยู่ที่ร้อยละ 1.88 
  • ประเภทพันธบัตร 3 ปีอยู่ที่ร้อยละ 2.41 
  • ทองคำอยู่ที่ร้อยละ 2.31 
  • JUMBO25 (หุ้น) อยู่ที่ร้อยละ 10.01 

ทั้งนี้แม้ว่าการฝากเงินยังเป็นช่องทางที่มั่นคงและมีความปลอดภัยสูง แต่ผู้ฝากยังสามารถพิจารณาการจัดสรรสินทรัพย์ (Asset Allocation) ตามความเหมาะสมและความต้องการของตนเอง โดยต้องพิจารณาและศึกษาการจัดสรรสินทรัพย์อย่างละเอียด เพื่อความปลอดภัยในการบริหารการเงินอย่างยั่งยืน ขณะนี้ สคฝ. อยู่ระหว่างการศึกษาผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่าง ๆ เพื่อพิจารณาขยายการคุ้มครองในอนาคต นายทรงพล กล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้เราสามารถสอบถามข้อมูลการคุ้มครองเงินฝากเพิ่มเติมได้ที่ www.dpa.or.th ศูนย์บริการให้ความรู้การคุ้มครองเงินฝาก โทร. 1158 และเฟซบุ๊กแฟนเพจ www.facebook.com/dpathailand

#DPA #สถาบันคุ้มครองเงินฝาก #คุ้มครองทุกจังหวะชีวิต

ทีมบรรณาธิการ aomMONEY