เรื่องเงินเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อน โดยเฉพาะคู่รักที่ตัดสินใจเริ่มต้นชีวิตคู่อยู่ด้วยกันเป็นครอบครัว คำถามที่คนส่วนใหญ่มักจะคิดอยู่ในหัวเสมอคือเรื่องเงินในตอนนี้ควรจัดการยังไงดี เอามารวมกันเลยดีไหม หรือแยกกันบริหารของใครของมัน แต่จากงานวิจัยล่าสุดที่ผ่านมาพบว่าคู่รักที่เอาเงินมารวมกัน ‘มีโอกาสมากกว่า’ ที่จะอยู่ด้วยกันและมีความพึงพอใจในชีวิตคู่มากกว่าด้วย

ในงานวิจัยที่ชื่อว่า ‘Pooling Finances and Relationship Satisfaction’ (ความพึงพอใจในความสัมพันธ์และการรวมเงินเอาไว้ด้วยกัน) พบว่าการตัดสินใจเอาเงินมารวมกันหรือไม่ของคู่รักนั้นอาจจะเป็นตัวกำหนดได้เลยว่าความสัมพันธ์นั้นจะยืนยาวตลอดรอดฝั่งหรือไม่ โดยงานวิจัยนี้โฟกัสไปที่เงินในบัญชีธนาคารและสินทรัพย์สภาพคล่อง (สินทรัพย์ที่สามารถแปลงเป็นเงินสดได้โดยไม่สูญเสียมูลค่ามากและเปลี่ยนเป็นเงินสดได้อย่างรวดเร็วเช่น เงินฝากประจำ กองทุนรวม สินทรัพย์ทางการเงิน)

เอมิลี่ การ์บินสกี้ (Emily Garbinsky) รองศาสตราจารย์ด้านการสื่อสารการตลาดและการจัดการของมหาวิทยาลัย Cornell ผู้ร่วมวิจัยกล่าวว่า “เราพบว่าคู่รักที่รวมเงินกันไว้ด้วยกันมีแนวโน้มที่จะ ‘เลิกรากันน้อยกว่า’ คู่รักที่แยกการออมเงินออกจากกัน”

มีแบบสำรวจที่สนับสนุนงานวิจัยชิ้นนี้จากเว็บไซต์รวบรวมรายละเอียดเกี่ยวกับบัตรเครดิต CreditCards.com ว่า 43% ของคู่รักที่แต่งงานกัน อยู่ด้วยกันแบบคู่รัก หรือ อาศัยอยู่ด้วยกันนั้นจะมีบัญชีที่รวมเงินไว้ด้วยกัน เบบี้บูมเมอร์ (1946-1964) ส่วนใหญ่จะมีบัญชีร่วมกันกว่า 49% ตามมาด้วย Gen X (1965-1980) ที่ 48% และ Gen Y (1981 - 1996) ที่ 31%

การ์บินสกี้กล่าวว่าการเอาเงินมารวมกันสร้างผลลัพธ์ที่ดีแตกต่างกันขึ้นอยู่กับรายได้และโครงสร้างทางวัฒนธรรมของคู่รักคู่นั้นด้วย เธอพบว่าผลลัพธ์ในเชิงบวกจะเห็นได้ชัดในกลุ่มคู่รักที่มีรายได้น้อยและอยู่ในสังคมที่มีวัฒนธรรมแบบคติรวมหมู่ (อย่างเช่นญี่ปุ่น) มากกว่าคู่รักที่มีรายได้สูงและอยู่ในสังคมที่มีความเป็นปัจเจกนิยม (อย่างเช่นอเมริกา)

นอกจากนั้นแล้วงานวิจัยชิ้นนี้ยังมีการเก็บข้อมูลจากการสนทนาบนเว็บบอร์ดออนไลน์อย่าง Reddit และ Quora ด้วย สิ่งที่พบก็คือว่าคู่รักที่เอาเงินมารวมกันมักจะพูดถึงเงินในมุมว่าเป็น ‘เงินของเรา’ มากกว่าที่กลุ่มคนที่แยกเงินกันชัดเจนที่มักจะบอกว่าส่วนไหนคือ ‘เงินของฉัน’

การ์บินสกี้บอกว่า “การกล่าวสรรพนามธรรมดาแบบนี้เมื่อเวลาผ่านไปเรื่อย ๆ จะตอกย้ำการรับรู้ว่าทั้งคู่อยู่ทีมเดียวกันรึเปล่า” ซึ่งในอีกงานวิจัยหนึ่งที่เธอทำก็พบว่าคู่รักหลายคู่พยายามไม่พูดถึงเรื่องเงินด้วยกัน “พวกเขาไม่ชอบที่จะพูดเรื่องเงินกับคู่ของตัวเองเพราะคิดว่าจะเกิดปัญหา ถ้าคุยแล้วก็จะทะเลาะกันเปล่าๆ” แต่การ์บินสกี้บอกว่าจากข้อมูลเห็นได้ชัดเลยว่าการพูดคุยและสนทนาเรื่องนี้ด้วยกันเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ

คู่รักที่พูดกันอย่างเปิดอกเกี่ยวกับเรื่องเงินนั้นมักจะเข้าใจตรงกัน จูนกันติด มีเป้าหมายตรงกัน และสามารถที่จะไปถึงเป้าหมายทางการเงินด้วยกันได้ด้วย ยิ่งถ้ามีปัญหาเกี่ยวกับการเงินแล้ว การพูดคุยกันถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ๆ การติดหนี้บัตรเครดิตหรือมีภาระตรงไหนแล้วเอามากางบนโต๊ะช่วยกันจะแก้ไขปัญหาได้ดีกว่าเก็บเรื่องนั้นไว้คนเดียว

“โดยเฉลี่ยแล้ว สิ่งที่เราเห็นคือคู่รักที่คุยกันเรื่องเงินจะได้ข้อสรุปร่วมกัน และนั่นก็ทำให้พวกเขารู้สึกว่าอยู่ทีมเดียวกัน ความรู้สึกแบบนี้กับคู่รักนี่แหละที่ทำให้ความรู้สึกเติมเต็มในความสัมพันธ์มากขึ้นด้วย”

คู่รักที่คุยกันอยู่ตลอดเกี่ยวกับเรื่องเงินนอกจากจะช่วยกันแก้ปัญหา ไปถึงเป้าหมายในชีวิตและทางการเงินได้ดีกว่า และยังมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกว่าแล้ว ยังมีโอกาสที่จะหลีกเลี่ยง ‘ความไม่ซื่อสัตย์ทางการเงิน’ หรือ ‘การแอบใช้เงินหรือปิดบังปัญหาเรื่องการเงิน’ จากคนรักของตัวเองอีกด้วย ซึ่งจากผลสำรวจพบว่า 85% ของคู่รักที่รู้ว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ซื่อสัตย์เกี่ยวกับเรื่องการเงิน เรื่องนี้จะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งแน่นอน

เจสซี่ เซล (Jesse Sell) นักวางแผนทางการเงินที่ได้รับการรับรองและผู้บริหารหลักที่ Prevail Financial Planners ในเมืองสติลวอเตอร์ มินนิโซตา บอกว่าวิธีการรับมือกับปัญหาหรือจัดการเรื่องการเงินสำหรับแต่ละครอบครัวหรือคู่รักแต่ละคู่ก็ไม่เหมือนกัน แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือการคุยกันอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย ๆ ปีละครั้งทำให้เป็นเรื่องปกติไปเลย

“เรื่องเงินสามารถเป็นประเด็นที่อ่อนไหวได้เลย การพูดถึงมันเป็นประจำเป็นเรื่องสำคัญเพราะถ้าไม่ตั้งใจทำแบบนั้น มันก็จะถูกวางไว้ข้าง ๆ แล้วไม่เคยถูกหยิบมาคุยกันต่ออีกเลย”

เพราะฉะนั้นสำหรับใครก็ตามที่มีแฟนหรือคนรัก อยู่ในความสัมพันธ์ที่จริงจัง อยากให้ลองนำประเด็นเรื่องการเงินมานั่งคุยกันดู แม้จะยังไม่ได้เอามารวมกันทั้งหมดหรือแบ่งมารวมกันบางส่วน แต่อย่างน้อยการมาเปิดอกคุยกันเกี่ยวกับเรื่องเงิน เรื่องเป้าหมายในชีวิต ใครมีปัญหาตรงไหนก็จะได้ช่วยกันได้ เป็นหูเป็นตา คอยห้ามคอยเตือนกันก่อนที่ปัญหามันจะลุกลามใหญ่โต แม้ความรักจะเป็นสิ่งสำคัญในความสัมพันธ์ แต่ถ้าจะแก้ปัญหาการเงิน บางทีแค่ความรักมันไม่พอครับ

====

CNBC

Psycnet

nefe.org