สวัสดีครับ พบกับ Column ใหม่ ของ AomMoney ที่จะมาสรุปทุกประเด็นข่าวการเงินสำคัญที่คุณต้องรู้ ทำให้ทุกคนเข้าใจทุกสถานการณ์การเงินกันแบบไม่มั่วนิ่ม ในภาษาที่เข้าใจง่าย ทุกคนอ่านเข้าใจ สไตล์ออมมันนี่ พร้อมภาพประกอบสวยๆ ที่ทำให้เข้าใจมากยิ่งขึ้น  แถมยังยิ้มได้ด้วยข้อคิดเห็นแบบฮาๆในสไตล์กันเองคร้าบบบ

โดยกระผมพรี่หนอม TAXBugnoms ผู้ที่ไม่ยอมจบแค่เรื่องของภาษี แต่มาเจอกันอีกทีที่คอลัมน์ที่ชื่อว่า Money News : Money News You Should Know แห่งนี้ครับ!! 

ประเดิมบทความแรกของคอลัมน์นี้ กับเรื่องที่เป็น Talk of The Town มาสักระยะ นั่นคือเรื่องของ National E-Payment หรือระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ ที่จะมาพัฒนาระบบการชำระเงินของประเทศไทยให้ก้าวไกลไปสู่ทั่วโลก ที่ใครหลายคนอาจจะเคยได้ยินมาพร้อมๆกับ “ระบบการชำระเงินแบบนานานาม (ANY ID)” และสุดท้ายที่เพิ่งมาไม่กี่วันนี้ที่กำลังจะเปิดให้ลงทะเบียนในชื่อใหม่อย่าง ระบบ “พร้อมเพย์ Promptpay" นั่นเองครับ

แหม่.. พอได้ยินกันแบบนี้ใครหลายคนอาจจะยังงงและสับสนกันอยู่ วันนี้ผมเลยรับหน้าที่ไขข้อข้องใจทั้งหมดให้กับทุกคน เพื่อที่จะได้เตรียมตัวรับมือและ“พร้อม” ที่จะปรับตัวเข้าสู่ระบบการชำระเงินแบบใหม่ เอาล่ะครับ.. ผมขอเริ่มต้นจากความหมายของระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National E-Payment) กันก่อนครับ

ระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National E-Payment) คืออะไร?

ระบบ National e-Payment จัดทำขึ้นเพื่อพัฒนาระบบการชำระเงินของประเทศไทยให้เข้าสู่การชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) อย่างครบวงจร ซึ่งแผนยุทธศาสตร์พัฒนาระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาตินั้น ประกอบด้วยแผนงานสำคัญ 5 โครงการครับ ได้แก่

(1) โครงการระบบการชำระเงินแบบ Any ID (นานานาม) 
(2) โครงการการขยายการใช้บัตร 
(3) โครงการระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ 
(4) โครงการ e-Payment ภาครัฐ 
(5) โครงการการให้ความรู้และส่งเสริมการใช้ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์

ใครที่ยังไม่จุใจกับสิ่งที่เขียนไว้ ผมแนะนำให้ดูคลิปอธิบายนี้เพิ่มเติมครับ ผมคิดว่าจัดทำได้ค่อนข้างชัดเจนกันเลยทีเดียวครับ

https://www.youtube.com/embed/OUa6hSTsdDY

ประโยชน์ของระบบ E-Payment มีอะไรบ้าง ?

แน่นอนครับว่า ถ้ามี E-Payment เกิดขึ้น.. สิ่งที่ตามมาคือการเชื่อมโยงระบบ ความสะดวกต่างๆ ตามที่ทางรัฐบาลป่าวประกาศ ซึ่งผมเองก็มองไปในทิศทางเดียวกันครับว่าประโยชน์นั้นจะมีอยู่ 2 ส่วน คือ ความสะดวกของประชาชน และ ความสบายในการจัดเก็บภาษีของรัฐ 

โดย ประชาชน (รวมถึงภาคธุรกิจ) นั้น ก็จะได้ความสะดวกในภาพรวม สามารถรับจ่ายเงินได้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น ลดการใช้เงินสดที่แสนจะวุ่นวาย เพียงแค่ใช้เลขบัตรประชาชนหรือหมายเลขโทรศัพท์ก็สามารถรับโอนเงินกันได้ง่ายๆแบบสบายแล้วครับ แถมยังได้รับค่าธรรมเนียมการโอนเงินที่ต่ำลงอีกด้วย

ในอีกแง่หนึ่งของทางฝั่งภาครัฐ การเกิดขึ้นของระบบ E-Payment นี้จะทำให้รัฐมีข้อมูลประชาชนที่ครบถ้วน บริหารจัดการได้ตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ เพิ่มเติมความสะดวกต่างๆ ในการบริหารจัดการประเทศ ไปจนถึงการประหยัดต้นทุนต่างๆที่เคยใช้ได้ง่ายขึ้น เงินภาษีที่เราเสียไปก็จะถูกนำไปใช้พัฒนาประเทศได้มากยิ่งขึ้น

… และทั้งหมดนั้นคือ ภาพวิมานในอากาศที่เราว่ากันมา (เพราะว่าวันนี้ยังไม่เกิดขึ้นจริงครับ แฮร่)

สิ่งที่น่ากังวลของระบบ E-Payment มีอะไรบ้าง ?

ถ้าเรามองอีกมุมหนึ่ง การเริ่มใช้ระบบ E-payment นั้นยังมีสิ่งที่น่ากลัวแฝงอยู่อีก 2 เรื่อง (ตามความคิดของผมนะครับ ซึ่งจริงๆอาจจะมีอีกหลายเรื่องก็ได้) นั่นคือ เรื่องของความปลอดภัยในการทำธุรกรรม และอีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้กลัวกันจนตัวสั่น นั่นคือ เรื่องภาษีครับ!

1. ความปลอดภัยในการทำธุรกรรม

สำหรับความปลอดภัยในการทำธุรกรรม เราอาจจะต้องดูว่าหน่วยงาน ธนาคาร และผู้ที่เกี่ยวข้องต่างๆ นอกเหนือจากภาครัฐนั้นมีการเตรียมการวางแผน และรับมืออย่างไรบ้าง ยกตัวอย่างเช่น AnyID (ที่เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น Promptpay) ที่ช่วงนี้ธนาคารหลายๆแห่งเริ่มเปิดให้ลงทะเบียนเตรียมความพร้อมในการใช้งานไว้ล่วงหน้าแล้ว

ซึ่งเรื่องนี้เราเองก็ต้องพิจารณาด้วยครับว่าจะใช้ธนาคารไหนเป็นธนาคารประจำ เพราะจากข้อมูล ณ ตอนนี้ คือ 1 เลขบัตรประชาชนหรือเบอร์โทรศัพท์นั้น ผูกได้อย่างละ 1 เลขบัญชีเท่านั้น (ถ้าใครมีหลายบัญชีก็คงต้องดูกันดีๆครับ) นอกจากนั้นยังมีเรื่องของการเชื่อมโยงข้อมูล ความปลอดภัยส่วนตัวต่างๆที่เกี่ยวข้อง ซึ่งตรงนี้คงต้องติดตามกันต่อไปอย่างใกล้ชิดต่อไปครับ

2. เรื่องของภาษี

ทีนี้มาถึงเรื่องที่ใครหลายคนกลัวกันดีกว่าครับ นั่นคือ เรื่องของภาษี เพราะว่ามีแนวโน้มที่กรมสรรพากรจะสามารถตรวจสอบข้อมูลต่างๆ เพื่อใช้ในการจัดเก็บภาษีได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น หรือเรียกง่ายๆก็คือสามารถดูบัญชีของเราได้นั่นแหละครับ ผมลองอ้างอิงข้อมูลบางส่วนจากเวปไซด์ Thaipublica.org มาให้ดูกันครับ

นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า หลังจากรัฐบาลพัฒนาระบบ e-Payment เสร็จจะทำให้กรมสรรพากรมีฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Analysis) ใช้ในการบริหารการจัดเก็บภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ และอุดรูรั่วไหลในการจัดเก็บภาษี

เนื่องจากข้อมูลการทำธุรกรรมทางการเงินทั้งหมดจะมาปรากฏที่กรมสรรพากร ยกตัวอย่าง นาย ก ยื่น ภ.ง.ด.90 แจ้งกรมสรรพากรว่ามีเงินได้ 2 ล้านบาท แต่ถ้าพิจารณาจากหลักฐานทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ พบว่ามีเงินโอนเข้าบัญชีนาย ก ในปีนั้น 50 ล้านบาท สมัยก่อนเจ้าหน้าที่สรรพากรอาจจะแกล้งทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นได้ เพราะไม่มีฐานข้อมูล แต่ในอนาคตข้อมูลทั้งหมดจะปรากฏอยู่ที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ของกรมสรรพากร

หากเจ้าหน้าที่ที่กำกับดูแลผู้เสียภาษีรายนี้ตรวจสอบพบแล้วไม่ดำเนินการตามระเบียบที่กรมสรรพากรกำหนด รอจนมีผู้ตรวจราชการหรือเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบพบ จะมีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามกฎหมายอาญา มาตรา 157