เมื่อกล่าวถึงภาวะเบิร์นเอาต์ (Burnout) หรืออาการหมดไฟในการทำงาน เหนื่อยล้าทางอารมณ์สะสมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลพวงมาจากความเครียดและความกดดัน ส่วนใหญ่เราจะคิดถึงเรื่องการทำงานหรือพนักงานในองค์กรเป็นหลัก

ที่จริงแล้วภาวะเบิร์นเอาต์มันสามารถเกิดขึ้นได้กับเรื่องอื่นๆ อย่างเช่น ‘การลงทุน’ ได้ด้วย

ในหนังสือ “เล่นหุ้นให้รวยกำไรอย่าใช้ใจนำสมอง” ที่เขียนโดย ‘พัคจงซอก’ จิตแพทย์เจ้าของ "คลินิกนักลงทุน" ผู้โด่งดังในเกาหลีใต้ ที่ดูแลบำบัดคนเล่นหุ้นที่พลาดพลั้งเพราะอารมณ์มานานกว่า 10 ปี ได้แชร์เรื่องนี้เอาไว้ในบท ‘การพักผ่อนก็เป็นการลงทุน’ ได้อย่างน่าสนใจ

พัคจงซอกบอกว่า

"ผมเห็นคนที่มีอาการหมดไฟเพราะลงทุนในหุ้นมากมาย ในโรงพยาบาลก็มีอยู่ไม่น้อยผมเองก็เคยประสบกับอาการหมดไฟที่แสนยาวนานมาแล้ว ตอนอัตราผลกำไรดี ไม่มีทางจะเกิดอาการเช่นนี้แน่ คนที่ได้เงินจากกาสิโนก็เช่นกัน ถึงแม้จะโต้รุ่งก็ไม่รู้สึกง่วงนอน เพราะสารโดพามีนและสารเอนดอร์ฟินหลั่งอย่างกับน้ำพุ แต่พอเริ่มเสียเงิน ความเหนื่อยล้าจะถาโถมเข้ามาเหมือนคลื่นชัด ส่งผลให้อารมณ์อ่อนไหวและหงุดหงิดง่าย ยิ่งราคาหุ้นตกฮวบยาวนาน หรือสถานการณ์ตลาดหุ้นเคลื่อนยังไม่ดีขึ้น นักลงทุน ที่มีอาการหมดไฟก็ยิ่งมาก“

สิ่งที่ตามมาหลังจากอาการหมดไฟในการลงทุน

1. ขาดความเชื่อมั่น
2. ใจร้อน
3. เป็นประตูสู่โรคซึมเศร้า

การลงทุนเป็นเรื่องที่ยากอยู่แล้ว ยิ่งถ้ารู้สึกเครียด จิตใจไม่แจ่มใส ทำอะไรก็ทำแบบส่งๆ คร่าวๆ ไม่อดทนรออะไร กลายเป็นว่าสภาพจิตใจแบบนี้ รบ 100 ครั้ง ก็แพ้ 100 ครั้ง

“การลงทุนในขณะมีอาการหมดไฟ ไม่ต่างจากเอาเงินไปบริจาคให้คนอื่นหรือไม่ก็ฆ่าตัวตาย สู่เอาเงินนั้นไปบริจาคเพื่อลดหย่อนภาษีสิ้นปียังดีกว่า” พัคจงซอกอธิบาย

เช็กลิสต์ตรวจสอบอาการหมดไฟในการลงทุน

พัคจงซอกแชร์เช็กลิสต์อันนี้ไว้ในหนังสือ (มีปรับบางส่วนให้เข้ากับตลาดบ้านเรา เช่นเวลาเปิด-ปิดตลาด)

ลองตรวจสอบกันดูครับว่าเราเช็กถูกกันกี่ข้อจากทั้งหมด 11 ข้อนี้

- [ ] ถ้าได้เงินต้น จะเลิกเล่นหุ้นทันที

- [ ] พอตลาดปิดตอนบ่าย 4 โมงครึ่ง จะเหนื่อยที่สุดและอยากเลิกงาน

- [ ] หงุดหงิดบ่อย กระวนกระวายใจ วิตกกังวลและไม่สบายใจ

- [ ] เย็นวันศุกร์จะโล่งใจ แต่ไม่อยากให้วันจันทร์มาถึง

- [ ] จดจ่อกับงานไม่ได้และทำผิดพลาดบ่อย หลายครั้งนั่งนิ่งใจลอย

- [ ] ตอน 10 โมงเช้าจะวิตกกังวล ความกลัวว่าจะเสียมีมากกว่าความคาดหวังว่าจะได้

- [ ] เบื่อง่ายและไม่คิดอยากทำอะไร จึงทำแค่ขายผ้าเอาหน้ารอดไปวัน ๆ

- [ ] เวลาเพื่อนหรือเพื่อนร่วมงานพูดถึงเรื่องหุ้นจะหงุดหงิดไม่อยากฟัง

- [ ] เวลาเห็นข่าวเกี่ยวกับหุ้นจะเหนื่อยล้าและหดหู่

- [ ] ความมั่นใจในตนเองลดลงและกลัวว่าจะทำผิดบ่อย

- [ ] ความกังวลในหุ้นทำให้นอนไม่หลับ อาหารไม่ย่อยและปวดหัวเรื้อรัง

0-2 ข้อ : ถือว่าเป็นเรื่องปกติ

3-5 ข้อ : อาการหมดไฟขั้นแรก จำเป็นต้องพัก

6-8 ข้อ : อาการหมดไฟขั้นกลาง จำเป็นต้องหยุดลงทุนสักพักและปรับกลยุทธ์การลงทุนใหม่

9 ข้อขึ้นไป : อาการหมดไฟขั้นรุนแรง จำเป็นต้องได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ

วิธีการรับมือภาวะหมดไฟ

ภาวะเบิร์นเอาต์นอกจากจะส่งผลกระทบต่องานที่ทำ การลงทุน และการเงินของคุณแล้ว ยังกระทบกับความสัมพันธ์กับคนรอบๆ ตัวเราอีกด้วย

เราจะรู้สึกหงุดหงิด เครียด ฟาดงวงฟาดงา อารมณ์ฉุนเฉียวใส่เพื่อนที่ทำงานหรือคนรักของเราได้ง่ายขึ้น

มีคำกล่าวหนึ่งที่บอกว่า “ตอนตลาดไม่ดี การไม่ลงทุนก็ถือเป็นการลงทุนอย่างหนึ่ง” เพราะฉะนั้นที่จริงแล้วการพักผ่อน หรือเว้นระยะห่างเพื่อให้ตัวเองได้หยุดและคิดจึงเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญไม่น้อย

เราอาจจะคิดไปเองว่าถ้าหากเราพยายามมากกว่านี้ อดทนมากกว่านี้ ใช้พลังฝ่าฟันภาวะเบิร์นเอาต์ต่อไปก็จะประสบความสำเร็จได้ แต่พัคจงซอกบอกว่า “แต่นี่เป็นความเข้าใจที่ผิด ตราบใดที่ยังมีอาการหมดไฟ คุณไม่มีทางลงทุนสำเร็จแน่นอน”

“สารโดพามีนและสารเซโรโทนินเป็นสิ่งที่สมองใช้ทุกวัน เหมือนกับ น้ำมันรถยนต์ สมองที่มีอาการหมดไฟจะสร้างสารโดพามีนและสารเซโรโทนินได้น้อย จึงไม่ต่างกับการพยายามขับรถที่น้ำมันแทบจะหมดไปเรื่อย ๆ ดังนั้นถ้าได้รับการวินิจฉัยว่ามีอาการหมดไฟ คุณควรพักทันทีโดยไม่ต้องคิดถึงค่าเสียโอกาสใด ๆ”

หากรู้สึกว่าการลงทุนเป็นสิ่งที่ทำแล้วเหนื่อยเกินไป ต้องมาคอยจับตาดูหุ้นหรือตลาดอยู่ตลอดเวลา ลองปรับวิธีการลงทุนดู เช่นลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล หรือ ทองคำ หรือเงินดอลลาร์ ซึ่งจะมีความผันผวนน้อยกว่าก็ได้

เมื่ออาการหมดไฟรุนแรงมากขึ้นจะนำไปสู่ ลงทุนที่ล้มเหลว -> โรคซึมเศร้า -> เลิกลงทุน ในที่สุด

แต่ถ้าเรารู้ว่ากำลังเบิร์นเอาต์ ลงทุนล้มเหลว -> พักทบทวน -> หาแนวทางที่เหมาะสมเพื่อลงทุนใหม่

สิ่งที่เราไม่ควรทำคือการตำหนิตัวเองจนเกินไปหรือหยุดลงทุนไปเลย เพราะโดยพื้นฐานแล้ว ภาวะหมดไฟเกิดจากการทุ่มเทและใส่ใจ จดจ่อ พยายามทำอย่างมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ จนรู้สึกเหนื่อยเกินไป ไม่ใช่เกิดจากความขี้เกียจหรือการเสี่ยงโชค

เพราะฉะนั้นเบิร์นเอาต์ไม่ใช่เรื่องผิด หรือเรื่องน่าอาย แต่ต้องเข้าใจว่ามันเกิดขึ้นแล้วพยายามค่อยๆ แก้ไขไป

พักสักหน่อย ลองเปลี่ยนรูปแบบการลงทุนให้ช้าลง เลือกรับข้อมูลที่พอเหมาะ คุยกับคนอื่นๆ วิเคราะห์ข้อมูลให้ละเอียด ตัดสินใจช้าลง และเฝ้ารอโอกาสเพื่อสร้างความมั่นใจให้กลับคืนมา

วอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett) เคยเปรียบเทียบการลงทุนกับการเล่นเบสบอลเอาไว้อย่างน่าสนใจ เขาอธิบายว่าตลาดหุ้นก็เหมือนกับเบสบอลที่คนตีไม่มีการสไตรก์เอาต์ (ปกติในเกมเบสบอลถ้าตีไม่ถูก 3 ครั้งก็จะหมดสิทธิ์ตี - Strikeout) เราไม่จำเป็นต้องเหวี่ยงไม้ตีทุกลูกที่ปามาทางเรา เราแค่รอนิ่งๆ หาบอลที่เรามั่นใจแล้วค่อยตีก็ได้

“กลยุทธ์ในการลงทุนคือการอยู่ตรงนั้นแล้วมองบอลผ่านไปเรื่อยๆ และรอให้มันมาอยู่ในจุดที่ดีที่สุดของเรา [แล้วค่อยเหวี่ยงไม้] ถ้าคนอื่นตะโกนว่า ‘ตีสิ ตีเลย ไอ้บื้อ!’ ก็ไม่ต้องไปสนใจคนพวกนั้น”