ถ้าใครสงสัยว่า การลงทุน คือต้องเริ่มต้นด้วยเงินจำนวนเยอะๆ แล้ววัดความสำเร็จด้วยผลตอบแทนที่ยิ่งใหญ่หรือไม่? คำตอบคือ “ไม่เสมอไปครับ” เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะมีเงินทุนมาก่อน บางคนก็เพิ่งมาเริ่มต้นด้วยตัวเอง ซึ่งจุดเริ่มต้นแบบนี้ ไม่ใช่เครื่องการันตีว่าคุณจะเป็นนักลงทุนที่ไม่ประสบความสำเร็จ

ชวนอ่าน 11 บทเรียนจากการลงทุนในแบบที่พอดีกับตัวเอง โดย มาดามฟินนี่ เจ้าของเพจ MadamFinney

“เงินน้อยก็รวยได้ ผิดพลาดแล้วก็เรียนรู้ได้ ล้มเหลวได้ก็สำเร็จเป็น”

1. เริ่มต้นจากการเล่นหุ้นและกองทุนรวม “ด้วยจำนวนเงินเล็กๆ ”

“ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีต้นทุนเป็นเงินก้อนโตจากที่พ่อแม่สร้างไว้ให้ แต่ก็ไม่ใช่ข้ออ้างที่จะนำมาสร้างความสำเร็จให้ชีวิต”

มาดามฟินนี่ เริ่มต้นชีวิตการลงทุนหลังจากทำงานได้สัก 1-2 ปี ด้วยการเล่นหุ้นและกองทุนรวมจากจำนวนเงินเล็กๆ อาศัยการเรียนรู้ที่ค่อยๆ เกิดจากประสบการณ์ที่สะสมมาเรื่อยๆ และไต่ระดับจากการลงทุนด้วยเงินหลักพัน ไปจนถึงหลักหมื่น

2. ลงทุน “ในสิ่งที่เหมาะกับตัวเอง”

ก่อนเริ่มลงทุน มีสิ่งหนึ่งที่สำคัญมากคือ ต้องรู้จักไลฟ์สไตล์ของตัวเอง หากคุณเป็นคนที่ไม่ชอบติดตามข่าวสาร หรือเกาะติดตลาดหุ้นตลอดเวลาอย่างมาดามฟินนี่ ก็เน้นหากองทุนที่ศึกษาครั้งเดียวแล้วอยู่กับมันไปยาวๆ เช่น กองทุนรวมที่เกาะกับดัชนีตลาด ที่สามารถนำไปใช้ลดหย่อนภาษี และยัง ได้ผลตอบแทนหลายต่ออีกด้วย

3. ลงทุน “ไม่หวือหวา เน้นผลระยะยาว”

“ไม่มีการลงทุนครั้งไหนที่เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จที่สุด” มาดามฟินนี่ กล่าว

สำหรับคนที่เน้นการลงทุนระยะยาวแบบมาดามฟินนี่ ความสำเร็จของมันก็คือการเติบโตที่มีทั้งขึ้นๆ ลงๆ เพราะฉะนั้น ความสำเร็จมันก็จะไม่ได้ออกมาในทางที่หวือหวาเหมือนนักลงทุนที่เน้นการซื้อขายแบบเก็งกำไร

4. “อารมณ์” ชนวนที่ทำให้พอร์ตการลงทุนติดลบ

มาดามฟินนี่หยิบยกตัวอย่างง่ายๆ ด้วยเรื่องใกล้ตัวเราทุกคนเลยก็คือ การช้อปปิ้ง เวลาที่อยากได้อะไรสักอย่างแล้วรู้ทั้งรู้ว่ามันยังไม่จำเป็น แต่แรงขับเคลื่อนที่ทำให้ต้องจ่ายก็คือ อารมณ์ของเรา ซึ่งก็เป็นเช่นเดียวกับการเล่นหุ้น ที่มีทั้งตัวเลขขึ้นๆ ลงๆ อยู่ตลอดเวลา แต่ ณ จุดที่ต้องกดซื้อหรือขาย อารมณ์จะเข้ามามีผลเป็นอย่างมาก จนกระทั่งกำหนดชะตาชีวิตได้เลยว่า สิ่งที่เลือกไปมันถูกต้องหรือไม่

5. “บัตรเครดิต” หลุมพลางที่มองข้าม จนทำให้ติดลบ

บางครั้งคุณอาจจะคิดว่า คุณทำทุกอย่างได้ดีแล้ว มีทั้งเงินเก็บ เงินลงทุน และประกัน แต่ในส่วนค่าใช้จ่ายที่มันเกินกำลัง แล้วใช้บัตรเครดิตเข้ามาช่วยจุนเจือในส่วนนี้ คุณอาจจะลืมไปว่าเงินจำนวนนั้น มันไม่ใช่เงินของคุณ แต่เป็นเงินของบัตรเครดิต ดังนั้น ต่อให้มีเงินเก็บ เงินลงทุน เงินประกัน มันก็อยู่ส่วนเดิม แต่หนี้ก็มีอยู่ด้วย

6. “เมื่อถึงจุดที่หมุนเงินไม่ทัน” นั่นคือปัญหา

“เมื่อถึงจุดที่หมุนเงินไม่ทัน นั่นคือปัญหา และความไม่พอใจที่จะอยู่ในปัญหา ก็คือแรงผลักดันให้ต้องคิดหาวิธีแก้ไขปัญหา” มาดามฟินนี่ กล่าว

คุณจะไม่รู้ตัวว่าตัวเองมีปัญหาจนกระทั่งคุณหมุนเงินไม่ได้อีกแล้ว พอถึงจุดนั้น ถึงจะคิดได้ว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้สามารถลดหนี้ลงได้บ้าง ไม่ว่าจะเป็น ปรับโครงสร้างหนี้ หารายได้เพิ่ม หรือลดรายจ่าย เพื่อบรรเทาภาระที่หนักอึ้ง และเพิ่มสภาพคล่องได้มากขึ้น

7. ก่อหนี้ได้ “ก็ต้องปลดมันได้”

เมื่อมีอำนาจในการใช้เงิน สิ่งที่เกิดขึ้นได้ก็คือ การก่อหนี้ ซึ่งแน่นอนว่ามันง่ายกว่าการปลดหนี้ แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน เข้าใจในธรรมชาติของการใช้เวลาในการปลดหนี้ ไม่ว่าจะเป็นขั้นต่ำ ตั้งแต่ 3 เดือน 6 เดือน 10 เดือน จนนับหน่วยเป็นปีก็ตาม

8. “วิกฤตเกิดได้หลายครั้ง” และต้องเรียนรู้จากมัน

มาดามฟินนี่เผยว่า ก่อนที่จะได้มาเป็นมาดามฟินนี่ ก็ผ่านวิกฤตมาแล้วหลายครั้ง ทั้งที่เกิดจากปัญหาการจัดการเงินไม่เป็น เป็นหนี้บัตรเครดิตรุงรัง ผ่านจุดที่ดีที่สุดในชีวิตด้วยการเป็นผู้ประกอบการ แต่ก็บริหารผิดพลาด เหนือสิ่งอื่นใดคือ ทุกๆ ครั้งที่เกิดวิกฤต ก็ยังสามารถลุกได้เร็ว เรียนรู้จากความผิดพลาด และต้องเก่งขึ้นจากการล้มทุกครั้ง

9. “ลงทุนในสิ่งที่รู้” เพราะทุกการลงทุนมีความเสี่ยง

นักลงทุน ไม่ว่าจะลงทุนอย่างเดียว หรือหลายอย่าง ก็มักจะลงทุนในสิ่งที่รู้ทั้งนั้น แต่คำว่า “รู้” นั้น หมายถึง ต้องรู้ลึกและรู้มากกว่าคนทั่วไป เพื่อที่จะทำให้ตัวเองมีลู่ทางทำให้ได้ผลตอบแทนที่ดี สามารถจัดการกับความเสี่ยงได้ รวมถึงเวลาและความทุ่มเท ที่ต้องมีร่วมด้วยเช่นกัน

10. การลงทุน “ไม่มีใครคอยบอกตลอด”

“สิ่งที่นักลงทุนคนอื่นๆ เผยให้เห็น มันเป็นเพียงแค่เสี้ยวเดียว แต่ไม่ใช่ทั้งหมด” ดังนั้น ในฐานะที่คุณเป็นเจ้าของเงิน จึงจำเป็นอย่างมากที่จะเป็นผู้รู้ด้วยตัวเอง เพราะคงไม่ได้มีใครมาคอยชี้นำ หรือบอกตลอดเวลา แม้กระทั่งตอนที่คุณตัดสินสินใจจะซื้อขายหุ้นสักตัว

11. เก็บเงินด้วยแนวคิด “6 JARS”

เมื่อมีรายได้ ก็ควรเรียนรู้ที่จะ “เก็บ” ก่อน “จ่าย” ซึ่งถ้าทำงานประจำ ก็อาจจะเก็บในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ส่วนที่เหลือให้จัดทำงบประมาณและแบ่งไว้เป็นสัดส่วน แล้วจัดการด้วยหลัก 6 JARS คือ แบ่งเป็นรายจ่ายจำเป็น ออมสั้น ออมยาว เก็บบางส่วนเพื่อพัฒนาตัวเอง ใช้เพื่อความสุขตัวเอง และแบ่งปันให้ผู้อื่น โดยหลักการนี้ ก็ถือว่าเป็นหลักการที่ดี มีความยืดหยุ่นในแบบที่พอสมควร และทำให้เราเฉลี่ยความสุขไปได้ทั้งวันนี้และอนาคต

รับชมรายการ : https://www.youtube.com/watch?v=tErbFcaxfk4...