สำนักวิจัยตลาด Euromonitor เปิดเผยว่า คนไทยสนุกกับการกินมากๆ แต่ละคนกินเฉลี่ย 7 มื้อต่อวัน ทั้งมื้อหลัก-มื้อรอง-มื้อว่าง โดยหมดเงินไปกับค่าอาหารเป็นอันดับ 1 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด ซึ่งบางคนสั่งเพลินไปหน่อย รู้ตัวอีกทีก็กระเป๋าฉีก เงินเดือนหายเกลี้ยงเพราะหมดไปกับค่ากิน

วันนี้ aomMONEY มีทริคบริหารเงินง่ายๆ และเทคนิคประหยัดค่าใช้จ่าย ให้เราได้กินของอร่อยแบบคุ้มค่า มาฝากกันครับ

ทริคแบ่งเงิน 20% คุมงบค่าอาหารได้อยู่หมัด

สำหรับคนที่มีปัญหากระเป๋าตังค์รั่วเพราะของกิน ให้ลองแบ่งเงิน 20% ของรายได้ไว้เป็นงบประมาณสำหรับค่าอาหาร ซึ่งเงินส่วนนี้จะใช้ในการซื้ออาหาร ขนม เครื่องดื่มต่างๆ จากร้านค้า, การสั่งเดลิเวอรี่ต่างๆ, การซื้อวัตถุดิบมาทำอาหารเอง รวมถึงค่าใช้จ่ายมื้อพิเศษนอกบ้านในแต่ละเดือนด้วย

ตัวอย่าง

เงินเดือน 20,000 = 20% x 20,000 = 4,000
งบประมาณค่าอาหารต่อเดือน คือ 4,000 บาท
(เฉลี่ยวันละ 133 บาท)

เงินเดือน 30,000 = 20% x 30,000 = 6,000
งบประมาณค่าอาหารต่อเดือน คือ 6,000 บาท
(เฉลี่ยวันละ 200 บาท)

เงินเดือน 40,000 = 20% x 40,000 = 8,000
งบประมาณค่าอาหารต่อเดือน คือ 8,000 บาท
(เฉลี่ยวันละ 266 บาท)

ถ้าเงินใช้ไม่พอทำยังไงดี?

จริงๆ แล้วตัวเลข 20% นี้ คือค่าเฉลี่ยโดยทั่วไปครับ แต่เราก็สามารถปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับรายได้ แต่ถ้าสุดท้ายแล้วทำยังไงเงินส่วนนี้ก็ไม่พอ ให้ลองใช้ “เทคนิคประหยัดค่าอาหารตามสไตล์สายกิน” ดูครับ

(1) เน้นทำอาหารกินเอง

การทำอาหารกินเองที่บ้าน ทำให้เราควบคุมและวางแผนค่าใช้จ่ายได้มากกว่าการกินอาหารนอกบ้าน สิ่งที่ควรทำคือจดลิสต์รายการวัตถุดิบที่จะซื้อ และเลือกแต่สิ่งที่ต้องการเท่านั้น อย่าวอกแวก

(2) ตั้งตารอโปรโมชั่น

ธุรกิจอาหารและเดลิเวอรี่ต่างก็มีการแข่งขันสูง ดังนั้นแต่ละเจ้าจึงมักจะมีโปรโมชั่นออกมารัวๆ เพื่อดึงดูดลูกค้า ทั้งซื้อ 1 แถม 1, ลด 50%, ได้คูปองส่วนลดในการซื้อครั้งถัดไป, ใช้แต้มสมาชิกแลกเมนูในร้าน, โปรโมชั่นร่วมกับบัตรเครดิต, โปรโมชั่นร่วมกับค่ายโทรศัพท์มือถือ ฯลฯ ถูกใจสายกินที่ต้องการประหยัดงบยิ่งนัก

(3) งานวอยเชอร์ต้องมา

หลายครั้งที่แพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ มักจะมีการจำหน่ายวอยเชอร์ร้านอาหารที่ถูกกว่าราคาตั้งต้น เช่น เว็บไซต์ดังเปิดจำหน่ายวอยเชอร์ 1 บาท แล้วสามารถนำไปเป็นส่วนลด 50 บาท, หรือซื้อดีลพิเศษราคา 99 บาท แต่สามารถเลือกซื้อเมนูที่ราคา 300 บาทได้ ก็จะดีต่อใจเพราะได้กินของอร่อยในราคาที่คุ้มค่า

(4) เลือกร้านใกล้ๆ ประหยัดกว่าร้านที่อยู่ไกล

ในการสั่งอาหารเดลิเวอรี่ ปกติแล้วร้านที่อยู่ใกล้ก็มักจะมีค่าส่งถูกกว่าร้านที่อยู่ไกล หรือถ้าจะขับรถออกไปซื้อเอง ร้านที่อยู่ใกล้ก็ย่อมประหยัดค่าน้ำมัน/ค่าแก๊สได้มากกว่า และยังมีทริคเล็กๆ ในการเข้าปั๊มน้ำมันด้วยคือ ควรสมัครสมาชิกหากได้รับส่วนลด และอย่าแวะเติมน้ำมันบ่อยๆ แต่ควรเติมทีเดียวให้ “เต็มถัง” เพราะจะประหยัดได้มากกว่า และยังได้ของแถมอย่างน้ำดื่ม หรือบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปอีกด้วย

(5) ซื้อยกโหล ถูกกว่าซื้อทีละชิ้น

เวลาไปซูเปอร์มาร์เก็ตเพื่อซื้อวัตถุดิบหรือสิ่งของที่จำเป็น ให้ลองสังเกตว่าของสิ่งนั้นมีจำหน่ายแบบเป็นแพ็กใหญ่ หรือยกโหลมั้ย เพราะโดยทั่วไปแล้ว การซื้อของในปริมาณมากมักจะได้ราคาถูกกว่าซื้อปลีกอยู่แล้ว เช่น ซื้อข้าวสารกระสอบใหญ่ มักจะถูกกว่าซื้อทีละกระสอบเล็กๆ, ซื้อบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยกลัง ราคาถูกกว่าซื้อทีละซอง ฯลฯ แต่ไม่ว่าจะซื้ออะไรก็อย่าลืมดูวันหมดอายุด้วยนะครับ

ทั้งหมดนี้ก็คือทริคบริหารเงิน และเทคนิคประหยัดค่าอาหารในแต่ละเดือน ซึ่งทำได้ง่ายๆ เพียงแค่แบ่งเงิน 20% เป็นงบสำหรับค่าอาหาร จากนั้นก็หมั่นติดตามโปรโมชั่น ดีลพิเศษต่างๆ จะได้ไม่พลาดของอร่อยแบบไม่ต้องจ่ายแพง สายกินทั้งหลายลองเอาไปปรับใช้กันได้นะครับ