จากการสำรวจ Parent Kids & Money ประจำปี 2022 ของ T. Rowe Price บริษัทบริหารจัดการการลงทุนระดับโลกสัญชาติอเมริกัน เปิดเผยว่า 83% ของเด็กอายุ 8 ถึง 10 ปี และ 70% ของเด็กอายุ 11 ถึง 14 ปี จะปรึกษาเรื่องการเงินและการลงทุนกับพ่อแม่มากกว่าปรึกษาเพื่อน ครูหรือโซเชียลมีเดีย

แต่ความรู้หรือความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องการเงินนั้นก็เหมือนทุกอย่างที่ต้องมีการอัปเดตและปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนไปอยู่เสมอ และเนื่องในโอกาสวันแม่ที่จะมาถึง aomMOMEY เลยไปรวบรวมเอา 3 คำแนะนำทางการเงินของแม่ที่เราควรจะฟัง (หรือถ้าเป็นพ่อแม่ก็ส่งต่อให้ลูกๆ) และ 3 คำแนะนำที่อยากจะชวนให้มาทบทวนใหม่อีกครั้ง เพราะมันอาจจะไม่เหมาะสมแล้วในบริบทของยุคสมัยปัจจุบัน

3 คำแนะนำการเงินของแม่ที่ควรฟัง

1. ถ้าไม่อยากเสียเพื่อน อย่าให้เพื่อนยืมเงินหรือยืมเงินเพื่อน

เมื่อเรามีเงินเราเรียกตัวเองว่า ‘เจ้าของเงิน’ แต่เมื่อเราเอาเงินของเราไปให้ใครสักคนยืมเราจะกลายเป็น ‘เจ้าหนี้’ และผู้รับเงินจะกลาย ‘ลูกหนี้’ การให้เพื่อนหยิบยืมเงินไปก็ไม่ต่างอะไรกับการเปิดโอกาสที่จะทำร้ายความสัมพันธ์ของเราให้แก่เพื่อน เพื่อนอาจจะใช้ปกป้องมิตรภาพของเราด้วยการใช้คืน หรือไม่ก็เลือกทำลายมิตรภาพด้วยการบอกว่า “เดี๋ยวมีก็คืนเองแหละไม่ต้องทวง”

การให้และรับเงินที่ยืมเพื่อนมา ทำให้เกิดสภาวะกระอักกระอ่วนใจ ทำให้ไม่ว่าจะคุยเรื่องอะไรก็ตาม ก็ดูคล้ายกับเข้าไปทวงหนี้อยู่ตลอด ทำให้ทั้งสองอีกฝ่ายเกิดความลำบากใจ นานๆเข้าไปก็กลายเป็นความเหินห่าง

หรือต่อให้ไม่ใช่เพื่อน แต่พอกลายเป็นเจ้าหนี้แล้วเวลาทวงหนี้มักทำให้เกิดความรู้สึกลำบากใจทั้งที่เงินที่ยืมไปก็เป็นเงินเราเอง เพราะฉะนั้นแล้ว แม่จึงสอนว่า ถ้าไม่อยากเสียเพื่อน อย่าให้เพื่อนยืมเงินหรือคิดจะไปยืมเงินเพื่อน

2. ให้ประหยัดและเก็บออมเงินเป็นประจำ

คำถามใหญ่ในหมู่คนรุ่นมิลเลนเนียลและนักลงทุนรุ่นเยาว์อื่นๆ คือเวลาไหนควรเก็บออม และเวลาไหนควรลงทุน แม้ในปัจจุบันคำตอบที่ดีที่สุดของคำถามนี้ก็คือการออมและลงทุนพร้อม ๆ กัน ทว่า การออมเงินเป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน เราอาจลงทุนเพื่อความมั่งคั่งในระยะยาวและเอาชนะอัตราเงินเฟ้อ แต่ถ้าพรุ่งนี้เราเกิดไม่สบายหนักขึ้นมาล่ะ?

ก่อนที่เราจะลงทุนกับอะไรที่มั่นใจว่าจะให้ผลตอบแทนที่ดีในอีก 1 ถึง 10 ปีข้างหน้า การมีออมเงินประจำถือเป็นการลงทุนรูปแบบหนึ่งเช่นกัน เพราะเป็นการฝากเงินไว้กับธนาคารที่อาจมีผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยรายปี แม้มันจะไม่มีความเพียงพอที่จะสะสมความมั่งคั่งในระยะยาวเลยก็ตาม แต่การฝากประจำในบัญชีออมทรัพย์รายปีที่ให้ดอกเบี้ยประมาณ 0.09 - 2% ประจำจะช่วยป้องกันความไม่แน่นอนทางการเงินที่เราอาจพบเจอได้ในวันพรุ่งนี้ อีกทั้งการออมเงินเป็นประจำยังสนับสนุนให้เรามีความรับผิดชอบทางการเงินอีกด้วย

3. อย่าซื้อความสุขในวันนี้ด้วยเงินจากอนาคต

ในปัจจุบันที่เราอยู่ในยุคของสินเชื่อยั่วยวนใจ ซื้อก่อนผ่อนทีหลัง (Buy Now, Pay Later) ระหว่างการซื้อของสักชิ้นด้วยการใช้เงินสดกับการใช้บัตรเครติด การใช้บัตรย่อมทำให้เราตัดสินใจซื้อได้ง่ายกว่า เพราะรายจ่ายของเราถูกสับให้ย่อยลงไปพร้อมกับอัตราดอกเบี้ยธนาคารเพื่อชำระยอดชำระสินค้าขั้นต่ำ 5% ซึ่งเมื่อเราคิด ๆ เร็วแล้ว การชำระเงินขั้นต่ำ และเหลือเงินไปทำอย่างอื่นอีกดูจะเป็นความคิดที่เข้าท่าดีไม่ใช่หรือ?

แต่ถ้าลองคิดดูดี ชำระยอดสินค้าขั้นต่ำแล้วแต่มีดอกเบี้ยที่ต้องทยอยจ่ายอีกประมาณ 20% ต่อปีด้วยนะ กว่าจะรู้ตัวอีกที ยอดรายจ่ายขั้นต่ำเล็ก ๆ น้อย ๆ นี้ก็กลายเป็นดอกเบี้ยพอกพูนสูงขึ้นเรื่อย ๆ และทำให้เราต้องแก้ปัญหาที่ปลายเหตุด้วยการวางแผนการจ่ายชำระหนี้เป็นงวด ๆ ในอนาคต

แต่หากคุณมีเงินสดในธนาคารและคุณระมัดระวังเรื่องการใช้จ่ายให้ต่ำกว่าวงเงินที่คุณมี ทั้งยังมีเงินออมเพียงพอที่จะชำระค่าใช้จ่ายต่างๆ เต็มจำนวน บัตรเครดิตก็เป็นเครื่องมือที่ยอดเยี่ยม

คำกล่าวหนึ่งที่จริงเสมอของโทมัส เจฟเฟอร์สัน (ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐคนที่ 3 ของอเมริกา) คือ

“อย่าใช้เงิน ก่อนที่คุณจะหามาได้”

เพราะฉะนั้นการใช้เงินอนาคตนั้นเป็นสิ่งที่อันตรายไม่น้อยเลยทีเดียว

3 คำแนะนำทางการเงินที่ชวนทบทวนใหม่กันอีกรอบ

การเงิน เต็มไปด้วยอะไรที่ซ่อนเร้น การทำความเข้าใจเงินก็เหมือนการพยายามเข้าใจในพฤติกรรม สังคม วัฒนธรรมและความคิดของคน เพราะฉะนั้นแล้วทัศนคติทางการเงินจึงมีสิ่งที่เรียกว่า ‘outdated’ หรือไม่เหมาะกับยุคสมัยนี้ไปแล้ว และนี่คือ 3 คำแนะนำอย่างตรงไปตรงมาที่มักได้ยินมาจากแม่แต่อยากให้ลองกลับมาทบทวนกันอีกสักครั้ง

1. อิสรภาพทางการเงินคือการทำงานประจำ

พ่อแม่ทุกคนย่อมรักและเป็นห่วงลูกทั้งยังพยายามมองหาความมั่นคงบางอย่างที่เขาอาจจะให้ได้ตลอดชีวิตของลูกหากเขายังมีชีวิตอยู่ เช่น จ่ายเงินเดือนให้ลูกทุกเดือนแลกกับการทำงานอย่างเก็บบ้านให้เรียบร้อย หรือรดน้ำต้นไม้ เมื่อลูกโตขึ้นพ่อแม่แก่ลง เขาจะมองเรากลับมาด้วยสายตาแห่งความวิตกกังวลและความไม่มั่นคงในชีวิต พ่อแม่มักคิดว่าการที่ลูกมีงานประจำในบริษัทที่มั่นคง หมายความว่าลูกจะมีกินมีใช้ และมีนายจ้างดูแลลูก ๆ ของพวกเขาไปอีกอย่างน้อยสามทศวรรษข้างหน้า

เจเนย์ โรส (Jenay Rose) ผู้ดำเนินรายการพอดคาสต์ Soulpreneur Show ให้ความเห็นว่า ไม่มีเวลาไหนดีไปกว่านี้อีกแล้วที่จะท้าทายบรรทัดฐานหรือรับความเสี่ยงทางการเงินเพื่อไล่ตามสิ่งที่คุณรัก

“คุณไม่จำเป็นต้องทำงานหนักในสิ่งที่คุณไม่ชอบเพื่อให้อยู่รอดอีกต่อไป คุณสามารถทำงานหนักเพื่อทำในสิ่งที่คุณเชื่อและสร้างอิสรภาพทางการเงินที่สวยงามได้” กุญแจสำคัญอยู่ที่การเตรียมพร้อมทางการเงิน ดูว่าตัวเองเชี่ยวชาญทางด้านไหน ลองคิดหาวิธีใช้มันเพื่อช่วยแก้ปัญหาให้กับคนอื่น

“แก้ปัญหาและมันจะกลายเป็นธุรกิจ มอบทางออกให้กับปัญหาและมันจะกลายเป็นธุรกิจที่หล่อเลี้ยงคุณได้ตลอดชีวิต”

2. เงินซื้อความสุขไม่ได้

การพูดว่าเงินไม่สามารถซื้อความสุขได้นั้นคล้ายกับการพูดว่า "เงินไม่สำคัญ" ซึ่งนั่นจะไม่ได้ส่งผลดีอะไรเลย

สิ่งสำคัญคือเราต้องวิเคราะห์และแยกแยะว่ามีอะไรบ้างที่จะเป็นสำหรับการใช้ชีวิตที่สุขสบาย เพราะทุกอย่างต้องใช้เงินทั้งสิ้น ที่พักอาศัย อาหาร เสื้อผ้า น้ำ ไฟ ความรู้ และอะไรอีกมากมาย

เงินเป็นเครื่องมือที่ถ้าใช้อย่างถูกต้องก็เปลี่ยนสังคมและวัฒนธรรมได้เลย เมื่อเรามั่นใจเรื่องการจัดการเงินของตัวเองก็ยกระดับคุณภาพของชีวิตเราด้วย

เราไม่จำเป็นต้องมีเงินมากที่สุด เพื่อจะซื้อได้ทุกอย่างแล้วจึงมีความสุขที่สุด ไม่ใช่แบบนั้น เพราะการมีของเยอะมากมายก็ไม่ได้การันตีว่าเราจะมีความสุขเลย

เงินเป็นสิ่งจำเป็น มันซื้อความสุขได้ เพียงแต่ว่าเราต้องรู้ว่าความสุขของเราอยู่ที่ไหนก่อนเท่านั้น

3. มีเงินก็เก็บไว้ในบัญชีให้หมด

ถูกต้องครับ เราควรเงินอยู่ในบัญชีออมทรัพย์ ‘บางส่วน’ เพื่อใช้จ่ายเป็นค่าครองชีพในชีวิตประจำวันและในกรณีฉุกเฉินได้ แต่การกลัวโลกของการลงทุนเป็นหนทางที่การันตีได้อย่างดีเลยว่าคุณจะต้องทำงานหนักไปจนล่วงวัยเกษียณเลยทีเดียว

การกระจายเงินออมไปลงทุนที่เหมาะสม (และชาญฉลาด) จะทำให้เราสามารถมีเงินเก็บเยอะขึ้นได้ การปิดกั้นตัวเองที่จะเรียนรู้ในการลงทุน รวมถึงศึกษาความเป็นไปได้ของเงินที่อาจทำงานให้เราจะช่วยทำให้ไปถึงเป้าหมายการเงินที่วางไว้เร็วขึ้นและไม่จำเป็นต้องทำงานเพื่อรอเงินช่วงวันสิ้นเดือนอีกต่อไป

การเก็บเงินทั้งหมดไว้ในบัญชีรอรับดอกเบี้ยธนาคารโดยไม่เรียนรู้เกี่ยวกับการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ หุ้น พันธบัตร อสังหาฯ ระบบการจัดการเงินประเภทต่าง ๆ จะทำให้คุณเสียโอกาสในการได้รับผลตอบแทนที่งดงามไปด้วยในเวลาเดียวกัน